นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร โดดจากการเมืองระดับชาติในฐานะ ส.ส.พรรคก้าวไกล ลงสนามสู้ศึกชิงเก้าอี้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) หลังจากสร้างบทบาทโดดเด่นด้วยการอภิปรายในสภาผู้แทนราษฎร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเปิดโปงขบวนการ IO กองทัพ วัคซีนโควิด ด้วยข้อมูลและลีลาดุเด็ดเผ็ดมันส์
นายวิโรจน์ จบการศึกษาระดับปริญญาตรีจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ (ยานยนต์) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เริ่มชีวิตการทำงานจากการเป็นวิศวกรในองค์กรเอกชน ก่อนโดดลงการเมืองด้วยการเป็น ส.ส.สังกัดพรรคอนาคตใหม่ และย้ายมาเป็นพรรคก้าวไกลในปี 63 เมื่อพรรคอนาคตใหม่ถูกศาลรัฐธรรมนูญตัดสินยุบพรรค จนกระทั่วดำรงตำแหน่งโฆษกพรรคก้าวไกลในปี 64
*การปรับตัวจากการบทบาทหน้าที่ ส.ส. สู่หน้าที่ บริหารกทม.
นายวิโรจน์ กล่าวว่า สมัยที่ทำหน้าที่ ส.ส.ได้รับโอกาสเป็นคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างงบประมาณประจำปี 63 ทำให้รู้ว่า การบริหารเมืองต้องมีการจัดสรรงบประมาณอย่างเป็นธรรม หลายปัญหาจะได้รับการแก้ไข และถ้าหากกฏ กติกาที่ใช้มีความเป็นธรรม คนตัวเล็ก ตัวน้อยก็มีโอกาสมากขึ้น ส่วนคนตัวใหญ่ก็มีบทบาทช่วยเหลือสังคมมากขึ้น และเน้นการมีส่วนร่วม ทำให้ตนเองเข้าใจในการบริหารเมืองที่ควรจะเป็น
การพัฒนาและแก้ปัญหา กทม. ต้องทำงานเป็นทีม ทั้งตัวผู้ว่าฯกทม. และสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร หรือ ส.ก. โดยผู้ว่าฯกทม.จัดทำเรื่องนโยบาย ส่วน ส.ก.ดูแลเรื่องงบประมาณ ถ้างบประมาณไม่สนับสนุน นโยบายก็เดินหน้าไม่ได้ จึงจำเป็นต้องทำงานร่วมกันเป็นทีม
สิ่งสำคัญที่สุด คือ การบริหารเมืองไปสู่เมืองที่มีความหวัง มีโอกาสของทุกๆคน จำเป็นต้องการคืนเมืองที่เป็นธรรม สร้างกติกาที่เป็นธรรมให้กับทุกคน จัดสรรงบประมาณอย่างสมเหตุสมผลและเป็นธรรม ให้เงินทุกบาทตกถึงมือประชาชนอย่างเท่าเทียมกัน ปัญหาของทุกๆคนได้รับการใส่ใจ จะทำให้เมืองนี้ก้าวไปสู่เมืองที่มีอนาคตโอบรับความฝันของทุกๆคนได้
* "พร้อมชน สร้างเมืองที่คนเท่ากัน"
นายวิโรจน์ กล่าวว่า เมืองที่มีอนาคต น่าลงทุน น่าอยู่ และทุกคนอยู่ในฐานะเจ้าของเมืองที่มีอำนาจ ไม่ใช่แค่ผู้อยู่อาศัย การบริหารอย่างเดียวแต่เว้นวรรคให้ความอยุติธรรมเกิดขึ้นให้กลุ่มบุคคลได้ประโยชน์จากภาษีของเราผ่านโครงการด้อยคุณภาพ เอาเงินภาษีไปปรนเปรอผู้รับเหมาบางกลุ่ม ทำให้คน กทม.ต้องเจอกับโครงการแย่ๆ ที่ไร้คุณภาพ
