TALK: "สกลธี" พกประสบการณ์เต็มกระเป๋าท้าชิงผู้ว่าฯ "กทม.ดีกว่านี้ได้"

ข่าวการเมือง Monday April 11, 2022 13:43 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

หลายปีที่รอคอยกับการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ที่กำลังจะเกิดขึ้นในวันที่ 22 พ.ค. 65 นี้ โดยเริ่มมีการรับสมัครตั้งแต่วันที่ 31 มี.ค.- 4 เม.ย.65 มาเปิดวิสัยทัศน์กับเบอร์ 3 นายสกลธี ภัททิยกุล ผู้สมัครในนามอิสระ กับสโลแกน "กทม.ดีกว่านี้ได้" และนโยบาย 6 ด้าน ได้แก่

  • พัฒนาระบบขนส่งสาธารณะให้มีประสิทธิภาพเพื่อลดการใช้รถส่วนตัว
  • พัฒนางานด้านสาธารณสุขให้มีศักยภาพเพิ่มมากขึ้น
  • พัฒนางานด้านการศึกษา ยกระดับคุณภาพให้มีความเท่าเทียมกัน
  • พัฒนางานด้านสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัย ระบายน้ำ และผังเมือง
  • วางระบบบริหารจัดการที่มีความโปร่งใส
  • พัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และท่องเที่ยว

"จั้ม" สกลธี เป็นที่รู้จักกันในแวดวงการเมือง ตั้งแต่นามสกุลในฐานะลูกชาย พล.อ.วินัย ภัททิยกุล อดีตปลัดกระทรวงกลาโหมและเลขาธิการคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) เริ่มจากการกระโดดเข้าสู่สนามการเมืองด้วยการเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.กทม.สมัยแรกในปี 2550 ก็ได้เก้าอี้ ส.ส.มาครอง

จากนั้นได้เข้าร่วมเคลื่อนไหวทางการเมืองในระดับแกนนำกลุ่มคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) และต่อมาได้รับการแต่งตั้งให้เข้ามาทำหน้าที่รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ในยุคของพล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ก่อนจะตัดสินใจลาออกมาลงสมัครชิงเก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม.ในนามอิสระ

นายสกลธี กล่าวว่า จากประสบการณ์ในการทำงานด้านนิติบัญญัติเป็น ส.ส.กทม.และทำงานด้านบริหารเป็นรองผู้ว่าฯ กทม.มา 4 ปี ทำให้รู้ว่าการทำหน้าที่เป็นฝ่ายบริหารสามารถตอบโจทย์ในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้กับประชาชนได้ดีกว่า

"ตอนเป็น ส.ส.เคยช่วยประสานงานแก้ปัญหาความเดือดร้อนให้ประชาชน แต่เกือบหมดสมัยยังประสานได้ไม่จบเรื่องเลย แต่พอมาเป็นรองผู้ว่าฯ สามารถแก้ปัญหาให้ประชาชนได้ทันทีภายใน 1-2 สัปดาห์" นายสกลธี กล่าว

*ไม่หนักใจแข่งนายเก่า-กปปส.หนุน

นายสกลธี กล่าวว่า การตัดสินใจลงสมัครรับเลือกตั้งครั้งนี้ด้วยตัวเอง และได้แจ้งให้ผู้ว่าฯ รับทราบแล้ว ซึ่งไม่หนักใจกับการลงสนามแข่งกับพล.อ.ต.อัศวิน ซึ่งถือเป็นเจ้านายเก่า เพราะถือว่าเป็นการอาสาเข้ามาทำงาน และรูปแบบการทำงานของแต่ละคนมีจุดเด่นแตกต่างกันไป หากประชาชนต้องการคนหนุ่มที่มีพลังในการทำงานเต็มที่ ด้วยประสบการณ์ทำงานที่ผ่านมาก็ได้นำเรื่องที่ยังไม่ได้ทำมาเป็นนโยบายในการหาเสียงครั้งนี้

"การเลือกตั้งของคนกรุงเทพฯ นั้นมีวิจารณญาณ และมักจะมีเซอร์ไพรส์เสมอ จะเลือกคนที่คิดว่าเหมาะสม" นายสกลธี กล่าว

และ เนื่องจากผู้ที่จะมาลงสมัครฯ ครั้งนี้ หลายคนมีฐานเสียงเดียวกัน ซึ่งทำให้คะแนนที่เลือกผู้สมัครแต่ละคนไม่แตกต่างกันมากนัก คิดว่าคะแนนคงไม่ชนะขาดตามที่มีผลโพลออกมา คนที่ชนะอาจได้คะแนนแค่ 7 แสนเท่านั้น

นายสกลธี ยอมรับว่า หลังประกาศลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าฯ กทม.ได้มีโอกาสคุยกับนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาธิการ กปปส.ซึ่งบอกว่าจะให้การสนับสนุน ถือเป็นเรื่องปกติของคนที่เคยร่วมอุดมการณ์เดียวกัน

*ภารกิจเร่งด่วนหากได้รับตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม.

