HotIssue "อัศวิน" ขอโอกาสรีเทิร์นพากรุงเทพไปต่อ-ไม่ต้องนับหนึ่งใหม่

ข่าวการเมือง Friday May 13, 2022 14:44 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ลุกจากเก้าอี้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ที่มาจากการแต่งตั้งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดดลงสนามเลือกตั้งเป็นครั้งแรกด้วยความหวังกลับมาสานต่องานในตำแหน่งเดิม กับธีมหลักในการหาเสียง คือ "กรุงเทพฯ ต้องไปต่อ" ไม่ต้องกลับไปนับหนึ่งใหม่ให้เสียเวลา

พล.ต.อ.อัศวิน ก้าวขึ้นจากตำแหน่งรองผู้ว่า กทม.มาเป็นผู้ว่า กทม.แทน ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ใช้เวลาทำงานในองค์กร กทม.มาอย่างยาวนานในตำแหน่งรองผู้ว่าฯ ราว 3 ปี กับตำแหน่งผู้ว่าฯ อีก 5 ปี 5 เดือน 5 วัน เพื่อลงสมัครรับเลือกตั้งในนามอิสระ แม้เบื้องหลังจะมีคำถามถึงแรงสนับสนุนจากพรรคพลังประชารัฐก็ตาม ซึ่งทันทีที่ลาออกก็ลุยนำทีมออกเดินสายหาเสียงอย่างหนัก หลังจากได้รับการคาดหมายให้เป็นหนึ่งในตัวเต็งรอบนี้

"ผมจะพยายามทำความจริงให้ปรากฏแก่ประชาชนที่เป็นเจ้าของอำนาจในการลงคะแนนเลือกตั้ง ผมก็ฟังผลโพลนะครับ ส่วนที่เป็นรองอยู่ก็มีกำลังใจเพิ่มขึ้นว่าต้องทำอะไร เพราะเพิ่งเปิดตัวมา 20 กว่าวัน การตัดสินใจอยู่ที่พี่น้องประชาชน เขารักใครชอบใครก็เลือกคนนั้น ตอนที่เขาบอกเราว่าชอบเบอร์ไหน แต่ตอนที่เข้าคูหาไม่รู้ว่าเลือกใคร" พล.ต.อ.อัศวิน กล่าว

ประเด็นหลักที่กลุ่มรักษ์กรุงเทพชูภาพของ พล.ต.อ.อัศวิน คือ ผู้ปฏิบัติงานจริง ไม่ใช่นักการเมืองที่ดีแต่พูดเก่ง เพราะการบริหารงานของผู้ว่าฯ กทม.เป็นเรื่องของการบ้าน ไม่ใช่เรื่องการเมือง ดังนั้น จะไม่มีการนำเสนอนโยบายที่แปลกใหม่ หรือปรับกลยุทธ์ในการทำงานอะไรมากมาย แต่ต้องการตอกย้ำการสานต่อการทำงานของ กทม.เป็นหลัก

"นโยบายที่เขียนกันมีแต่ความสวยหรูดูดี แต่ทำไม่ได้ มันล้มเหลวโดยสิ้นเชิง พูดแต่ไม่ทำ ไม่นำไปสู่การปฏิบัติ มันไร้สาระจริงๆ อัศวินเป็นคนไม่ชอบพูดแต่ชอบทำ ทำแต่ไม่ชอบพูด" พล.ต.อ.อัศวิน กล่าว

*แก้ปัญหา กทม.ต้องเดินหน้าทุกเรื่องพร้อมกัน

พล.ต.อ.อัศวิน มองว่า การแก้ไขปัญหา กทม.ต้องทำหลายเรื่องไปพร้อมๆ กัน เพราะเป็นเรื่องสำคัญทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทางเท้า การศึกษา ปัญหาปากท้อง การเดินทาง คงไม่สามารถกำหนดเวลาได้ว่าปัญหาทั้งหมดจะแก้ไขได้เมื่อใด คงเป็นไปไม่ได้อย่างที่มีผู้สมัครหลายคนพยายามนำเสนอกรอบเวลาในการแก้ไขปัญหา กทม.ในการหาเสียง

"แค่ 100 วันคงแก้ปัญหาให้สุดไม่ได้หรอก ไม่มีปัญหาใดที่สามารถแก้ได้ภายใน 100 วันเลย ถ้าทำคลองเดียวร้อยวันก็ทำได้ แต่ถ้าทำคลองทั้งหมด 1,600 กิโลฯ คงทำไม่ได้ มันเป็นแค่วาทกรรมเท่านั้น มันเป็นไปไม่ได้ มันเพ้อฝันกันทั้งนั้น" พล.ต.อ.อัศวิน กล่าว

*สานต่อผลงานแก้น้ำท่วม

อดีตผู้ว่า กทม. กล่าวว่า ก่อนจะมาเป็นผู้ว่าฯ กทม.พบว่ามีจุดน้ำท่วมซ้ำซาก 24 จุด แต่หลังจากเข้ามาทำงาน 5 ปีได้แก้ปัญหาไปได้แล้ว 15 จุด และหากได้โอกาสกลับมาจะแก้ปัญหา 9 จุดที่เหลือให้หมดไปให้ได้ เป็นสิ่งที่ตั้งใจอยากจะทำต่อให้สำเร็จ ได้แก่ ท่อระบายน้ำที่มีขนาดเล็กระบายน้ำได้ไม่ทัน จะแก้ไขด้วยการขยายขนาดท่อ หรือสร้างรางระบายน้ำเพิ่ม

พร้อมทั้ง ผลักดันการสร้างอุโมงค์ระบายน้ำเพิ่มเติมเพื่อช่วยลดระยะเวลาการไหลของน้ำตามธรรมชาติ, จุดใดที่ฝนตกหนักและมีปริมาณน้ำมากๆ ระบายไม่ทัน จะสร้างพื้นที่รับน้ำ หรือบ่อหน่วงน้ำใต้ดินเพิ่มเติม, จุดฟันหลอริมแม่น้ำเจ้าพระยา จะมีการสร้างคันเขื่อนกั้นน้ำทั้ง 100% เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำไหลทะลักเข้ามาท่วมในพื้นที่ กทม.เมื่อเวลาระดับน้ำหนุนสูง หลังจากที่ผ่านมา กทม.ดำเนินการไปได้แล้วราว 50%

"ที่ผ่านมาพอเกิดฝนตก 80 มิลลิเมตรจะเกิดปัญหาน้ำรอระบาย กว่าจะหายต้องรอ 3-5 ชั่วโมง แต่ตอนนี้ 20-30 นาที เต็ม ที่ไม่เกิน 1 ชั่วโมง จบแล้วครับ" พล.ต.อ.อัศวิน กล่าว

*ปัญหาจราจร

พล.ต.อ.อัศวิน กล่าวว่า จะกลับมาขยายเส้นทางเดินรถชัตเตอร์บัสไฟฟ้าที่ใช้พลังงานสะอาดในถนนสายหลักให้ครบ 18 เส้นทาง จากเดิมที่ดำเนินการไปแล้ว 2 เส้นทาง เพื่อเชื่อมโยงระบบล้อ-ราง-เรือ โดยยืนยันว่าเป็นคนแรกในประเทศไทยที่ทำเรือไฟฟ้า ซึ่งใช้พลังงานสะอาดมาให้บริการในระบบสาธารณะ และนำระบบสัญญาณไฟจราจรอัจฉริยะที่สัมพันธ์กับปริมาณจราจรที่แท้จริงมาใช้ให้ได้ในการดำรงตำแหน่ง ผู้ว่ากทม.ในสมัยหน้าแน่นอน

นอกจากนี้ จะยังผลักดันการสร้างถนนต่างๆ เพิ่มขึ้น ทั้งทางลอด ทางข้าม เพื่อช่วยลดปัญหาการจราจรติดขัด ยกตัวอย่างที่ ถนนอรุณอัมรินทร์ที่จะไปทางโรงพยาบาลศิริราช เคยมีปัญหารถติดมาก แต่พอ กทม.สร้างทางยกระดับทำให้ปัจจุบันสามารถแก้ไขปัญหาไปมาก

"เมื่อปี 58 กรุงเทพฯ เคยมีปัญหาจราจรติดขัดเป็นอันดับ 2 ของโลก เมื่อตนเข้ามาเป็นผู้ว่าฯ ในปี 59 จนถึงปลายปี 64 ปัญหาจราจรคลี่คลายดีขึ้น เพราะกรุงเทพฯ ติดอันดับที่ 74 ของโลก แสดงว่าแก้ปัญหาจราจรบางส่วนไปได้แล้ว" พล.ต.อ.อัศวิน กล่าว

*ปัญหาปากท้องประชาชน

พ.ต.อ.อัศวิน กล่าวว่า จะพยายามสร้างความสมดุลระหว่างผู้ใช้ทางเท้าและผู้ค้าให้เหมาะสม โดยจะผลักดันให้มีการแก้ไขข้อบัญญัติ ประสานกับหน่วยงานที่ดูแลที่ราชพัสดุ เพื่อบริหารจัดการพื้นที่ค้าขายอย่างเหมาะสม พร้อมทั้งมีนโยบายจะทำตลาดชุมชน ในแต่ละพื้นที่ ต่อไปจะมี 1 เขต 1 ตลาดชุมชน

"ที่ผ่านมายังไม่สมดุลกันระหว่างคนเดินเท้ากับพ่อค้าแม่ค้า จึงได้หารือทำจุดผ่อนผัน คิดว่าจำเป็น ก็ยังคงต้องแก้ปัญหาระยะสั้น ต่อไปการทำจุดผ่อนผันจะต้องมีคณะกรรมการชุมชน และคนในชุมชนเข้ามาช่วยออกแบบ ปัญหาก็จะลดน้อยลง และจะทำโครงการ 1 เขต 1 ตลาดชุมชน จะช่วยกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยให้ดีขึ้น ทำให้พี่น้องกินอิ่ม นอนหลับมากยิ่งขึ้น" พล.ต.อ.อัศวิน กล่าว

นอกจากนี้ รัฐบาลกำลังจะเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติอย่างเต็มรูปแบบแล้ว กทม.จำเป็นต้องจัดเตรียมสถานที่ไว้รองรับ เพราะก่อนวิกฤติโควิด กรุงเทพฯ เป็นสถานที่ท่องเที่ยวอันดับ 1 ของโลกติดต่อกันถึงสามปีซ้อน สามารถสร้างรายได้เข้าประเทศถึงปีละ 1 ล้านล้านบาท

ขณะที่มองว่านักท่องเที่ยวมีความต้องการ 3 อย่าง คือ "ที่พักสะดวก อาหารถูกปาก ของฝากถูกใจ" ดังนั้น ที่ผ่านมา กทม.ได้ผลักดันการพัฒนาจุดต่างๆ ของเมืองให้เป็นจุดน่าท่องเที่ยว รวมทั้งทำถนนคนเดินที่สามารถตอบสนองความต้องการของนักท่องเที่ยวทั้ง 3 ข้อหลักได้อย่างครบถ้วน

และถ้ามีโอกาสกลับมาอยากจะผลักดันให้มีถนนคนเดินทุกเขตเพื่อดึงดูดการท่องเที่ยวและทำให้บรรยากาศการค้าขายกลับมา

*ขยายศูนย์บริการทางการแพทย์

พล.ต.อ.อัศวิน นำเสนอนโยบายสถานรักษาพยาบาลให้ครอบคลุม กทม.ภายใต้คอนเส็ปต์ "ทั่วถึง รวดเร็ว เชี่ยวชาญ" โดยสร้างโรงพยาบาลครบทั้ง 4 มุมเมือง ซึ่งสร้างไปแล้ว 3 แห่ง คือ โรงพยาบาลผู้สูงอายุที่เขตบางขุนเทียน โรงพยาบาลคลองสามวาจะเปิดให้บริการปี 67 และโรงพยาบาลบางนา ดังนั้น จึงยังเหลือพื้นที่กรุงเทพฯ ตอนเหนือที่ยังติดปัญหาเรื่องที่ดินราคาแพง

พร้อมทั้งยกระดับศูนย์บริการสาธารณสุข 69 แห่งให้เป็นโรงพยาบาลประจำเขต กำลังเพิ่มศักยภาพของแพทย์ พยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงการเพิ่มอาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพ (อสส.) และการนำเทคโนโลยีมาใช้ เช่น ระบบเทเลเมดิซีน ระบบนัดพบแพทย์ล่วงหน้าซึ่งช่วยลดระยะเวลา

"ที่พูดมาเหล่านี้จับต้องได้ ใม่ใช่วาทกรรม ไม่ใช่นโยบายเลื่อนลอย จับต้องได้ สัมผัสได้ เลือก อัศวิน ไม่ต้องนับหนึ่งใหม่ นับแปด-เก้า-สิบไปได้เลย ไม่ต้องมารอตอกเสาเข็ม เพราะผมเหมือนขึ้นชั้นสอง รอมุงหลังคา ใส่ฝา ทาสีก็จบแล้ว" พล.ต.อ.อัศวิน กล่าว

https://youtu.be/Cc13qC_ENOE


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