นายกฯ เกาะติดสถานการณ์โลกพร้อมหามาตรการลดภาระปชช.-มุ่งเป้าแก้หนี้ครัวเรือน

ข่าวการเมือง Thursday May 19, 2022 11:25 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เปิดงานเสวนา "Better Thailand Open Dialogue : ถามมา-ตอบไป เพื่อประเทศไทยที่ดีกว่าเดิม" พร้อมกล่าวปาฐกถาพิเศษ "อดีต ปัจจุบัน และอนาคตประเทศไทยที่ดีกว่าเดิม" ว่า ขณะนี้ทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยได้รับผลกระทบของวิกฤติจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งเป็นการเผชิญวิกฤติซ้อนวิกฤติหลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยโลกแบ่งเป็นสองขั้ว ทำให้ทรัพยากรที่เคยสมดุลต้องขาดแคลน มีผลให้ราคาสินค้า ราคาพลังงาน และค่าครองชีพปรับตัวสูงขึ้น สร้างความหวาดกลัวว่าสงครามจะยืดเยื้อ

สิ่งสำคัญที่สุดในวันนี้ คือ การแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน เช่น วิกฤติพลังงาน สินค้าขาดแคลน ความยากจน เพื่อให้ประชาชนอยู่รอดอย่างพอเพียง รัฐบาลจึงได้เข้ามาดูแลประชาชนเพื่อลดภาระค่าครองชีพด้วยมาตรการต่างๆ โดยเฉพาะในกลุ่มที่ได้รับผลกระทบ อาทิ การช่วยเหลือเพื่อซื้อก๊าซหุงต้ม การช่วยเหลือค่าน้ำมันให้กับผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้าง การช่วยลดภาระค่าไฟฟ้า การตรึงราคาขายปลีกน้ำมันดีเซล ตลอดจนการลดอัตราเงินสมทบของนายจ้างและลูกจ้างที่อยู่ในระบบประกันสังคม เป็นต้น

ทั้งนี้ รัฐบาลตระหนักว่าสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้มีความไม่แน่นอนและอาจยืดเยื้อ โดยรัฐบาลจะติดตามประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และต่อเนื่องและพร้อมที่จะปรับปรุงแนวทางการช่วยเหลือให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประเทศชาติและประชาชนในระยะต่อไป

สำหรับในปี 65 รัฐบาลได้ประกาศให้เป็นปีแห่งการแก้ไขหนี้ครัวเรือน ครอบคลุมลูกหนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ซึ่งขณะนี้ได้ปลดล็อกเงื่อนไขหลายประการ รวมถึงแก้ไขกฎหมายกองทุน กยศ. โดยจะช่วยผ่อนปรนภาระหนี้ของนักเรียนได้เป็นจำนวนมาก ตลอดจนลูกหนี้เช่าซื้อ ลูกหนี้บัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคลและข้าราชการ และหนี้ผู้ประกอบการ จะได้รับการผ่อนปรนลดภาระดอกเบี้ย ค่าธรรมเนียม และปรับปรุงกระบวนการยุติธรรม ให้เอื้อต่อการแก้ไขปัญหาดังกล่าว

นอกจากการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนทั้ง 8 ประเด็นข้างต้นแล้ว ความยากจนของแต่ละคน แต่ละบ้าน มีที่มาจากปัญหาที่แตกต่างกัน ดังนั้น สิ่งที่รัฐบาลกำลังเริ่มทำอยู่ในตอนนี้ คือ การแก้ปัญหาความยากจนแบบมุ่งเป้าแต่ละครัวเรือน หรือการตัดเสื้อให้พอดีตัว ซึ่งจะมีการตั้งทีมพี่เลี้ยง เข้าไปตรวจสอบข้อมูลทุกครัวเรือนยากจน ในแต่ละหมู่บ้าน เพื่อไปรับทราบปัญหา ช่วยหาทางแก้ไข และให้การสนับสนุนให้ครอบครัว มีการวางแผน หรือแก้ปัญหาความยากจนของแต่ละครัวเรือน ให้ตรงตามสภาพปัญหาที่แต่ละครอบครัวกำลังเผชิญ

ล่าสุด รัฐบาลได้เสนอแก้ไขกฎหมายประกันสังคมเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น เพิ่มอายุผู้ประกันตนให้ถึง 65 ปี แก้ไขเพิ่มเติมสิทธิประโยชน์กรณีชราภาพ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและเสริมสภาพคล่องทางการเงินแก่ผู้ประกันตน โดยสามารถนำเงินกรณีชราภาพบางส่วนออกมาใช้ก่อนครบกำหนดอายุ 55 ปีบริบูรณ์ มี 3 แนวทาง หรือ "3 ขอ" (1) ขอเลือก คือ รับเงินเป็นบำเหน็จหรือบำนาญก็ได้ตามสมัครใจ (2) ขอคืน คือ ขอใช้เงินบางส่วนก่อนกำหนด เพราะมีเหตุจำเป็น (3) ขอกู้ คือ ใช้เงินสะสมเป็นหลักประกันเงินกู้กับสถาบันการเงินได้ และเพิ่มสิทธิประโยชน์อื่นๆ ให้ผู้ประกันตน ในระบบประกันสังคมอีก เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมมากขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