นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ชี้แจงการจัดทำร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2566 ว่า ประเด็นเรื่องเงินเฟ้อ หรือราคาสินค้าสูงขึ้น เกิดขึ้นจากสาเหตุภาวะราคาน้ำมันเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นทั่วโลก ราคาน้ำมันเดือนพ.ค.65 เทียบกับปีที่แล้วเพิ่มขึ้นกว่า 60% ส่งผลต่อต้นทุนการผลิตและขนส่งสินค้า จึงส่งผลให้ราคาสินค้าเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม อัตราเงินเฟ้อของประเทศไทยอยู่ในเกณฑ์ที่ดี โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ประเมินว่า ประเทศไทยอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีเงินเฟ้อต่ำที่สุดในโลก และคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อปี 65 จะอยู่ประมาณ 3.5% ซึ่งอยู่ในเกณฑ์ดี และไทยอยู่ลำดับที่ 163 จาก 192 ประเทศ ขณะที่ในเดือน ม.ค.-เม.ย. 65 เงินเฟ้อไทยยังไม่เกิน 5%
ทั้งนี้ เมื่อดูรายการสินค้า พบว่า สินค้าที่มีความจำเป็นต่อการอุปโภคบริโภคไม่ได้เพิ่มสูงไปทั้งหมด มีเพียงบางกลุ่มเท่านั้น ในส่วนของน้ำอัดลมก็ยังไม่มีการอนุญาตให้ขึ้นราคา ส่วนบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปก็ยังไม่มีการปรับขึ้นราคา โดยราคาขายปลีกที่ 6 บาทคงเดิม ขณะเดียวกันมีสินค้าหลายชนิดที่ปรับลดลง เช่น ชุดตรวจ Antigen Test Kit (ATK) ข้าวสารถุง เครื่องใช้ไฟฟ้า และเครื่องแบบนักเรียน เป็นต้น
อย่างไรก็ดี มีสินค้าหลายชนิดที่ปรับเพิ่มสูงขึ้น อย่างเช่น น้ำมันปาล์มขวด เนื่องมาจากต้นทุนที่สูงขึ้น จากต้นทุนการผลิตทั้งเกษตรกรผู้ปลูก โรงงานผู้ผลิต และกลุ่มผู้บริโภค ซึ่งทั้ง 3 ส่วนนั้นมีผลประโยชน์ขัดกัน ดังนั้นกระทรวงพาณิชย์จึงใช้วิธีแก้ปัญหาแบบ วิน-วินโมเดล เจรจา 3 ฝ่ายดูแลราคาน้ำมันปาล์มทั้งระบบไม่ให้ขาดตลาด นอกจากนี้ ยังใช้นโยบายเชิงรุก แก้ปัญหาตั้งแต่ต้นทาง และเชิงลึกเพื่อแก้ปัญหาเป็นกรณีๆ ไป ส่วนสินค้าตัวไหนจะอนุมัติให้ขึ้นราคาได้นั้น ต้องดูต้นทุนของแต่ละโรงงาน และพิจารณาเป็นกรณีไป สำหรับสินค้าที่ต้องปรับขึ้นไปบางตัวนั้น ก็เป็นการปรับราคาตามต้นทุนการผลิต และราคาขนส่งที่แพงขึ้นจริง
นายจุรินทร์ กล่าวว่า สำหรับเรื่องปุ๋ย ต้องยอมรับว่าปุ๋ยแพงขึ้นจริง ซึ่งส่งผลกระทบต่อเกษตรกร อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงพาณิชย์ ได้ดำเนินการไปหลายเรื่องและสำเร็จไประดับหนึ่ง แต่ไม่ทั้งหมด เนื่องจากต้องแก้ปัญหาเรื่องราคาปุ๋ยที่ไม่ให้ค้ากำไรเกินควร และแก้ปัญหาเรื่องปริมาณไม่ให้ขาดแคลน ซึ่งวันนี้สิ่งที่ยังพอทำได้คือการกำกับปริมาณ เนื่องจากไทยต้องนำเข้าปุ๋ย 100% และน้ำมันที่ใช้ในการผลิตปุ๋ยก็มีราคาแพงขึ้น
ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบราคาปุ๋ยกับประเทศอื่นๆ พบว่า ไทยยังมีราคาต่ำกว่าประเทศอื่นๆ มาก โดยเมื่อเปรียบเทียบก่อนเกิดวิกฤติรัสเซีย-ยูเครน พบว่า ราคาปุ๋ยเฉลี่ยของโลกเพิ่ม 30% แต่ไทยเพิ่มเพียง 5.9% ซึ่งต่ำกว่าอัตราเพิ่มเฉลี่ยของโลก และเมื่อเปรียบเทียบในเดือนเม.ย. เทียบปี 64 กับ 65 ปุ๋ยโลกแพงขึ้น 80% ขณะที่ไทยแพงขึ้น 25.7% เท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมากระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรฯ และผู้นำเข้าปุ๋ย ได้จับมือขายปุ๋ยราคาถูก 4.5 ล้านกระสอบ ซึ่งถูกกว่าในตลาด 20-50 บาท และกำกับราคาปุ๋ยไม่ให้สูงขึ้น โดยเดือนม.ค. 65 การนำเข้าปุ๋ยติดลบ 48% เดือน ก.พ. ติดลบ 51% ซึ่งถ้าปล่อยให้สถานการณ์นี้เกิดขึ้นต่อไป จะต้องมาแก้ปัญหาเรื่องปุ๋ยขาดแคลนซ้ำซ้อน
ดังนั้น จึงต้องสร้างสมดุลทั้งเรื่องราคาและปริมาณ ให้นำเข้าปุ๋ยได้ แต่ต้องผ่อนปรนเรื่องราคา จึงต้องปรับกระบวนการใหม่ ให้พิจารณาว่าจะอนุญาตให้ขายราคาไหนให้ดูจากต้นทุน โดยมี 4 เรื่องประกอบการพิจารณา คือ 1. เอาต้นทุนนำเข้าเป็นตัวตั้ง 2. ดูต้นทุน 3. ระบบบริหารจัดการ และ 4. กำไรไม่เกิน 1.6% ทั้งนี้ ได้นำกระบวนการใหม่มาใช้ในการดำเนินการแล้ว โดยในเดือนมี.ค. การนำเข้าปุ๋ยเพิ่ม 59% เม.ย. เพิ่ม 29% ซึ่งขณะนี้มีปุ๋ยเพิ่มมากขึ้นแล้ว เหลือแต่เรื่องราคาที่มีบางรายค้ากำไรเกินควร ซึ่งหากพบเจอต้องได้รับโทษดำเนินคดี
นายจุรินทร์ กล่าวว่า จากการที่นายกรัฐมนตรี ได้เดินทางไปเปิดสัมพันธ์ระหว่างไทย-ซาอุดิอาระเบีย กระทรวงพาณิชย์ จึงจะมีการเจรจากับผู้ส่งออกปุ๋ยรายสำคัญ ขอซื้อปุ๋ยในราคาพิเศษ มี 2 บริษัทรายใหญ่ยินดีที่จะเจรจากับไทย ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ได้เตรียมผู้นำเข้าที่จะไปหารือกับซาอุฯ ในสัปดาห์หน้าแล้ว โดยจะเจรจาซื้อปุ๋ย 3 ประเภท คือ 1. ยูเรีย 2.แอมโมเนียฟอสเฟต และ 3. โมโนแอมโมเนียมฟอสเฟต (MAP) รวมทั้งหมดปริมาณ 8 แสนตันโดยประมาณ
"ทั้งหมดแสดงให้เห็นว่า รัฐบาลพยายามจัดซื้อปุ๋ยที่มีราคาถูกที่สุดให้เกษตรกร นอกจากนี้ ยังมีแผนงานเจรจาซื้อปุ๋ยกับประเทศอื่นๆ อีกด้วย" นายจุรินทร์ กล่าว
นายจุรินทร์ ชี้แจงกรณีที่ผู้อภิปรายระบุว่า การขับเคลื่อนเศรษฐกิจขณะนี้จอดสนิททุกตัวนั้น ในเรื่องท่องเที่ยวอาจจะจริง เนื่องจากทั่วโลกต้องประสบปัญหาเหมือนกัน จากการปิดประเทศ แต่เมื่อเปิดประเทศมั่นใจว่าไทยจะกลับมาได้ทันที อย่างไรก็ตาม หากบอกว่าการส่งออกเครื่องยนต์จอดสนิทนั้น ผิดโดยสิ้นเชิง เนื่องจากในช่วงสถานการณ์โควิด วิกฤติเศรษฐกิจโลก สงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน วิกฤติรัสเซีย-ยูเครน ประเทศไทยเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่สามารถผลักดันการส่งออกได้ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อน GDP ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา
ทั้งนี้ ในปี 64 ตัวเลขส่งออกของไทยขยายตัว 17.1% นำเงินเข้าประเทศแล้ว 8.55 ล้านล้านบาท ส่วนปี 65 เพียง 4 เดือน (ม.ค.-เม.ย.) บวก 13.7% นำเงินเข้าประเทศแล้ว 3.22 ล้านล้านบาท นอกจากนี้ ตั้งเป้าว่าปีนี้จะได้มากกว่าปีที่แล้วอย่างน้อย 5 แสนล้านบาท เป็น 9 ล้านล้านบาท ดังนั้น การส่งออกยังคงเป็นตัวขับเคลื่อน GDP ที่สำคัญ และไม่ได้ดับสนิทอย่างที่กล่าวมา
