นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ปั่นจักรยานมายื่นใบสมัครลงสมัครรับเลือกตั้งผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ในนามอิสระ เป็นคนแรกในวันนี้ โดยระบุว่า การปั่นจักรยานมาเพื่อเป็นสัญลักษณ์ว่าอยากเห็นกรุงเทพฯ เป็นเมืองสีเขียว แต่ระหว่างทางพบถนนไม่เรียบจึงต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ ดังนั้น สิ่งนี้จะเป็นแนวทางหนึ่งในการนำปัญหาที่ได้พบมาแก้ไขหากได้รับเลือกตั้งเข้าไปเป็น ผู้ว่าฯ กทม. โดยจะเน้นแนวทางรักกรุงเทพ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
นายชัชชาติ ยืนยันว่าการหาเสียงไม่ต้องการไปแข่งกับใคร และไม่จำเป็นต้องขึ้นป้ายหาเสียง เพราะเชื่อว่าประชาชนคนกรุงเทพฯ จะเลือกในตัวตนของตนเอง การจับสลากได้หมายเลข 8 เป็นหมายเลขประจำตัวผู้สมัคร ถือเป็นเรื่องดี และหากนำเลข 8 มาเอียงด้านข้างจะเป็นเครื่องหมาย Infinity สื่อให้เห็นว่าต้องทำงานต่อเนื่องไม่หยุดหย่อน และคิดถึงปัญหาและแนวทางแก้ป้ญหาให้กับประชาชน
แต่อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเบอร์ใดก็คงไม่มีผลมากเท่าไหร่ เพราะคนที่ตั้งใจเลือกคงดูจากชื่อเป็นหลัก ซึ่งที่ผ่านมาได้ลงพื้นที่มาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นแหล่งเศรษฐกิจที่เป็นปัญหาใหญ่ของคนกรุงเทพฯ ดังนั้น การหาเสียงจะเน้นแบบรักเมือง ไม่ก่อให้เกิดมลภาวะ และพยายามใช้รถพลังงานไฟฟ้า ใช้ป้ายหาเสียงจำนวนน้อยและมีขนาดเล็กลงเพื่อไม่ให้กีดขวางการจราจร และสามารถนำกลับมารีไซเคิลได้ใหม่
"เราเข้าใจปัญหา มุ่งมั่น และทำงาน และทำมาอย่างต่อเนื่อง เหมือนการวิ่งมาราธอน และต่อไปจะต้องพยายามสื่อสารให้ชัดเจนมากขึ้น และหวังว่า ประชาชนจะให้ความไว้วางใจให้เข้ามาบริหารกรุงเทพมหานคร" ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. หมายเลข 8 ระบุ
ส่วนผู้สมัครคนใดจะถือเป็นคู่แข่งคนสำคัญนั้น นายชัชชาติ กล่าวว่า ทุกคนน่ากลัวหมด เพราะทุกคนต่างมีจุดแข็งของตัวเอง ซึ่งสุดท้ายอยู่ที่ประชาชนว่าจะเลือกใคร ทั้งนี้ มองว่าเป็นเรื่องดีเพราะมีบุคคลที่มีความสามารถหลากหลายเข้ามาเป็นตัวเลือกให้แก่ประชาชน ส่วนผลสำรวจที่ออกมาว่ามีคะแนนนำมาอย่างต่อเนื่องนั้น มองว่าโพลต้องมีการเปลี่ยนแปลงแน่นอน เพราะมีผู้มาลงสมัครมากขึ้น โดยจะทำงานอย่างเต็มที่ ขออย่าเชื่อผลโพลมากเกินไป
ล่าสุด นายชัชชาติ ได้โพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊กส่วนตัว โดยการชูสโลแกน "เข้าใจ มุ่งมั่น ทำงาน" มาช่วยกันทำกรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน พร้อมระบุว่าเป็นเรื่องง่ายที่เราจะทำกรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองน่าอยู่สำหรับบางคน แต่สำหรับคนอีกจำนวนมากที่ต้องเดินทางเป็นชั่วโมงเพื่อไปทำงานในแต่ละวัน วิ่งหาโรงเรียนดี ๆ ให้ลูก เวลาเจ็บป่วยต้องไปรอหมอครึ่งค่อนวัน หรือผู้สูงอายุ ผู้พิการที่เดินทางลำบาก ไม่สามารถเข้าถึงความช่วยเหลือต่าง ๆ ได้ อย่าว่าแต่คำว่าน่าอยู่เลย แค่การใช้ชีวิตให้ผ่านไปในแต่ละวันในกรุงเทพฯ ก็เป็นเรื่องท้าทายแล้ว
การทำกรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน จึงเป็นความตั้งใจ ความท้าทาย เป้าหมายที่เราจะต้องมุ่งมั่น ร่วมมือร่วมใจกัน ทำให้สำเร็จให้ได้ จึงได้มีแผนจะมุ่งหน้าพัฒนา 9 ด้าน 9 ดี เนื่องจากเห็นว่าเมืองจะน่าอยู่ได้ ต้องมีองค์ประกอบดี 9 ด้าน คือ บริหารจัดการดี ปลอดภัยดี สุขภาพดี สิ่งแวดล้อมดี เรียนดี เดินทางดี โครงสร้างดี เศรษฐกิจดี สร้างสรรค์ดี
"เราต้องเดินหน้าพัฒนาเมืองทั้ง 9 ด้านไปพร้อมกัน ด้วยความโปร่งใส ไม่ส่วย ไม่เส้น ใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม และเดินหน้าทันที" นายชัชชาติระบุ
พร้อมกับต้องการเป็นผู้ว่าฯ ของทุกคน โดยเห็นว่าการทำกรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองน่าอยู่ ไม่สามารถสำเร็จได้ด้วยคนๆเดียว ต้องอาศัยการร่วมแรงร่วมใจจากคนจำนวนมาก ในมิติการบริหารผู้ว่าฯ ต้องทำหน้าที่เป็นเจ้าบ้าน ประสานความร่วมมือจากหลายหน่วยงานในทุกภาคส่วน บริหารความขัดแย้งต่างๆได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผู้ว่าฯ กทม. ต้องรับใช้ประชาชนทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน