พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม กล่าวต่อที่ประชุมรัฐสภาถึงร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ว่า ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย ปี 2566 นี้ มีกรอบวงเงินรายจ่ายที่ 3.185 ล้านล้านบาท ประมาณการรายได้ที่ 2.49 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นงบประมาณแบบขาดดุล 6.95 แสนล้านบาท โดยจัดทำขึ้นภายใต้การประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2566 ว่าจะขยายตัวได้ 3.2-4.2% และอัตราเงินเฟ้อ 0.5-1.5%
นายกรัฐมนตรี ได้ชี้แจงหลักการและเหตุผลว่าเป็นการดำเนินงานต่อเนื่องจากปีงบประมาณ 65 เพื่อการขับเคลื่อนประเทศตามแนวทางการพัฒนาของยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ แผนการปฏิรูปประเทศ และนโยบายรัฐบาล ให้บรรลุเป้าหมายตามที่กำหนดไว้อย่างเป็นรูปธรรม เกิดผลสัมฤทธิ์และประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน โดยรัฐบาลได้ดำเนินการให้สอดคล้องกับสภาวะทางเศรษฐกิจภายในประเทศ และภายนอกประเทศ รวมทั้งสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19
ขณะที่ในปี 65 ยังมีผลกระทบของสถานการณ์ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ เงื่อนไขด้านฐานะการเงินของภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ การกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัส และความผันผวนของระบบเศรษฐกิจและการเงินโลก โดยคาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 65 จะขยายตัวในช่วง 3.5 - 4.5% อัตราเงินเฟ้อจะอยู่ในช่วง 1.5 - 2.5 %
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลจึงมีความจำเป็นต้องดำเนินนโยบายการคลังแบบขยายตัว ผ่านการจัดทำงบประมาณขาดดุล เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจให้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง โดยในปีงบประมาณ 66 คาดว่ารายได้จะฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยประมาณการว่าจะจัดเก็บรายได้จากภาษีอากร การขายสิ่งของและบริการ รัฐพาณิชย์ และรายได้อื่น รวมสุทธิจำนวน 2,614,100 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.1% จากปีก่อน และหักการจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตาม พ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม จำนวน 124,100 ล้านบาท คงเหลือเป็นรายได้สุทธิที่สามารถนำมาจัดสรรเป็นรายจ่ายของรัฐบาล จำนวน 2,490,000 ล้านบาท
"การดำเนินนโยบายการคลังในปีงบประมาณ ปี 66 จึงเป็นการดำเนินนโยบายงบประมาณแบบขาดดุล โดยกำหนดรายได้สุทธิ 2,490,000 ล้านบาท และเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ 695,000 ล้านบาท รวมเป็น 3,185,000 ล้านบาท เท่ากับวงเงินงบประมาณรายจ่าย" นายกรัฐมนตรี ระบุ
ส่วนหนี้สาธารณะคงค้าง ณ วันที่ 31 มีนาคม 65 มีจำนวน 9,951,962.7 ล้านบาท คิดเป็น 60.6% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ซึ่งอยู่ภายใต้กรอบการบริหารหนี้สาธารณะ ตามกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ ที่กำหนดไว้ที่ 70% โดยหนี้สาธารณะที่เป็นข้อผูกพันของรัฐบาล ซึ่งเกิดจากการกู้ยืมเงินโดยตรง และการค้ำประกันเงินกู้โดยรัฐบาล มีจำนวน 9,478,592.1 ล้านบาท ฐานะเงินคงคลัง ณ วันที่ 30 เมษายน 65 มีจำนวน 398,830.7 ล้านบาท โดยรัฐบาลจะบริหารเงินคงคลังให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม และบริหารรายรับและรายจ่ายของรัฐบาลให้มีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด
"การจัดทำงบประมาณ มีเป้าหมายให้ประเทศได้รับการพัฒนาและฟื้นฟูจากผลกระทบจากโควิด-19 ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม ทรัพยากรมนุษย์ ความมั่นคง และสิ่งแวดล้อม มุ่งเน้นให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี พัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพตลอดช่วงชีวิต มีหลักประกันและความคุ้มครองทางเศรษฐกิจและสังคม กลุ่มเปราะบาง ผู้ด้อยโอกาส และเด็กได้รับการดูแลและช่วยเหลือจากสวัสดิการภาครัฐอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม เศรษฐกิจมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง และกระจายประโยชน์สู่ประชาชนทุกกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มฐานรากให้มีความเข้มแข็ง สามารถยกระดับความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น หลุดพ้นจากปัญหาความยากจน และสามารถพึ่งพาตนเองได้" นายกรัฐมนตรี กล่าว
พร้อมชี้แจงว่า การจัดสรรงบประมาณครั้งนี้ ได้นำยุทธศาสตร์ชาติและแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ มากำหนดเป็นกรอบโครงสร้างยุทธศาสตร์การจัดสรรงบฯ จำนวน 6 ยุทธศาสตร์ ได้แก่
1. ยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง จัดสรรไว้ 2.96 แสนล้านบาท เพื่อสร้างความมั่นคงของชาติ,รักษาความสงบภายในประเทศ, พัฒนาและเสริมสร้างการเมืองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหาษัตริย์ทรงเป็นประมุข, แก้ปัญหาภาคใต้, ป้องกันและปราบปรามยาเสพติด, จัดการปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์, พัฒนาศักยภาพการป้องกันประเทศและความพร้อมเผชิญภัยคุกคามทุกมิติ
2. ยุทธศาสตร์ด้านความสามารถในการแข่งขัน จัดสรรไว้ 3.96 แสนล้านบาท เพื่อพัฒนาคมนาคมด้านคมนาคมและโลจิสติกส์ , การเกษตร เพื่อเพิ่มการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมและผลิตภาพด้านการผลิตของสาขาเกษตร, การพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก, การพัฒนาพื้นที่และเมืองน่าอยู่อัจฉริยะ, การสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว, การพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ, การส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่เข้มแข็ง แข่งขันได้, การพัฒนาอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต, การพัฒนาความมั่นคงทางพลังงาน, การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล , การวิจัยและพัฒนานวัตกรรม, การพัฒนาศักยภาพด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม, การสนับสนุนด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน และ การดำเนินงานภารกิจพื้นฐาน งบประมาณ 71,873.9 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายบุคลากรภาครัฐ
3. ยุทธศาสตร์พัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ จัดสรรจำนวน 5.49 แสนล้านบาท
4. ยุทธศาสตร์สร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม จัดสรรงบประมาณ 7.59แสนล้านบาท
5. ยุทธศาสตร์สร้างการเติบโตคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จัดสรรงบปะมาณ 1.22 แสนล้านบาท
6. ยุทธศาสตร์ปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ จัดสรรงบประมาณ จำนวน 6.58 แสนล้านบาท
นอกจากนั้น รัฐบาลจัดสรรงบประมาณเพื่อใช้จ่ายรองรับเหตุการณ์ฉุกเฉินหรือจำเป็น รวมถึงการบริหารจัดการหนี้ภาครัฐ อีกจำนวน 4.02 แสนล้าน บาท แบ่งเป็น งบกลางเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 9.5หมื่นล้านบาท, การบริหารหนี้ภาครัฐ จำนวน 3.06 แสนล้านบาท