สำหรับประเด็นที่ขณะนี้โลกกำลังเผชิญวิกฤติปัญหาขาดแคลนอาหารนั้น รัฐบาลให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ด้านกระทรวงพาณิชย์ได้ติดตามเรื่องนี้ตลอด แต่จะคิดแค่เพียงจะส่งสินค้าไปขายไม่พอ กระทรวงพาณิชย์คิดไกลกว่านั้น คือ ต้องมองทั้ง 2 ด้าน ขณะที่เห็นว่าเป็นโอกาสในการส่งออกอาหารไปทั่วโลก ก็ต้องดูไทยด้วยว่าหากส่งออกเพลิน สต็อกอาหารไทยไม่พอใช้ ก็อาจเกิดวิกฤติขึ้นมาได้ ดังนั้น รัฐบาลจึงต้องดูทั้ง 2 ด้าน คือ 1. อาหารในประเทศสต็อกต้องเพียงพอก่อน และ 2. ถ้าเหลือจึงส่งออก ซึ่งจะเป็นการได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย
ขณะเดียวกัน ได้ให้กระทรวงพาณิชย์วิเคราะห์ว่า ขณะนี้ที่หลายประเทศยกเลิกส่งออกอาหาร ไทยได้รับผลกระทบอย่างไรบ้าง ซึ่งพบว่า ประเทศที่ห้ามส่งออกอาหารส่วนใหญ่ เป็นประเทศที่ไทยไม่ได้นำเข้า หรือนำเข้าน้อยมาก ดังนั้น จึงยังไม่มีผลกระทบกับประเทศไทยในปัจจุบัน อย่างไรก็ดี ยังคงมีการเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง
นายจุรินทร์ กล่าวว่า ในส่วนของราคาพืชผลการเกษตร ปรับตัวดีขึ้นทุกตัว ทั้งข้าว มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ยางพารา และปาล์มน้ำมัน ส่วนผลไม้ก็มีราคาดี โดยกระทรวงพาณิชย์ได้ช่วยเหลือเกษตรกรแล้ว 6.99 แสนครัวเรือน ส่งออกปี 64 ที่ 250,162.20 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 39.26% โดยปัญหาการส่งออกไปจีนเหลือปัญหาน้อยมาก เนื่องจากปรับไปส่งออกทางเรือมากขึ้น
สำหรับประเด็นเรื่องความไม่หลากหลายของพันธุ์ข้าว กระทรวงพาณิชย์ได้มียุทธศาสตร์ข้าวไทยปี 2563-2567 ซึ่งมีแผนชัดเจนว่าภายใน 5 ปีนี้ต้องเพิ่มพันธุ์ข้าวให้ได้ 12 พันธุ์ ซึ่งในระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์ร่วมกับกระทรวงเกษตรฯ ส่งเสริมพันธุ์ข้าวได้ 6 พันธุ์แล้ว นอกจากนี้ ในปี 64 ไทยส่งออกข้าวได้ 1.6 ล้านตัน แต่ปีนี้จะส่งออกข้าวได้มากขึ้น จากความหลากหลายของพันธุ์ข้าว และราคาที่สามารถแข่งขันได้ จึงเพิ่มเป็น 1.7-1.8 ล้านตัน ซึ่งผลคือจะช่วยให้ราคาข้าวปรับตัวดีขึ้นไปอีก
นายจุรินทร์ กล่าวถึงประเด็นเรื่อง Soft Power ว่า รัฐบาลได้ให้ความสำคัญ โดยภาพรวมได้มีการจัดตั้งสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ซึ่งมี Soft Power อยู่ในนั้นด้วย ด้านกระทรวงวัฒนธรรมก็ได้ทำหน้าที่อนุรักษ์สืบสาน Soft Power ขณะที่กระทรวงพาณิชย์ ได้ให้กรมส่งเสริมการส่งออก ทำแผนส่งออก Soft Power ปี 66 ทั้งหมด 4 สินค้าหลักที่ใส่ Soft Power เข้าไป คือ 1. อาหาร ร้านอาหารไทยในต่างประเทศ 2. สุขภาพความงาม 3. สินค้าที่มีลักษณะสร้างสรรค์ เช่น ของตกแต่งบ้าน และ 4. ดิจิทัลคอนเทนต์ ทั้งภาพยนตร์ ละคร เพลง หรือแอนิเมชัน เป็นต้น