นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวถึงการจัดทำร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2566 ว่า การจัดทำงบประมาณ เพื่อออกแบบอนาคตแบบที่ทุกคนฝันนั้น ต้องมีสวัสดิการถ้วนหน้า ด้วยการลดปัญหาความเหลื่อมล้ำในประเทศไทย ซึ่งจะทำให้ปัญหาสังคมลดลงด้วย
ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบสวัสดิการกับประเทศสวีเดนที่เป็นสวัสดิการถ้วนหน้า ทั้งสวัสดิการเด็กเล็ก และสวัสดิการผู้สูงอายุ ประชาชนไทยได้สวัสดิการน้อยมาก เมื่อเทียบกับภาษีที่รัฐเก็บไป อย่างไรก็ดี สวัสดิการของประเทศไทยล้าหลังประเทศอื่นอยู่มากเกือบ 70 ปี ซึ่งหากไทยต้องการสวัสดิการที่ดี มีความจำเป็นต้องใช้เงิน จึงต้อง "หารายได้ ลดรายจ่าย" โดยจะต้องลดรายจ่ายบุคลากรภาครัฐลง ซึ่งงบประมาณปี 66 รายจ่ายบุคลากรภาครัฐรวม 1.26 ล้านล้านบาท 2 ปี รายจ่ายบุคลากรเพิ่มมาอีก 19,000 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 39.6% ของงบประมาณรวม ขณะที่สวีเดนใช้งบประมาณส่วนนี้แค่เพียง 24% เท่านั้น
ดังนั้น ข้อเสนองบประมาณฉบับบก้าวไกล คือ ลดรายจ่ายบุคลากร โดยนำโครงการ Early Retire สมัครใจ กลับมาใช้ใหม่ โดยได้เงินชดเชย, มีแผนระยะยาวที่ชัดเจน ในการลดสัดส่วนข้าราชการ และมีการกระจายอำนาจไปยังท้องถิ่น ให้ข้าราชการได้ทำงานในพื้นที่ ใช้คนน้อยลง แต่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งนี้ ขอให้คณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ทำให้ได้อย่างที่เคยกล่าวไว้ในปี 63 ที่ตั้งเป้าว่าจะลดงบบุคลากรให้เหลือ 30% ของงบประมาณรวม ซึ่งหากทำได้ปีนี้จะสามารถประหยัดงบประมาณถึง 3 แสนล้านบาท
นายปกรณ์วุฒิ กล่าวถึงปัญหาเรื่องการลดหย่อนภาษีบุคคลธรรมดาว่า เพดานการลดหย่อนกองทุน กับประกันรวมกัน 6 แสนบาท ซึ่ง 54% ของมูลค่าการซื้อกองทุนกับประกันลดหย่อนมาจากผู้มีรายได้ Top 5% ของประเทศ ส่งผลให้รายได้จากภาษีหายไปจำนวนมาก
ดังนั้น ข้อเสนองบประมาณฉบับบก้าวไกล เรื่องภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา คือ ให้เพิ่มค่าลดหย่อนส่วนตัวจาก 6 หมื่นบาท เป็นค่าแรงขั้นต่ำ คูณ 360 วัน เท่ากับ 120,000 บาท และลดเพดานลดหย่อนกองทุนและประกันจาก 6 แสนบาท เป็นค่าแรงขั้นต่ำ คูณ 360 วัน คูณ 2 เท่ากับ 240,000 บาท เพื่อเป็นการลดภาระภาษีของคนรายได้น้อย ส่วนคนรายได้มากก็ต้องเสียภาษีมากขึ้น นอกจากนี้ ให้ปรับอัตราลดหย่อน ให้ลดหย่อนได้ 15% เท่ากันทุกภาษี
"ผลการศึกษาพบว่า การยกเลิกการลดหย่อนภาษีทั้งหมด จะทำให้รัฐจัดเก็บภาษีเพิ่มประมาณ 5 หมื่นล้านบาทต่อปี แต่เราไม่ได้จะยกเลิกทั้งก้อน ลดเพียงส่วนเดียว ซึ่งประเมินแล้วว่าจะได้รายได้จากส่วนนี้ประมาณ 2 หมื่นล้านบาท" นายปกรณ์วุฒิ กล่าว
ในส่วนของภาษีที่ดิน กรณีที่มีการปลูกสวนกล้วยเพื่อหลบหลีกภาษีนั้น ข้อเสนองบประมาณฉบับก้าวไกล คือ ภาษีที่ดิน ต้องมีการอุดช่องว่างการหลบเลี่ยงภาษี และเก็บภาษีที่ดินแบบรวมแปลง ซึ่งหากทำได้ดังกล่าว รัฐจะสามารถจัดเก็บรายได้เพิ่ม 1 แสนล้านบาท
"ทั้ง 3 ข้อเสนอจากพรรคฯ จะทำให้รัฐมีงบประมาณเพิ่มถึง 420,000 ล้านบาท เพื่อให้มีงบประมาณมาจัดสวัสดิการให้ประชาชนได้ นอกจากนี้ เราต้องจูงใจให้คนเสียภาษี ด้วยสวัสดิการถ้วนหน้าที่เพียงพอ เหนือสิ่งอื่นใด เราไม่มีสวัสดิการที่ดี เพราะมีผู้นำที่ไม่มีเจตจำนงที่จะทำเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง ผลงาน 8 ปี ของนายกฯ ในช่วง 6 ปี รายได้เพิ่ม 500 บาท แต่หนี้สินเพิ่ม 5 หมื่นบาท" นายปกรณ์วุฒิ กล่าว
นายปกรณ์วุฒิ กล่าวว่า เมื่อสามารถแก้ปัญหาเพิ่มรายได้แล้ว พรรคฯ จะออกแบบงบประมาณใหม่ และมีนายกรัฐมนตรีที่ชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ พรรคฯ จะทำสวัสดิการแบบขั้นบันได และภายใน 4 ปี จะมีสวัสดิการเงินสนับสนุนเด็กและเยาวชน เงินสนับสนุน 0-6 ปี 1,200 บาท/เดือน และเงินสนับสนุน 7-22 ปี 800 บาท/เดือน และบำนาญประชาชนสำหรับผู้สูงอายุ 3,000 บาท/เดือน นอกจากนี้ จะปฏิรูปประกันสังคม เพิ่มสิทธิประโยชน์แรงงานนอกระบบ รวมทั้งเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคม และระบบหลักประกันในการดูแลผู้สูงอายุและผู้พิการระยะยาว เพื่อดูแลผู้สูงอายุและผู้พิการที่ติดบ้านติดเตียงทุกคน
"ทั้งหมดจะทำให้สวัสดิการสังคม เทียบกับ GDP เพิ่มขึ้น 2 เท่า ภายใน 5 ปี อย่างไรก็ดี ผมรู้ดีว่าเราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงประเทศนี้ภายในรัฐบาลวาระ หรือใน 10-20 ปี ไทยตามหลังประเทศที่พัฒนาแล้วอยู่ 70 ปี แต่ในทางกลับกัน แสดงให้เห็นว่าประเทศเหล่านั้นก็ต้องใช้ระยะเวลานานกว่าจะมาถึงวันนี้เช่นกัน อย่างไรก็ดี สวัสดิการไม่ใช่แค่เรื่องของ GDP ความเหลื่อมล้ำ หรือปัญหาสังคม แต่ใจความสำคัญคือการมอบความเป็นอยู่ที่สมศักดิ์ศรีของการเป็นมนุษย์ให้ประชาชน" นายปกรณ์วุฒิ กล่าว