นายรงค์ บุญสวยขวัญ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) แถลงภาพรวมการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ว่า ตอนนี้ กมธ.ได้พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ถึงมาตรา 16 จากทั้งหมด 32 มาตรา ส่วนร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ได้พิจารณาถึงมาตรา 9 จากทั้งหมด 12 มาตรา ซึ่งส่วนใหญ่ได้ผ่านการพิจารณาเรื่องสำคัญเรียบร้อยแล้ว และคาดว่าร่างทั้งสองฉบับจะเสร็จทันกรอบเวลาตามที่กำหนดไว้ เพื่อเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาทันทีที่เปิดประชุมสภาฯ
สำหรับความคืบหน้าในวันนี้ ที่ประชุมได้พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ในประเด็นแก้ไขเพิ่มเติมคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของสมาชิกพรรคการเมืองตามมาตรา 24 ของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 ที่มีการอภิปรายกันอย่างกว้างขวางและลงมติเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
"คุณสมบัติของสมาชิกพรรคการเมืองกับคุณสมบัติของผู้สมัครรับเลือกตั้งจะไม่เหมือนกัน ยกตัวอย่างพระกับเณรที่ถือศีลไม่เท่ากัน โดยที่ประชุมยอมรับ เนื่องจากถือเป็นเรื่องดีที่จะให้ประชาชนสามารถเข้ามาเป็นสมาชิกพรรคการเมืองได้มากยิ่งขึ้น เพราะถือเป็นกระบวนการมีส่วนร่วมทางการเมือง หากเรากำหนดคุณสมบัติไม่สูงจนเกินไป คนก็จะเดินเข้ามา ซึ่งขณะนี้ประเทศไทยมีพรรคการเมืองเป็นจำนวนมากและควรมีคนเข้ามาเป็นสมาชิกพรรคการเมืองจำนวนมากเช่นกัน" นายรงค์ กล่าว
ขณะที่นายสมคิด เชื้อคง ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะโฆษก กมธฯ กล่าวว่า ที่ประชุมได้มีมติแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 35 ของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 ซึ่งเป็นขั้นตอนการทำไพรมารีโหวต ที่ได้รับการแก้ไขจากเดิมที่จะต้องทำไพรมารีโหวตทุกเขตเลือกตั้งจำนวน 400 เขต ทำให้พรรคใหม่และพรรคเล็กมีปัญหา จึงแก้ไขให้ 1 จังหวัด มี 1 ตัวแทนจังหวัด เช่น จ.นครธรรมราช มี 10 เขต ก็ใช้ตัวแทนประจำจังหวัดเพียงแค่ 1 เขตเลือกตั้ง เพื่อส่งผู้สมัครทั้ง 10 เขตเลือกตั้งได้ เพื่อเป็นการเปิดช่องให้ทุกพรรคการเมือง โดยเฉพาะพรรคใหม่และพรรคเล็กส่งผู้สมัครและแข่งขันกันโดยเสรีอย่างเต็มที่ มีความสะดวกและง่ายมากขึ้น ประชาชนมีส่วนร่วมมากขึ้น จึงมีการแก้ไขดังกล่าว ดังนั้นหมายความว่าการทำไพรมารีโหวตยังมีอยู่ ซึ่ง 77 จังหวัดจะมีเพียง 77 ตัวแทนประจำจังหวัดเท่านั้น
โดย กมธ.ฯ ยืนยันว่าจะสรุปทุกอย่างของร่างกฎหมายทั้งสองฉบับในวันที่ 23 พ.ค.และจะยื่นต่อรัฐสภาในวันที่ 24 พ.ค. เมื่อเปิดสมัยประชุมสภาฯ กมธ.ฯ พร้อมที่จะเข้าไปชี้แจงในที่ประชุมวาระ 2-3 ต่อไป