"สุเมธ"ชี้เหตุกกต.ส่งตีความ มองกม.ล็อคต้องส่งศาลรธน.กรณียุบพรรคชท.-มฌ.

ข่าวการเมือง Wednesday March 19, 2008 17:11 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          นายสุเมธ อุปนิสากร กรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)กล่าวว่า เหตุที่กกต.ต้องให้คณะที่ปรึกษากฎหมายตีความข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณากรณียุบพรรคชาติไทย(ชท.) และมัชฌิมาธิปไตย(มฌ.)ในประเด็นกฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา 237 วรรค 2 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว. มาตรา 103 วรรค 2 ซี่งจะโยงไปถึงข้อกฎหมายพรรคการเมือง มาตรา 94 (1) ที่ว่าด้วยฐานความผิดที่ต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญเพื่อยุบพรรค
นายสุเมธ กล่าวว่า กกต.ต้องการทราบว่าการที่กฎหมายกำหนดไว้มาตราดังที่กล่าวมา กกต.จะสามารถดำเนินการเป็นอย่างอื่นได้หรือไม่ นอกเหนือจากที่ต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญพิจารณากรณียุบพรรรคการเมืองทั้งสอง เพราะกกต.เองก็เชื่อว่า กรรมการบริหารพรรคหรือหัวหน้าพรรคการเมืองไม่มีส่วนรู้เห็น
แต่โดยความเห็นส่วนตัวแล้ว กฎหมายไม่มีทางให้ดำเนินการเป็นอย่างอื่นได้ นอกจากจะต้องยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาว่าจะยุบพรรคการเมืองหรือไม่
"กฎหมายเขียนบังคับเอาไว้หรือเปล่าว่าต้องส่ง เลยขอให้ที่ปรึกษากฎหมายของ กกต.พิจารณาว่าจะแปลเป็นอย่างอื่นได้หรือไม่ เพราะตามที่เรียนมาหากกฎหมายมันเขียนคำว่า "ให้ถือว่า" เช่น ในกฎหมายเลือกตั้งมาตรา 103 วรรค 2 ก็จะแปลเป็นอย่างอื่นไม่ได้ เว้นแต่เขียนว่า "ให้สันนิษฐานไว้ก่อน" หากเขียนอย่างนี้ ก็อาจจะอย่างนี้แปลเป็นอย่างอื่นได้ แต่ในเมื่อเขียนอย่างนี้ ก็คล้ายๆ ว่า มัดเอาไว้เลย พูดง่ายๆ คือมันก็รัดคอ กกต.ไว้ ไม่มีทางที่จะเห็นเป็นอย่างอื่นได้เลย ในความเห็นผม" นายสุเมธ กล่าว
ทั้งนี้ มาตรา 103 วรรค 2 ระบุว่า "ถ้ากระทำของบุคคลปรากฎหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าหัวหน้าพรรค กรรมการบริหารพรรครู้เห็น หรือปล่อยปละละเลย หรือไม่ยับยั้งแก้ไขเพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริต ให้ถือว่าพรรคการเมืองนั้น กระทำการเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการที่มิได้เป็นไปตามวิถีทางรัฐธรรมนูญ ให้ กกต.เสนอคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อยุบพรรคการเมืองนั้น"
นายสุเมธ กล่าวว่า หากในท้ายสุดคณะที่ปรึกษากฎหมายของ กกต. มีความเห็นไปในทิศทางเดียวกับคณะอนุกรรมการสอบสวนกรณีการยุบพรรคชาติไทยและมัชฌิมาธิปไตยที่เห็นว่าการกระทำของกรรมการบริหารพรรคไม่มีส่วนเชื่อมโยงไปถึงพรรค และมีทางออกอื่นนอกเหนือจากส่งศาลรัฐธรรมนูญ กกต.ก็จะไม่ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญหากมีทางออกเป็นอย่างอื่น แต่หากไม่มีทางออกเป็นอย่างอื่น กกต.ก็ต้องส่งให้ศาลพิจารณายุบพรรค
"เมื่อคณะกรรมการสืบสวนสรุปมาอย่างนั้น เราถึงหาทางออกว่า ทำไมถึงแปลอย่างนั้นได้ ในเมื่อคณะอนุกรรมการฯ ให้ยุติเรื่อง เพราะไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง ทำไมเขาถึงแปลอย่างนั้น เราถึงให้หาทางออก ให้คณะที่ปรึกษากฎหมายไปให้ความเห็น" นายสุเมธ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