นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) หมายเลข 1 พรรคก้าวไกล กล่าวในเวทีเปิดแนวคิดผู้สมัครผู้ว่าฯกทม. กับนโยบายด้านสิทธิมนุษยชน หัวข้อ "กรุงเทพฯ เมืองที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง" ว่า สิทธิการชุมนุมและการแสดงออกทางการเมืองว่า ขั้นพื้นฐานที่สุดต้องมีการจัดเตรียมห้องสุขา กล้องวงจรปิดและให้ความยุติธรรมกับทุกคน แต่มีอีก 2 เรื่องที่ควรต้องทำ เปิดหน่วยงานราชการกรุงเทพมหานครเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้ผู้ชุมนุมได้ และจัดเจ้าหน้าที่สังเกตการณ์การชุมนุมอย่างเป็นกลางได้ ทำงานร่วมกันกับนักข่าวพลเมือง ทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายต่างๆ เพื่อให้การชุมนุมมีความเป็นกลาง และสิทธิของประชาชนได้รับการปกป้อง
นายวิโรจน์ กล่าวว่า พ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ ซึ่งเป็นกฎหมายที่เอาผิดผู้ชุมนุมที่มีความเห็นต่างจากรัฐบาล แต่ไม่บังคับใช้กฎหมายต่อฝ่ายเห็นด้วยกับรัฐบาล พ.ร.บ.นี้ควรใช้กับสายไฟระโยงระยางต่างหากกลับไม่เคยทำ แต่ปล่อยตู้คอนเทนเนอร์ รั้วลวดหนามหีบเพลงที่วางเกะกะ เมื่อมีพลเมืองดีไปเก็บลวดหนามกลับถูกดำเนินคดีในข้อหาลักทรัพย์สินของทางราชการ รวมไปถึงการเดินรถไฟฟ้าบีทีเอสต้องไม่หยุดดำเนินการด้วย
"ที่ต้องตั้งคำถามเพิ่ม คุณไปรอนสิทธิการเดินทางของคนอื่นทำไม ที่สำคัญที่สุด ถ้าคุณหยุดการเดินรถไฟฟ้าบีทีเอส อันตรายจะเกิดกับผู้ชุมนุม คุณหมายจะให้ใครขึ้นไปบนราง คุณหมายจะให้คนที่ใส่ชุดลายพรางขึ้นไปบนรางแล้วยิงประชาชนหรือ ถ้าเป็นผู้ว่าฯ จะไม่ยอมหยุดบีทีเอสเด็ดขาด และจะไม่ยอมให้มีชายลายพรางหรือชุดอะไรก็ต่างขึ้นไปบนบีทีเอสส่องยิงประชาชนอีก" นายวิโรจน์ กล่าว
สำหรับประเด็นผู้สูงอายุว่า ต้องลดจำนวนผู้สูงอายุที่ไม่จำเป็นต้องติดเตียงให้ได้ ด้วยการฉีดวัคซีนป้องกันโรคปอดอักเสบ พร้อมตั้งศูนย์กายภาพบำบัดในสวนสาธารณะ มีการจัดส่งยาและแพทย์สำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวานและโรคความดันโลหิตสูง และกรุงเทพมหานครต้องจัดจ้างผู้บริบาลผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น
นายวิโรจน์ กล่าวว่า กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่เห็นแก่ตัว เรามีห้างค้าปลีกใจกลางเมือง มีร้านสะดวกซื้อ แต่เราไม่มีตลาดค้าขายให้คนทำมาหากิน เรามีภัตตาคารระดับ 6 ดาวแต่ไม่ศูนย์อาหารที่ซื้อได้ในราคาที่ย่อมเยา ทั้งหมดเกิดจากกติกาของเมืองที่ไม่เป็นธรรม นายทุนอสังหาริมทรัพย์มักขึ้นที่ดินราคาสูง แต่จัดสรรทรัพยากรเพื่อแก้ปัญหาเมืองด้วย
ทั้งนี้ ถ้านายทุนจะสร้างอาคารสำนักงานสูง สามารถสร้างพื้นที่สีเขียวให้สังคมได้หรือไม่ จัดสรรพื้นที่ศูนย์อาหารหรือตลาดคิดค่าเช่าราคาย่อมเยาได้หรือไม่ ไม่ใช่ผลักปัญหาให้สังคมรับมือ ซึ่งไม่ยุติธรรม
สำหรับเรื่องที่พักราคาแพง เราสามารถใช้กลไกราคาที่ดิน ลดภาษีที่ดินให้กับอพาร์ตเมนต์ที่มีราคาไม่แพงได้ แต่คำถามคือ เราจะเอาเงินที่ไหนมาอุดหนุน ซึ่งโรงแรมใน กทม. 80,000 กว่าแห่ง แต่เข้าระบบเพียง 20,000 กว่าแห่ง เพราะถ้าเข้าระบบจะถูกรีดไถจาก กทม. ซึ่งกทม.มีนักท่องเที่ยวที่มาพักแรมปีละ 30-35 ล้านคน เราจัดเก็บค่าธรรมเนียมได้แค่ 400-500 ล้านบาท หากจัดเก็บได้ครบถ้วน จะสามารถเก็บเงินประมาณ 1,5000 ล้านบาท เราจะเอาเงินไปอุดหนุนบ้านเช่าในการลดภาษีที่ดินอพาร์ตเมนต์ที่มีค่าเช่าในราคาย่อมเยาได้