หรือกติกาบางอย่างที่ต้องเว้นวรรคให้กับกลุ่มอภิชน จ่ายค่าธรรมเนียมน้อยกว่าที่ควรจะเป็น ขณะที่คนทำอาชีพสุจริต ถูกเตะถ่วงในการขออนุญาตต่างๆ ซึ่งถ้าหากบริหารโดยละเลยสิ่งต่างๆ เหล่านี้ และบอกว่าอย่าไปชนกับปัญหาเหล่านี้ จะเกิดความยั่งยืนได้อย่างไร
ดังนั้น ความหมายของคำว่า พร้อมชน คือ การไม่ปิดตาข้างเดียว การไม่ปล่อยปละกับความอยุติธรรมที่ประชาชนถูกเอาเปรียบ ความไม่เท่าเทียมกันในการแก้ปัญหา ซึ่งเรื่องเหล่านี้ถือ เป็นเรื่องที่พร้อมชนสำหรับตนเอง
"ผมคิดว่า คนกรุงเทพอยากได้ผู้ว่าฯกทม.ที่เป็นกลาง และไม่ปล่อยปละเลยให้คนกรุงเทพถูกเอาเปรียบแบบนี้อยู่ต่อไปเรื่อยๆ นี้คือ การพร้อมชน และเมืองที่คนเท่ากัน คือ ปัญหาทุกๆคนได้รับการใส่ใจที่ทุกคนมีโอกาสตั้งตัวอย่างเท่าเทียมกัน จะเป็นเมืองที่น่าอยู่ น่าลงทุน น่าใช้ชีวิต น่าที่จะส่งผ่านเมืองนี้ให้กับลูกหลานต่อไป"นายวิโรจน์ กล่าว
*นโยบายสำคัญที่จะเร่งดำเนินการในช่วง 4 ปี ?
นโยบายเร่งด่วนมี 3-4 เรื่อง คือ
1.ปัญหาโรงขยะที่อ่อนนุชที่สร้างปัญหากลิ่นเหม็นตลอด 24 ชม.ให้คนในเขตประเวศ สวนหลวง ลาดกระบัง
2.เรื่องไซท์ก่อสร้างที่เกินสัญญาแต่ไม่เคยถูกปรับหรือเร่งรัดดำเนินการแต่อย่างใด
3.การเตรียมรับมือกับน้ำท่วม ซึ่งหวังว่างบกลางจะนำไปปรับปรุงการเปิด-ปิดประตูระบายน้ำ เครื่องสูบน้ำต่างๆ
4.ตั๋วค่ารถไฟฟ้าแพง ซึ่งคน กทม.ต้องมีสิทธิรับรู้การต่อสัญญาสัมปทานว่ามีส่วนใดที่ประชาชนถูกเอารัดเอาเปรียบหรือไม่ ถ้าเกิดความโปร่งใสจะนำไปสู่การแก้ปัญหาที่ถูกต้องมากขึ้น
นายวิโรจน์ เชื่อว่า เรื่องเหล่านี้เป็นสิ่งที่คน กทม.ต้องการให้ผู้ว่าฯกทม.เร่งดำเนินการ
สำหรับสิ่งที่ประชาชนอยากเห็นในช่วง 4 ปี คือ ความเท่าเทียมในเมือง-จัดสรรงบประมาณอย่างเป็นธรรม เริ่มต้นจากงบระบายน้ำ ซึ่งที่ผ่านมามีการจัดสรรงบฯให้อุโมงค์ระบายน้ำ 2 พันกว่าล้านบาท แต่งบฯที่จะใช้บำรุงสถานีสูบน้ำมีการขอไป 5 พันกว่าล้านบาทแต่ถูกตัดเหลือ 130 กว่าล้านบาท งบฯที่เอาไปสร้างเขื่อนกันน้ำเอ่อล้นบ้านเรือน 3,800 ล้านบาท ตัดงบฯเหลือ 600 ล้านบาท
ที่แย่กว่านั้น คือ งบฯขอเครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่แก้ไขปัญหาในภาวะวิกฤติ 1,000 ล้านบาท ถูกตัดทั้งหมด ซึ่งเรื่องเหล่านี้ต้องมีการจัดสรรงบประมาณใหม่
