คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)มีมติส่งเรื่องให้ที่ปรึกษากฎหมายของสำนักงาน กกต.ตีความประเด็นต่างๆ ในข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกรณีการกระทำผิดของกรรมการบริหารพรรคที่อาจโยงไปสู่การยุบพรรคการเมือง ก่อนที่จะนำมาพิจารณาตัดสินในคดียุบพรรคชาติไทย(ชท.) และพรรคมัชฌิมาธิปไตย(มฌ.)ว่าจะเป็นอย่างไร โดยให้ใช้เวลาตีความข้อกฎหมายดังกล่าวให้เสร็จสิ้นภายใน 15 วัน หลังจากอนุกรรมการฯ ระบุหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารคนอื่น ๆ ไม่มีส่วนรู้เห็น
นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ กกต. เปิดเผยว่า ที่ประชุม กกต.ยังไม่สามารถลงมติสำนวนยุบพรรค ชท.และ มฌ.ได้เนื่องจากติดขัดในประเด็นการตีความข้อกฎหมาย มาตรา 237 ของกฎหมายรัฐธรรมนูญปี 50 และมาตรา 103(2) ของ พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และการได้มาซึ่ง ส.ว. จึงได้มอบหมายให้คณะกรรมการที่ปรึกษากฏหมายของสำนักงาน กกต.ที่มีนายสุพล ยุติธาดา เป็นประธาน พิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 15 วัน โดยที่ปรึกษาฯ จะประชุมเป็นครั้งแรกในที่ 20 มี.ค.นี้
"กกต.ยังติดใจในข้อกฎหมายดังกล่าวว่าหากกรรมการบริหารพรรคคนหนึ่งกระทำการทุจริต โดยที่หัวหน้าพรรค หรือกรรมการบริหารพรรคคนอื่นไม่มีส่วนรู้เห็นจะสามารถนำไปสู่การยุบพรรคได้หรือไม่" นายสุทธิพล กล่าว
ทั้งนี้ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และการได้มาซึ่ง ส.ว.มาตรา 103(2) ระบุว่า ถ้าการกระทำของบุคคลปรากฎหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าหัวหน้าพรรค หรือกรรมการบริหารพรครู้เห็น หรือปล่อยปละละเลย หรือไม่ยับยั้งแก้ไขเพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตเที่ยงธรรมให้ถือว่าพรรคการเมืองนั้นกระทำการเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการที่มิได้เป็นไปตามวิถีทางรัฐธรรมนูญให้ กกต.เสนอคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อยุบพรรคการเมืองนั้น
ขณะที่คณะอนุกรรมการสอบสวนกรณีการยุบพรรคชาติไทยและมัชฌิมาธิปไตยมีข้อสรุปว่า แม้ผู้กระทำผิดเป็นกรรมการบริหารพรรคแต่ดูจากข้อเท็จจริงและหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคไม่มีส่วนรู้เห็น คณะอนุกรรมการฯ จึงเห็นว่าไม่เข้ากรณีที่จะต้องยุบพรรค
เลขาธิการ กกต.ยืนยันว่า การส่งตีความข้อกฎหมายดังกล่าวไม่ได้เป็นการยื้อเวลาเรื่องการยุบพรรค แต่ต้องการทำทุกอย่างให้เกิดความชัดเจน
นอกจากนี้ ที่ประชุม กกต.มีมติให้ส่งสำนวนให้นายอภิชาต สุขัคคานนท์ ประธาน กกต.พิจารณาในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง ตามมาตรา 95 ของ พ.ร.บ.ว่าด้วยพรรคการเมือง เพราะเห็นว่าความผิดเรื่องยุบพรรคการเมือง ตามมาตรา 94 ของ พ.ร.บ.ว่าด้วยพรรคการเมือง จะต้องผ่านการพิจารณาของนายทะเบียนพรรคการเมืองก่อน เพื่อเสนอให้ที่ประชุม กกต.มีมติอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไป
--อินโฟเควสท์ โดย กษมาพร กิตติสัมพันธ์/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--