นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงการยื่นขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจตามรัฐธรรมนูญมาตรา 151 ตั้งแต่ช่วงเปิดสมัยประชุมเป็นต้นไปว่า จะเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจก่อนวันที่ 23 ส.ค.นี้อย่างแน่นอน แต่จะยื่นช่วงไหนต้องดูอีกครั้ง โดยจะมีการยื่นให้เร็วที่สุด แต่มีเงื่อนไขเพียงว่าต้องดูบริบทโดยรวมว่า การยื่นขอเปิดอภิปรายฯ จะเป็นประโยชน์กับประชาชน ประเทศชาติ และสภาฯ หรือไม่ เช่น การยื่นในช่วงที่มีการพิจารณากฎหมายสำคัญ จะทำให้กฎหมายพิจารณาล่าช้าไป หรือขัดขวาง ก็จะนำเหตุผลเหล่านั้นมาพิจารณากำหนดเวลาในการยื่น
ส่วนในวันที่ 23 พ.ค.นี้ จะมีการยื่นขอเปิดอภิปรายฯ เลยหรือไม่นั้น คงยังไม่กำหนดถึงขนาดนั้น ขอพิจารณาส่วนอื่นๆ ประกอบไปด้วย เช่น กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง และพรรคการเมือง ที่กำลังพิจารณาอยู่ จะได้เข้าพิจารณาในช่วงใด หรือพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 ที่ชัดเจนแล้วว่าจะเข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ วาระรับหลักการ วันที่ 1-2 มิ.ย.นี้ ถือเป็นจังหวะคาบเกี่ยวพอสมควร เดิมตั้งใจจะยื่นก่อนการพิจารณาพ.ร.บ.งบประมาณฯ พอกำหนดไทม์ไลน์พ.ร.บ.งบฯ มาอย่างนี้ ก็ทำให้จังหวะการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจทำได้ไม่ต่อเนื่องอย่างแน่นอน เว้นแต่งบประมาณผ่านไปแล้ว และนำกลับมาพิจารณาในวาระ 2-3 ช่วงปลายเดือนส.ค.นี้ จึงคิดว่าช่วงกลางๆ นี้น่าจะเหมาะสม
"ถือเป็น 3 จุดสำคัญ 1.จุดที่เรายื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจ ที่เราทดสอบเบื้องต้นคือพ.ร.บ.งบประมาณฯ วาระรับหลักการ จะมีประเด็น หรือร่องรอยใดที่ไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของส.ส. และไม่เป็นอันหนึ่งเดียวกันกับรัฐบาล โดยเราจะยื่นหลังจากนั้น ซึ่งเป็นจุดสำคัญ แต่หากผ่านช่วงนี้ไปได้ ก็จะไปเจอจุดที่ 2.วาระครบ 8 ปีของนายกฯ 23 ส.ค.นี้ และจุดที่ 3 หลังการประชุมเอเปค" นพ.ชลน่าน กล่าว
ส่วนการประเมินสถานการณ์ของรัฐบาลว่าจะอยู่ครบเทอมหรือไม่นั้น ผู้นำฝ่ายค้าน กล่าวว่า เป็นเจตจำนงค์ของรัฐบาลที่จะอยู่ให้ครบ 4 ปี หรือดึงเวลาให้อยู่ครบเทอมมากที่สุด แต่เท่าที่ดู ตนมั่นใจว่ารัฐบาลไม่น่าจะอยู่ครบเทอมด้วยปัจจัย ดังนี้
1.ผลงานความต้องการของประชาชนในการแก้ปัญหา 2.รัฐบาลจะยุบสภาก่อนและไปเลือกตั้งช่วงใกล้ครบเทอม อย่างที่แพลนออกมาว่าหลังการประชุมเอเปค เพราะต้องการผลงานในช่วงการประชุมเอเปค รวมถึงถ้าปล่อยให้ครบเทอม จะมีการย้ายพรรคของส.ส. ดังนั้นการยุบสภาหลังเอเปคจะเหมาะสม เพราะกฎหมายกำหนดให้มีการเลือกตั้งไม่เกิน 60 วัน จึงเป็นจุดสำคัญ
"แต่กฎหมายพรรคการเมืองระบุว่า กรณีที่มีการยุบสภาให้สังกัดพรรคภายใน 30 วัน ฉะนั้นมีเวลา 30 วันที่จะโยกย้ายเปลี่ยนพรรคการเมืองกันแบบสะดวกกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับอยู่ครบเทอมต้องสังกัดพรรคใน 90 วัน และต้องเลือกตั้งภายใน 45 วัน ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่คิดว่ารัฐบาลมีโอกาส และประโยชน์สูงสุด เขาก็จะเลือกทำแบบนี้ นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่นที่ทำให้รัฐบาลตัดสินใจยุบสภาได้ เช่น ครบวาระ 8 ปีนายกรัฐมนตรีในวันที่ 23 ส.ค.นี้ ก็อาจเป็นประเด็นที่จะนำมาอภิปรายไม่ไว้วางใจ แต่แน่นอนว่าเราจะเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจก่อนวันที่ 23 ส.ค.นี้อย่างแน่นอน แต่จะยื่นช่วงไหนต้องดูอีกที" นพ.ชลน่าน กล่าว