"เชื่อว่า ไม่ใช่เป็นการจัดสรรงบฯด้วยความไม่รู้ แต่เป็นการจัดสรรงบฯเพื่อไปประเคนนายทุน ผู้รับเหมารายใหญ่หรือไม่ ซึ่งต้องมีการตั้งคำถาม"นายวิโรจน์ กล่าว
ทั้งนี้ นายวิโรจน์ เชื่อว่า การจัดสรรงบประมาณจะเป็นสิ่งที่ประชาชนเห็นได้ทันที หรือแม้แต่เรื่องทางเท้าที่ต้องปรับปรุงให้เป็นระเบียบ ไม่ใช่ปรับปรุงเฉพาะบริเวณหน้าห้างสรรพสินค้า แต่หน้าบ้านประชาชนกลับไม่เรียบร้อย หรือการเพิ่มพื้นที่สีเขียว ซึ่งแน่นอนว่าต้องมีการดำเนินการ แต่ปัญหาคือ จะเอาพื้นที่สีเขียวตรงไหนมาปลูก
การปลูกต้นไม้ภายใต้เงื่อนไขที่ไม่เป็นธรรม ที่เราเห็นภาพนายทุนเอาพื้นที่ตัวเอง ซึ่งเป็นพื้นที่ว่างเปล่า นำมาปลูกกล้วย ปลูกมะนาวเพื่อเสี่ยงภาษี จะต้องไม่เกิดขึ้น โดยเรื่องเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ในระยะแรกๆ
ส่วนอีก 2 เรื่องที่น่าจะเกิดขึ้น คือ 1.การกระจายงบประมาณใหม่ โดยดึงจากสำนักงานเขต สำนักงานต่างๆ หรือแม้แต่งบฯกลางของผู้ว่าฯกทม.เอง จะมีการจัดสรรงบฯมา 4,000 ล้านบาท ไปจัดสรรให้แต่ละชุมชนประมาณ 5 แสน-1 ล้านบาทให้กว่า 2,000 ชุมชนให้บริหารจัดการเอง และ อีกประมาณ 2,400 ล้านบาทกระจายไปยัง 50 เขต เพื่อให้ประชาชนสามารถนำงบไปแก้ปัญหาในเขตของตนเองได้ทันที
"ผมเชื่อว่า ถ้าผู้ว่าฯกทม.ชื่อวิโรจน์ แล้วกระจายงบให้ประชาชนแล้ว 4,000 ล้านบาท งบในปีถัดไป งบต้องมากกว่า 4 พันล้านบาทไปเรื่อยๆ และไม่มีผู้ว่าฯหน้าไหน จะกล้าไปดูดงบจากประชนกลับมาส่วนกลางอีก"นายวิโรจน์ กล่าว
เรื่องที่ 2 การเก็บภาษีที่ดิน โดยผู้ว่า กทม.ต้องกล้าต่อสู้กับนายทุนอสังหาริมทรัพย์ โดยจะเอาภาษีที่ดินมาเพิ่มเงินสวัสดิการให้กับเด็กแรกเกิด ผู้สูงอายุ และผู้พิการ จะได้เงิน 1,200 บาท ซึ่งไม่ใช่การแจกเงิน แต่ถือเป็นบันไดขั้นแรกในการสร้างรัฐสวัสดิการ และเชื่อว่าจะไม่มีผู้ว่าฯ กทม.คนไหนกล้าไปตัดงบสวัสดิการตรงนี้ทิ้ง มีแต่จะเพิ่มงบประมาณขึ้นไปเรื่อยๆ
"เรื่องเหล่านี้ คือ ความฝันและสิ่งที่อยากทำให้เกิดขึ้นในกทม."นายวิโรจน์ กล่าว
*มุมมองเมือง Smart City มองอย่างไร
นายวิโรจน์ กล่าวว่า คำว่าเมืองน่าอยู่ น่าท่องเที่ยว เป็นเมืองน่าเที่ยวสำหรับคนอื่น กทม.เป็นเมืองที่ดีมาก มีโรงพยาบาลที่มีแพทย์เฉพาะทางที่คนต่างประเทศเข้ามารักษา มีโรงแรมระดับ 6 ดาว ภัตรคารระดับมิชิลิน สตาร์ แต่เป็นเมืองสำหรับคนอื่น สำหรับคนที่อยากเกษียน คนที่อยากมาเที่ยว