นายสกลธี กล่าวว่า ประสบการณ์ในการทำหน้าที่รองผู้ว่าฯ กทม.มา 4 ปี ทำให้รู้ว่าจะมีกลไกในการทำงานอย่างไร เพียงแต่ที่ผ่านมาได้ทำงานเฉพาะที่ได้รับมอบหมายเท่านั้น ซึ่งตั้งแต่ได้เข้ามาทำงานวันแรก ก็ลงพื้นที่ด้วยตัวเองทันที ไม่ชอบนั่งประชุมในห้อง แต่จะลงพื้นที่ไปคลุกกับปัญหาเพื่อให้ได้รู้ข้อมูลที่แท้จริง

"การหาเสียงจะพูดอย่างไรก็ได้ให้ดูดี จึงควรคำนึงถึงความเป็นจริง นโยบายการทำงานที่จะนำเสนอในครั้งนี้ได้พิจารณาแล้วว่าจะสามารถดำเนินการให้เสร็จภายในวาระการทำงาน 4 ปี"

สิ่งสำคัญก่อนอื่นต้องดูเรื่องการจัดวางงบประมาณที่มีอยู่ราวปีละ 8 หมื่นล้านบาท โดยเป็นงบประจำราว 40% และงบดำเนินการvud 60% ทำให้การจัดสรรงบดำเนินการแต่ละปีมีไม่มาก และขึ้นอยู่กับผู้ว่าฯ ที่ต้องการเห็นการพัฒนาไปในทิศทางใด เท่าที่เห็นคือการจัดสรรงบดำเนินการไปยังสำนักงานเขตทั้ง 50 แห่งไม่เพียงพอ เนื่องจากพื้นที่ของแต่ละสำนักงานเขตมีความแตกต่างกัน ทำให้บางพื้นที่ยังไม่มีการพัฒนาเรื่องโครงสร้างพื้นฐานเพียงพอ ถนนหนทางยังเป็นดินแดง ไม่มีระบบไฟฟ้า ไม่มีระบบน้ำประปา

"จะดูการจัดสรรปันส่วนงบประมาณให้ตอบโจทย์การแก้ปัญหา ดูตามความจำเป็น และนำเทคโนโลยีมาใช้ทดแทนกำลังคน เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้น" นายสกลธี กล่าว

*ยกระดับคุณภาพสถานพยาบาลในสังกัด

การพัฒนางานด้านสาธารณสุขยังไม่มีประสิทธิภาพ โดยจะเห็นปัญหาอย่างมากในช่วงวิกฤติโควิด-19 แม้ กทม.จะมีศูนย์สาธารณสุขมากถึง 69 แห่งที่ต้องยกระดับให้เป็นสมาร์ทคลินิกที่ประชาชนไม่จำเป็นต้องออกจากบ้านมาจองคิวตั้งแต่เช้ามืด ทำให้เสียเวลาทำมาหากินทั้งวัน โดยจะนำระบบเทเลเมดิซีนมาใช้ เพื่อให้คนไข้สามารถได้รับคำปรึกษาจากหมออย่างทั่วถึง การจัดส่งยาให้ถึงบ้าน พร้อมทั้งเพิ่มจำนวนศูนย์สาธารณสุขเป็น 100 แห่ง เพื่อสอดคล้องกับพื้นที่ 50 สำนักงานเขต

ส่วนโรงพยาบาลในสังกัดที่มีอยู่ 11 แห่ง ปัจจุบันมี รพ.บางขุนเทียน เพียงแห่งเดียวที่เป็นโรงพยาบาลเฉพาะทางสำหรับผู้สูงอายุ ซึ่งจะปรับให้ รพ.แต่ละแห่งมีความสามารถในการรักษาโรคเฉพาะทางเพิ่มเติม รวมถึงการสร้าง รพ.เพิ่มในบางพื้นที่ เช่น สำนักงานเขตบางนา

*ปรับปรุงคุณภาพโรงเรียนใกล้บ้าน

การพัฒนางานด้านการศึกษาที่มีโรงเรียนในสังกัด 437 แห่ง ในจำนวนนี้จัดการศึกษาถึงระดับมัธยมศึกษา 109 แห่ง ที่เหลือเป็นระดับประถมศึกษาเท่านั้น แต่มีโรงเรียนที่มีผู้ปกครองแย่งส่งบุตรหลานไปเรียนแค่ประมาณ 10 แห่งเท่านั้น จึงต้องปรับปรุงคุณภาพทั้งหลักสูตรและบุคลากรไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำกัน เพื่อให้ประชาชนในแต่ละพื้นที่สามารถเข้าถึงโรงเรียนที่มีคุณภาพ

ขณะเดียวกันต้องจัดหาอุปกรณ์และเครื่องมือที่ช่วยให้เกิดการเรียนรู้ด้วยเทคโนโลยีอย่างเพียงพอ โดยเฉพาะกรณีที่มีผู้ไม่พร้อมในการเรียนออนไลน์ และสิ่งสำคัญคือการปรับหลักสูตรการเรียนการสอนให้เด็กมีวิธีคิดได้เอง ไม่ใช่การท่องจำ เพราะเด็กสามารถศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมได้จากอินเตอร์เน็ต

