"เรื่องค่าแรงที่พูดถึง 400-425 ของพรรคพลังประชารัฐ ทำได้แน่นอนถ้าไม่เกิดโควิด เพราะขึ้นปีละ 6-7% แต่พอสถานการณ์โควิด คนใช้ ม.75 ถึง 2 ล้านกว่าคน ถ้าเกิดขึ้นค่าแรงวันนั้น คน 2 ล้านคนจะอยู่รอดหรือไม่ พออยู่ไม่รอดง บที่จะลงทุน งบต่างๆ ก็ต้องมาอุ้มคนตกงาน นี่คือสิ่งที่ต้องบริหารจัดการ ถ้าผมเป็นนักการเมืองไม่เห็นแก่ 3-4 ปีข้างหน้า เรื่องขึ้นค่าแรงไม่ยาก แต่ขึ้นไปแล้วทำลายประเทศหรือไม่ ใครจะลงทุนในประเทศนี้"นายสุชาติ กล่าว
รมว.แรงงาน กล่าวว่า เมื่อเข้ามารับตำแหน่งปลายปี 63 ทราบดีว่าต้องมีการปรับค่าแรง แต่ต้องมีการกำหนดอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือมาเป็นเกณฑ์พิจารณา และในปี 64 มีการเสนอการกำหนดอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงานเพิ่มเติม จำนวน 13 สาขา รวมเป็น 96 สาขา และปี 65 เสนอเพิ่มเติม 16 สาขา รวม 112 สาขา ซึ่งใน 112 สาขาอาชีพที่ได้รับการรับรองมีอัตราค่าแรงสูงสุดที่ 885 บาท เป็นช่างเชื่อมระดับ 3 และค่าแรงต่ำสุด 345 บาทเป็นช่างเย็บผ้า ไม่ใช่ค่าแรงขั้นต่ำที่เสมอภาคกันหมด แต่หากใครมีทักษะ ฝืมือผ่านการอบรม มีการปรับตามหลักเกณฑ์วิชาชีพ
ในช่วงโควิด-19 เกิดปัญหาไม่สามารถนำวัตถุดิบจากต่างประเทศได้ ทำให้โรงงานผู้ประกอบการต้องใช้พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ม.75 จ่ายค่าแรง 75% ดังนั้น ระหว่างปี 63-65 จึงยังไม่มีการปรับขึ้นค่าแรง และเมื่อปี 64 มีการประชุมคณะกรรมการพิจารณาค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัด ไตรภาคี ได้ข้อสรุปว่าควรพิจารณาปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเมื่อสถานการณ์คลี่คลายกลับเข้าสู่ภาวะปกติ และเศรษฐกิจฟื้นตัว ซึ่งทั้งฝ่ายนายจ้างและลูกจ้างเห็นด้วย
"การขึ้นค่าแรงโดยไม่มีหลักเกณฑ์ ทำให้นักลงทุนไม่กล้าลงทุนในประเทศไทย เพราะนักลงทุนไม่มั่นใจว่า จะมีการขึ้นค่าแรงอีกหรือไม่"นายสุชาติ กล่าว