ในมุมมองคำว่า เมืองสวย คือ เมืองที่มีชีวิต เมืองที่โอบรัดความแตกต่างหลากหลายของผู้คน ซึ่งหากดูไปที่ท่าเตียน ท่าช้าง ท่าพระจันทร์ในวันนี้ สิ่งปลูกสร้างสวยขึ้น แต่รู้สึกว่า ไม่มีชีวิต ไม่เห็นผู้คนแล้ว หรือคลองโอ่งอ่าง ในเชิงสิ่งปลูกสร้างสวยแต่ไม่เห็นชีวิตผู้คนแล้ว
เรื่อง Smart City นายวิโรจน์ เชื่อว่า คน กทม.ไม่ได้ต้องการระบบอัตโนมัติทั้งหมด แต่สิ่งพื้นฐานที่สุดที่คน กทม.ต้องการ คือ สิทธิในการรู้ และเชื่อว่าถ้าคน กทม.ได้รับสวัสดิการขั้นพื้นฐานที่ดี สามารถได้รับข้อมูลข่าวสารที่พึงจะรู้ เขาสามารถปรับตัว หรือวิ่งตามความฝันได้ แต่ปัจจุบัน บริการขั้นพื้นฐาน บริการสาธารณะพื้นฐานก็ไม่ดี กลายเป็น กทม.ชีวิตดีๆ สำหรับคนมีเงิน แต่สำหรับคนไม่มีเงินก็ต้องยอมรับกับสภาพชีวิตไม่ดี ยอมจำนนจนกลายเป็นเรื่องปกติ
ทั้งนี้ Smart City ควรมีการลงทุนพื้นฐานในระบบที่ทำให้กทม.รู้ข้อมูลต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ข้อมูลจราจรหรือรถเมล์ ข้อมูลมลพิษทางอากาศ หรือระบบการระบายน้ำ
*จุดได้เปรียบจากผู้สมัครคนอื่นๆ
นายวิโรจน์ กล่าวว่า ตนเองไม่เคยมีนายทุนอสังหาริมทรัพย์รายใด หรือนายทุนที่มีบุญคุณกับตนเอง ทำให้ตัวเองสบายใจ และสามารถทำงานได้ตรงไปตรงมาได้และกล้าเข้าไปแก้ปัญหาให้กับคนกทม.ได้
ส่วนฐานคะแนนของพรรคก้าวไกลนั้น นายวิโรจน์ กล่าวว่า พรรคมองว่าการเลือกตั้งทุกครั้งคือโอกาสในการปักธงทางความคิดใหม่ๆ ให้กับประชาชนเสมอ
และนโยบายของพรรค 12 นโยบาย ไม่เคยพุ่งเป้าไปยังกลุ่มคนวัยใดวัยหนึ่ง แต่จะพยายามตอบโจทย์ทุกคน ซึ่งการหาเสียงของตนเองก็พูดถึงคนหลากหลายวัย เป้าหมายสำคัญที่สุด คือ การทำให้กทม.รู้สึกว่า ลำพังแค่การบริหารแก้ปัญหาไม่ได้ เพราะกทม.มีกติกาที่ไม่เป็นธรรมค่อนข้างมาก ยังมีกลุ่มอภิสิทธิ์ชน หรือมีสิทธิ์ประโยชน์เหนือบุคคลอื่นๆ ซึ่งจำเป็นต้องแก้ควบคู่ไปกับการบริหารที่ดี
ขณะที่บทบาทนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ในการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.นั้น นายวิโรจน์ กล่าว นายธนาธรถือเป็นเพื่อนร่วมงานตั้งแต่พรรคอนาคตใหม่ โดยมีจุดร่วมกันทางความคิด คือ อยากเห็นความเท่าเทียมกันในประเทศนี้