*ชู AI แก้ปัญหารถติด

การแก้ปัญหารถติดเป็นเรื่องที่ผู้สมัครทุกคนพูดถึง แต่ไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ง่ายๆ เพราะอำนาจของผู้ว่าฯ กทม.ไม่ได้เบ็ดเสร็จเด็ดขาดเหมือนในต่างประเทศ อำนาจที่รับผิดชอบอยู่มีเพียงการขีดสีตีเส้นและติดตั้งระบบไฟจราจรเท่านั้น จึงต้องนำระบบ Actual Traffic Control ที่สามารถเปิดสัญญาณไฟจราจรให้สัมพันธ์กับปริมาณรถมาใช้แทนการควบคุมด้วยเจ้าหน้าที่ที่อาจดูแลบไม่ทั่วถึง

*จัดระบบล้อ-ราง-เรือ เชื่อมต่อขนส่งมวลชนสาธารณะครบวงจร

ขณะนี้ในพื้นที่ กทม.จะมีระบบรถไฟฟ้าหลายเส้นทาง และกำลังจะเปิดให้บริการเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่ยังมีช่องว่างในการเดินทางจากบ้านเพื่อเข้าระบบขนส่งมวลชนสาธารณะให้ไปถึงจุดหมาย จึงต้องจัดระบบล้อ-ราง-เรือ เพื่อเชื่อมโยงการเดินทาง เช่น จัดเดินรถโดยสารไฟฟ้าผ่านชุมชนไปยังระบบรถไฟฟ้าในเส้นทางที่ยังไม่มีรถโดยสารประจำทาง, สร้างรถไฟฟ้าเพิ่มเติมในเส้นทางที่มีชุมชนหน่าแน่น ได้แก่ วัชรพล-ทองหล่อ สาทร-พระราม 3 บางนา-สุวรรณภูมิ อุดมสุข-บางนา, เดินเรือไฟฟ้าเพิ่มเติม ช่วงศรีบุญเรือง-ผ่านฟ้า คลองลาดพร้าว คลองเปรมประชากร

"ทำอย่างไรจะให้คนใช้ระบบขนส่งมวลชนสาธารณะมากขึ้น ใช้รถส่วนตัวน้อยลง เพราะจะช่วยแก้ปัญหารถติดและช่วยลดมลพิษได้ด้วย" นายสกลธี กล่าว

*การพัฒนาคุณภาพสวนสาธารณะ

ถึงแม้ กทม.จะมีสวนสาธารณะถึง 38 แห่งแต่ขาดการพัฒนา เช่น การปลูกต้นไม้ การปรับปรุงทางวิ่ง การจัดล็อคเกอร์ และสาวสาธารณะบางแห่ง เช่น บึงหนองบอน สามารถพัฒนาให้สถานที่เล่นกีฬาทางน้ำได้ การปรับปรุงพื้นที่รกร้างว่างเปล่าที่มีกระจายอยู่ทั่วไปให้เป็นสวนสาธารณะใกล้ชุมชน

*ติดตั้ง CCTV เพิ่มเติมเพื่อสร้างความปลอดภัย

ปัจจุบัน กทม.มีการติดตั้งกล้องวงจรปิดแล้วกว่า 6.2 หมื่นตัวแต่ยังไม่เพียงพอ ซึ่งจะต้องดำเนินการติดตั้งเพิ่มเติม โดยทำเป็นเสาอัจฉริยะที่มีทั้งกล้องวงจรปิด, ไฟส่องสว่าง, สัญญาณไวไฟ, เครื่องวัด PM2.5 เพื่อให้สามารถดูแลเรื่องความปลอดภัยได้

"ในจุดสำคัญต้องมีระบบกล้องที่มีระบบ AI สามารถจดจำใบหน้า สีเสื้อ เพื่อเพิ่มความปลอดภัย" นายสกลธี กล่าว

*หารายได้จากสินทรัพย์เพื่อนำมาใช้พัฒนา

เนื่องจากมีงบประมาณที่ไม่เพียงพอจนต้องดึงเงินสะสมจ่ายขาดออกมาใช้ จึงต้องมีโมเดลในการหารายได้เพิ่มเติม โดยไม่ต้องรอการจัดสรรงบประมาณจากรัฐบาลเพียงอย่างเดียว เช่น การให้เช่าพื้นที่โฆษณา

*แก้ชุมชนแออัดที่เป็นศูนย์รวมของปัญหา

ปัญหาชุมชนแออัดส่งผลกระทบหลายเรื่อง ทั้งคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม แต่การแก้ปัญหาต้องใช้วิธีเจรจาให้เกิดความเข้าใจเพราะเป็นปัญหาที่ปล่อยทิ้งมานานจนทำให้เกิดความคุ้นเคยคิดว่าเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ ซึ่งขณะนี้มีหลายพื้นที่ที่มีการพัฒนาแล้ว เช่น ชุมชนริมคลองลาดพร้าว

https://www.youtube.com/watch?v=akrm1SvGB7M


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