นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ว่าที่ผู้ว่าฯ กทม.กล่าวถึงการแก้ปัญหารถไฟฟ้าสายสีเขียวว่า คงไม่ใช่เรื่องที่ตนจะรับผิดชอบเพียงคนเดียว แต่ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกัน ซึ่งขอดูข้อมูลรายละเอียดเพิ่มเติมก่อนใน 3 ประเด็น คือ 1.ที่มาของหนี้ 2.สัญญาเดินรถ และ 3.การต่อสัญญาสัมปทานทำไมไม่เข้า พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ
สำหรับการกำหนดค่าโดยสารขั้นต่ำนั้น ข้อเสนอเดิมคือ 65 บาทตลาดสายอาจไม่เหมาะสม เพราะในความเป็นจริงประชาชนต้องการอัตราเฉลี่ยไม่เกิน 35 บาท/8 สถานี ซึ่งหลังจากได้รับรองผลเลือกตั้งจากสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แล้วจะเข้าไปดูสัญญา
นายชัชชาติ กล่าวว่า ในช่วงสัปดาห์แรกต้องเริ่มหาพันธมิตรในการทำงาน เช่น การขอความร่วมมือจากมูลนิธิองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT เพื่อแก้ทุจริตคอร์รัปชั่น, การขอความร่วมมือจาก กสทช.เพื่อนำสายสัญญาณลงใต้ดิน, ขอความร่วมมือจากกรมทางหลวงชนบท กรมทางหลวง และการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เพื่อขอใช้พื้นที่
สำหรับการลงพื้นที่สำรวจแฟลต 12 เคหะบางบัว เขตหลักสี่ ในวันนี้เพื่อตรวจสอบปัญหาขยะ การก่อสร้างท่อระบายน้ำขวางทางสัญจร และปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก
นายชัชชาติ กล่าวว่า การลงพื้นที่ของตนเป็นการส่งสัญญาณว่าทุกเขตต้องจริงจังแก้ไขปัญหาประชาชน ผู้อำนวยการเขตต้องสนใจปัญหาในพื้นที่ ไม่ต้องรอผู้ว่าฯ จัดการ ย้ำชุมชนต้องเข้มแข็ง ให้ความร่วมมือเขต ช่วยกันดูแลและทุกเขต
สำหรับปัญหาเดือดร้อนของชาวชุมชนแฟลต 12 เคหะบางบัว คือการก่อสร้างท่อระบายน้ำ ที่มีการวางวัสดุก่อสร้างขวางทางสัญจร รวมทั้งปัญหาการจัดเก็บขยะมูลฝอย 1 ครั้งต่อสัปดาห์ ไม่เพียงพอกับความต้องการของประชาชน ขณะเดียวกันพื้นที่ทิ้งขยะก็ยังมีถังขยะไม่เพียงพอ ซึ่งปัญหาทั้งหมดที่กล่าวมาได้แจ้งให้ผู้อำนวยการเขตหลักสี่รับทราบ และเร่งแก้ไขปัญหา
"การลงมาพื้นที่แบบในวันนี้ ไม่ใช่การลงมาแก้ปัญหาด้วยตัวเอง แต่เป็นการส่งสัญญาณว่าข้าราชการต้องลงมาดูแลประชาชน อนาคตไม่ต้องรอให้ผู้ว่าฯ ลงไป และผมว่าชุมชนกับ กทม.ต้องไปด้วยกัน ต้องมีความร่วมมือทั้งสองฝ่าย อนาคตที่ผ่านมาเหมือนกับเราขาดความไว้ซึ่งกันและกันระหว่างชุมชนกับ กทม. ซึ่งอนาคตต้องสร้างความไว้วางใจซึ่งกันและกัน กทม.ต้องเอาชุมชนมาร่วมกัน ต้องไม่มองชุมชนเป็นภาระ แต่ชุมชนเป็นกำลังเสริมที่สำคัญที่จะช่วยให้เมืองพัฒนาไปได้อย่างรวดเร็ว" นายชัชชาติ กล่าว
นายชัชชาติ กล่าวว่า ในวันนี้ไม่ได้เป็นการคาดโทษ ผอ.เขต เชื่อว่าทุกคนอยากที่จะทำงานเพื่อประชาชน ในอนาคตประชาชนก็จะมีส่วนในการร่วมประเมิน ผอ.เขต ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ว่าปัญหาที่ร้องเรียนไปได้รับการแก้ไขหรือไม่ จะทำให้สามารถเห็นผลการทำงานของ ผอ.เขต และสามารถประเมินการทำงานได้ทันที
สำหรับการแก้ไขปัญหาในชุมชนไม่ใช่เรื่องยากและใช้งบประมาณสูง แต่เปลี่ยนวิถีชีวิต ความรู้สึกของคนในชุมชนให้ดีขึ้นได้ นอกจากนี้ ความเร็วในการตอบสนองความต้องการของประชาชน เป็นส่วนสำคัญในการสร้างความไว้วางใจกับชุมชน ดังนั้นการแก้ปัญหาต้องรวดเร็ว หากมีความล่าช้าเกิดขึ้นประชาชนก็จะไม่มีความไว้วางใจ
"ไม่ใช่บังคับให้เอานโยบายไปทำ แต่ถ้าเห็นว่ามีนโยบายไหนที่ทำไม่ได้ก็ให้บอกมา เพื่อให้เป็นการสื่อสารสองทาง หรือจะเพิ่มนโยบายอีกก็เป็นเรื่องที่ดี เพราะถ้ามีนโยบายแค่ 10 ข้อ ผอ.เขตก็คงเหงา" นายชัชชาติ กล่าว