และในงาน กทม.เราต้องการเมืองที่คนเท่ากัน ซึ่งนายธนาธร มีความคิดและมีประสบการณ์บริหารท้องถิ่นมาพอสมควร ซึ่งตนเองและนายธนาธรมีโอกาสได้พูดคุยถึงเรื่องการเลือกตั้งในครั้งนี้ในหลากหลายปัญหา และถือเป็นเพื่อนร่วมงานที่ช่วยผลักดันให้ความฝันคนกทม.เป็นจริงให้ได้
*มุมมองตัวแทนผู้สมัครผู้ว่าฯกทม.จากพรรคฝ่ายค้าน และฝ่ายรัฐบาล
นายวิโรจน์ กล่าวว่า ตนเองถือเป็นผู้สมัครจากพรรคฝ่ายค้านเพียงคนเดียวเท่านั้น แต่สิ่งที่ประชาชนจะตัดสินใจต้องดูที่เจตจำนงค์และความมุ่งมั่นที่จะแก้ปัญหาให้กับคน กทม. โดย กทม.ไม่ใช่องค์กรเอกชนที่จะใช้การจัดการอย่างเดียวในการแก้ปัญหา แต่ปัญหาหลายอย่างต้องมีเจตจำนงทางการเมืองที่มุ่งมั่นด้วย เพราะหากไม่สามารถสร้างกติกาที่เป็นธรรมได้ จัดสรรงบประมาณที่เป็นธรรมได้ก็สามารถสร้างเมืองที่เป็นธรรมได้
"ผมมั่นใจว่า ไม่มีใครเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาแบบนี้เลย คุณจะปลูกต้นไม้เฉลี่ย 3 ต้น ประชาชนปลูกเองได้ แต่ประชาชนทนเห็นปลูกกล้วยปลูกมะนาวแล้วล้อมรั้วแบบนี้ไม่ได้ เขาทำให้เรื่องนี้หมดไปจากใจกลางย่านธุรกิจไม่ได้ แต่เขาเห็นแล้วตำตา เขาเลยส่งอำนาจมาให้ผู้ว่าฯกทม.เพื่อหวังว่าจะแก้ปัญหาที่เขาแก้เองไม่ได้"นายวิโรจน์ กล่าว
*ทำไมต้องเลือก "วิโรจน์" เป็นผู้ว่าฯกทม.
นายวิโรจน์ ยืนยัน มีความมั่นใจจากการเปิดตัววันแรกจนถึงตอนนี้ การตอบรับจากประชาชนมากขึ้น และประชาชนเชื่อในสิ่งที่ตนเองคิดมากขึ้น เพราะตนเองมีเจตจำนงต้องการสร้างกติกาที่เป็นธรรม จัดสรรงบประมาณใหม่ที่เป็นธรรม สร้างแรงจูงใจให้กับประชาชน สร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างเป็นธรรม ไม่ใช่ผลักภาระให้กับประชาชนแล้วเว้นวรรคให้กับอภิสิทธิ์ชน เครือข่ายนายทุน หรือผู้รับเหมา
"ถ้าเราเชื่อแบบนี้ ร่วมกันคืนเมืองที่คนเท่ากัน กับผมและส.ก.พรรคก้าวไกล และ 22 พ.ค. มีความหมายมาก เพราะ 22 พ.ค.57 เป็นวันที่อำนาจประชาชนถูกคนกลุ่มหนึ่งอ้างตัวเป็นคนดี อ้างว่าจะสะสางความขัดแย้ง แล้วมาปล้นเอาอำนาจประชาชนไป และสุดท้ายคุณภาพชีวิตก็เป็นอยู่ทุกวันนี้ การพัฒนาประเทศ การพัฒนาเมืองก็เป็นปัญหาอย่างที่ทุกวันนี้เราเจอกันอยู่ใช่หรือไม่
...22 พ.ค. 65 กทม.มีโอกาสเป็นโดมิโนตัวแรกที่จะส่งเสียงของพวกเรา ประกาศฉันทามติใหม่ว่า ความฝันของคนกทม.ทั้งหมดจะไม่ยอมให้ใครขโมยมันไปอีกแล้ว 22 พ.ค. เลือกวิโรจน์เป็นผู้ว่า ออกไปกาให้คนเท่ากัน"นายวิโรจน์ กล่าว
https://youtu.be/4uY-496aXCc