นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวอภิปรายร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2566 ว่า โครงสร้างงบประมาณถือเป็นงบช้างป่วยที่ปรับตัวไม่ได้ รายได้ผันผวน รายจ่ายแข็งตัว ซึ่งปีนี้จัดเก็บรายได้ประมาณ 2.49 ล้านล้านบาท และต้องกู้เพิ่มอีก 6.95 แสนล้านบาท
ทั้งนี้ รายได้ของประเทศตั้งแต่ ปี 62-64 ลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญ ภาษีที่จัดเก็บได้หลุดเป้ามาโดยตลอด ทำให้เราต้องกู้เพิ่มตลอด ถือเป็นการเอาเงินในอนาคตของลูกหลานมาใช้ในการทำงบประมาณรายจ่าย โดยมีปัจจัยความเสี่ยง คือ เมื่อรายได้ไม่เพียงพอก็มีการกู้ตลอดเวลา และจากภาวะเงินเฟ้อสูงทั่วโลก ทำให้เกิดอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น ทำให้ภาระเงินกู้ของไทยสูงขึ้นไปด้วย
นอกจากนี้ โครงสร้างงบประมาณจากข้อมูลสำนักงบประมาณรัฐสภา พบว่า ตั้งแต่ปี 57-66 เป็นงบประจำถึง 75% ซึ่งเมื่อจัดทำงบประมาณแบบนี้ ไม่ว่าปัญหาประเทศจะเกิดอะไรขึ้นหรือเจอวิกฤติเศรษฐกิจอย่างไร ไม่ได้ตอบสนองกับวิกฤตหรือโอกาสในปีหน้าที่จะได้เจอแต่อย่างใด
"อันนี้เป็นโครงสร้างงบประมาณที่น่ากลัว เป็นยาขมที่พวกเราต้องกลืน"นายพิธา กล่าว
นายพิธา กล่าวว่า งบประมาณ 70% หมดไปกับการชำระในอดีต เหลืองบที่ใช้จริงๆเพียง 30% หรือไม่ถึง 1 ล้านล้านบาท ที่นำมาใช้ฟื้นฟูประเทศ ซึ่งควรจะใช้งบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ ใช้งบอย่างสร้างสรรค์ ยุติธรรม
นอกจากนี้ในส่วนรายจ่าย 3.185 ล้านล้านบาทนั้น ซึ่งงบที่สูงสุดคือ รายจ่ายบุคลากรภาครัฐที่สูงถึง 40% ซึ่งสูงเท่ากับงบประมาณของกระทรวงศึกษาธิการทั้งกระทรวง และงบที่ตั้งไว้เอาไว้ชำระกับอดีต ไม่ใช่งบที่ใช้สำหรับอนาคต และพบว่า เงินบำนาญข้าราชการเพิ่มขึ้น 2 เท่าในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา
นายพิธา ระบุว่า งบประมาณปีนี้เป็นปีสำคัญ เป็นปีของการฟื้นฟูประเทศ เป็นปีแห่งความหวังที่ประชาชนสามารถลืมตาอ้าปาก เห็นความหวังที่ปลายอุโมงค์ได้ ซึ่งสถานการณ์โควิด-19 ดีขึ้น ทำให้การท่องเที่ยวกลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง ส่วนเรื่องการเมืองที่เพิ่งผ่านการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. เป็นช่วงที่ประชาชนมีความหวังที่สุดในรอบทศวรรษที่ผ่านมา และปีหน้ากำลังจะมีการเลือกตั้งใหญ่
"ในจังหวะประเทศมีความหวัง คนมีความหวังแบบนี้ น้ำขึ้นต้องรีบตักแบบนี้ งบประมาณจึงเป็นปีที่หัวเลี้ยว หัวต่อ และสำคัญที่สุด ถ้าน้ำกำลังขึ้นและกระบวยที่ลงทุนไปเล็ก เราก็ตักน้ำไม่ได้อยู่ดี ปีนี้เราจำเป็นต้องลงทุนกับประเทศให้กระบวยใหญ่ขึ้น ในช่วงที่น้ำกำลังมาเมื่อไหร่ เราตักออกมา เพื่อให้ประชาชนกินดีอยู่ดี มีความหวัง ผมเชื่อว่า ถ้าเราจัดงบประมาณปีนี้ดี ผมเชื่อว่า ประเทศไทยจะทยานไปอีก 10 ปีข้างหน้า นี้คือจุดเปลี่ยนของประเทศ"นายพิธา กล่าว
จากร่างงบประมาณปีนี้ พบว่า มีการจัดทำงบรับรอง 380 ล้านบาท ซึ่งมีงบมากกว่าสำนักเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ที่เน้นเรื่อง soft Power เสียอีก หรือมีการจัดเตรียมเบี้ยประชุมไว้ 1,000 ล้านบาท หรือ งบสำหรับเบี้ยประชุม 1,000 กว่าล้านบาท งบสำหรับสัมมนาของราชการ 4,000 กว่าล้านบาท ซึ่งถือว่า เราเสียงบไปกับการประชุมหรือพิธีรีตองมากเกินไปจนไม่สามารถพัฒนาประเทศในอนาคตได้
นายพิธา มองว่า การจัดทำงบประมาณอย่างมีความหวังต้องเป็นงบที่กระจายไม่กระจุก คือ การกระจายอำนาจที่กระจุกอยู่ คือทางออกที่มีความหวัง โดยรายได้สุทธิอปท. ควรแบ่งรายได้จาก 70:30 เป็น 50:50 ซึ่งจะช่วยให้รายได้เฉลี่ยอปท. จาก 89 ล้านบาท เป็น 153 บาท และงบ 64 ล้านบาทต่อท้องถิ่นที่เพิ่มขึ้นมา อาจนำไปแก้ปัญหา หรือเสริมสร้างศักยภาพของท้องถิ่นได้
ทั้งนี้ ต้องมีการพัฒนาจากล่างขึ้นบน ด้วยการพัฒนาและเพิ่มขีดความสามารถให้กับเอสเอ็มอี 3 ล้านราย และการทำเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่ทั่วโลกต้องการและขายได้ ซึ่งถือเป็นความหวังของเศรษฐกิจใหม่ๆ
นายพิธา ระบุว่า จากเหตุผลทั้งหมดไม่สามารถรับหลักการร่างพรบ.งบประมาณ ปี 66 ในวาระ 1 ไว้ได้