นายนิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา ในฐานะเลขานุการคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. กล่าวว่า วันนี้ กมธ.ฯ จะพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ซึ่งเหลือมาตรา 9, 10, 11, และ 12 และบทเฉพาะกาลที่ 12/1 และ 12/2 โดยจะพิจารณาให้เสร็จในช่วงเช้า จากนั้นช่วงบ่ายจะพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ต่อ ซึ่งยังเหลืออีกหลายมาตรา แต่ประเด็นสำคัญที่สุดคือ การคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อว่าจะหารด้วย 100 หรือ 500 ซึ่งตนในฐานะกรรมการยกร่างที่รัฐบาลเสนอให้หารด้วย 100
ขณะที่ร่างกฎหมายที่สภารับหลักการมาทั้งหมด 4 ร่างนั้น หารด้วย 100 ทั้งหมด โดยเอาคะแนนรวมของพรรคการเมืองหารด้วย 100 ดังนั้นการเสนอหารด้วย 500 จะมีปัญหา ซึ่งต้องคุยกันในที่ประชุมว่าจะเสนอได้หรือไม่ เพราะหากมองอย่างแคบถือว่าไม่มีหลักการนี้ เพราะรัฐสภาไม่ได้รับหลักการที่เสนอด้วย 500
นายนิกร กล่าวว่า แม้จะเสนอหาร 500 ได้ จะมีปัญหาขัดรัฐธรรมนูญแน่ๆ ในฐานะอดีตเลขานุการ กมธ.วิสามัญพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งที่ผ่านมา เนื่องจากเราแก้ไขมาตรา 91 โดยตัดเรื่องสัดส่วนผสมทิ้ง ดังนั้นมาตรา 93 และมาตรา 94 ที่ยกมาอ้างว่าเป็น ส.ส.พึงมี เป็นส่วนที่ไม่ใช้แล้วในการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งที่ผ่านมา ซึ่งเป็นส่วนที่อธิบายสัดส่วนผสม เป็นบัตรใบเดียว ตอนนี้เราไม่มีบัตรใบเดียวแล้ว แต่ที่ยังค้างอยู่ เราไม่กล้าตัดออกเพราะกลัวจะเกินหลักการ จึงค้างเอาไว้เพราะถือว่าเป็นมาตราที่ไม่ส่งผลต่ออะไรแล้ว
"จะยก ส.ส.พึงมีมาอ้างไม่ได้ ซึ่งเจตนารมณ์ของการยกร่างอยู่ที่ กมธ. หากมีส่งศาลรัฐธรรมนูญ ทางศาลก็ต้องมาถามว่า กมธ.มีเจตนาใด ซึ่งเจตนาของ กมธ.คือ หารด้วย 100 เพราะตอนพิจารณา เราเอาหลักการการเลือกตั้งปี 54 มาดูและยึดตามนั้น เราจะต้องพิจารณาเรื่องข้อบังคับและการขัดรัฐธรรมนูญ แม้ว่าจะผ่านมาได้ แต่ไม่สามารถทำได้ เพราะคำนวณไม่ได้ ดังนั้นผมจะลงมติไม่เห็นชอบหากมีการเสนอหารด้วย 500 เพราะขัดรัฐธรรมนูญและเป็นเรื่องที่ทำไม่ได้" นายนิกร กล่าว
นายนิกร กล่าวว่า ตั้งใจว่าจะพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ให้เสร็จในเที่ยงวันนี้ และตอนบ่ายพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. โดยในสัปดาห์หน้าวันที่ 11-12 พ.ค. จะพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.อย่างเดียว คาดว่าน่าจะแล้วเสร็จ แต่ถ้าไม่เสร็จจะขอเพิ่มวันประชุมวันศุกร์ที่ 13 พ.ค.ด้วย
ส่วนวันที่ 18 พ.ค.จะออกหนังสือเชิญผู้แปรญัตติ ประมาณ 14-15 คนเข้ามาพูดคุยกัน จากนั้นวันที่ 19 พ.ค. ก็จะสรุป, วันที่ 20-22 พ.ค. จะทำรายงานให้แล้วเสร็จ, วันที่ 23 พ.ค. รับรองรายงาน และวันที่ 24 พ.ค. ยื่นต่อนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา