นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม และรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย เดินทางมายื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เพื่อขอให้ตรวจสอบการประมูลโครงการบริหารและดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออกของกรมธนารักษ์ที่มีความไม่โปร่งใส พร้อมระงับยับยั้งการลงนามสัญญากับบริษัทเอกชนรายหนึ่งที่ได้รับคัดเลือกในวันที่ 3 พ.ค.65 นี้
สาเหตุที่ตนมายื่นเรื่องถึงนายกฯ เนื่องจากได้ติดตามเรื่องนี้แล้วพบว่า การเปิดประมูลมีความไม่โปร่งใส โดยกรมธนารักษ์ใช้วิธีการเชิญชวนเอกชนเพียง 5 รายให้ยื่นข้อเสนอแทนวิธีการเปิดประมูลเป็นการทั่วไป ทั้งที่โครงการฯ ไม่ได้มีความสลับซับซ้อนทางเทคนิค หรือต้องใช้ความสามารถเฉพาะทางที่เอกชนรายใหญ่ที่ดำเนินการธุรกิจเกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำจะไม่สามารถดำเนินการได้ ซึ่งตามกฎกระทรวงการจัดหาประโยชน์ที่ราชพัสดุ พ.ศ.2564 ข้อ 24 กำหนดว่าในการคัดเลือกเอกชนจะต้องใช้วิธีประมูล เว้นแต่เป็นกรณีที่คณะกรรมการที่ราชพัสดุเห็นสมควรให้ใช้วิธีการคัดเลือกโดยไม่ใช้วิธีประมูลตามข้อ 33
การที่กรมธนารักษ์เสนอคณะกรรมการที่ราชพัสดุในการประชุมครั้งที่ 1/2564 เมื่อวันที่ 11 มิ.ย.64 พิจารณาเห็นชอบให้ใช้วิธีการคัดเลือกโดยเชิญชวนเอกชนเพียงจำนวน 5 รายดังกล่าว จึงส่อให้เห็นถึงความไม่โปร่งใส เป็นการเอื้อประโยชน์ให้เอกชนบางราย โดยไม่เชิญเอกชนรายใหญ่ที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการทำน้ำประปาในประเทศไทย ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อทางราชการและประชาชนมากกว่า
ทั้งนี้ หาก พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ดำเนินการตรวจสอบและทบทวน ไม่ยับยั้งการลงนามสัญญา ตนเองพร้อมจะนำเรื่องเข้าสู่การอภิปรายไม่ไว้วางใจแบบลงมติทันทีเมื่อเปิดสมัยการประชุมสภาผู้แทนราษฎร และเชื่อว่าในฐานะ ส.ส.สามารถใช้เรื่องนี้ไล่ พล.อ.ประยุทธ์ ออกจากตำแหน่งได้
ส่วนกรณีมีภาพตนและนายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรค พท. ร่วมรับประทานอาหารเย็นที่ร้านอาหารแห่งหนึ่งกับนายพิเชษฐ สถิรชวาล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ในฐานะหัวหน้ากลุ่ม 16 ส.ส., นายมนูญ สิวาภิรมย์รัตน์ หัวหน้าพรรคเศรษฐกิจใหม่ และนายดล เหตระกูล ส.ส.บัญชรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคชาติพัฒนานั้น เป็นกรณีที่พรรคเล็กมาสอบถามถึงความพร้อมในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ โดยตนเองยืนยันว่ามีความพร้อม และก่อนจะไปกินข้าวเย็น พรรคเพื่อไทยได้มีการประชุมและได้พูดคุยกันถึงเรื่องการอภิปรายไม่ไว้วางใจแล้วว่ามีความพร้อม โดยเฉพาะประเด็นเรื่องการจัดซื้อเรือดำน้ำจากประเทศจีนที่ไม่มีเครื่องยนต์, เรื่องการลงนามในสัญญาโครงการบริหารและดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก และเรื่องร่างสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ซึ่งอยากรู้ว่าพรรคการเมืองบางพรรคจะยกมือไว้วางใจรัฐบาลได้อย่างไร
นายยุทธพงศ์ กล่าวว่า การพบกันครั้งนี้จะไม่ทำให้เกิดปัญหาข้อสอบรั่ว ในเมื่อยังไม่มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ต้องรอเปิดสมัยประชุมสภาผู้แทนราษฎรก่อนจึงจะมีการยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ
สำหรับการพูดคุยดังกล่าว ในทางการเมืองคงไม่มีการเปิดเผยข้อมูลในการอภิปรายไม่ไว้วางใจทั้งหมด มีเพียงการพูดคุยประเด็นเรื่องการลงนามในสัญญาโครงการบริหารและดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก เพราะถือเป็นเงื่อนไขสำคัญหลัก และเป็นเรื่องใหม่ที่ยังไม่เคยอภิปราย ซึ่งนายพิเชษฐ ยืนยันว่า ถ้าเรื่องการลงนามในสัญญาโครงการบริหารและดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออกผ่านจะทำให้เป็นประเด็นแตกหัก เพราะเรื่องการจัดซื้อเรือดำน้ำและการต่อสัญญาสัมปทานสร้างรถไฟฟ้าสายสีเขียวฝ่ายค้านเคยอภิปรายไปแล้ว
นายยุทธพงศ์ กล่าวว่า การพูดคุยดังกล่าวไม่มีประเด็นเรื่องกลุ่ม 16 ส.ส.จะยังสนับสนุนรัฐบาลต่อไปหรือไม่ คุยกันแต่เพียงแต่เรื่องการอภิปรายไม่ไว้วางใจ
ส่วนข้อเสนอหากเกิดอุบัติเหตุทางการเมืองจะให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) มาเป็นนายกฯ ขัดตาทัพในช่วงเวลาที่เหลืออยู่ของรัฐบาล นายยุทธพงศ์ กล่าวว่า เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับพรรคเพื่อไทยเพราะเป็นฝ่ายค้าน มีหน้าที่เปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ และการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้ายต้องโชว์ผลงานให้ประชาชนเห็นว่า ต้องโค่น พล.อ.ประยุทธ์ให้ได้ ส่วนใครจะเป็นนายกฯก็เป็นขั้นตอนทางกฎหมาย ล้มก็ต้องว่ากันไป แต่พรรคเพื่อไทยมีหน้าที่ล้มรัฐบาล ล้ม พล.อ.ประยุทธ์
นายยุทธพงศ์ กล่าวว่า พล.อ.ประวิตร จะเป็นนายกฯได้อย่างไร และยังไกลเกินไป เพราะตามรัฐธรรมนูญรายชื่อนายกฯต้องมาจากแต่ละบัญชีที่พรรคการเมืองเสนอ ส่วนหากจะเสนอนายกฯคนนอกนั้นก็จะต้องมาจากบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองเช่นกัน และก็ต้องรอให้คนในบัญชีพรรคการเมืองไม่ผ่านก่อน จึงจะค่อยมาถามกันเรื่องนี้