นายกฯ ย้ำจัดงบตามสถานการณ์ กู้เงินเพื่อเยียวยาโควิด-ต่อยอดโครงสร้างพื้นฐาน

ข่าวการเมือง Thursday June 2, 2022 18:04 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ชี้แจงต่อที่ประชุมสภาฯ วาระพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 ยืนยันว่า ยินดีรับฟังความคิดเห็นของสมาชิกทุกคน ซึ่งหลายอย่างต้องให้รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องได้ชี้แจงในรายละเอียด แม้จะใช้งบประมาณขาดดุล หรือมีการกู้เงินในช่วงนี้ จำนวนหนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้นส่วนหนึ่งมาจากเงินกู้ 1.5 แสนล้านบาท เพื่อให้การช่วยเหลือประชาชนจากสถานการณ์โควิด-19 หากไม่ต้องใช้ยอดนี้มาดูแลชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน หนี้สาธารณะคงไม่สูงถึง 60%

อย่างไรก็ตาม การเกิดวิกฤติโรคระบาดโควิด-19 ตั้งแต่ปี 63 ซึ่งเป็นวิกฤติโลกและเป็นมหาวิกฤติครั้งที่ใหญ่ที่สุด นับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อการถดถอยทางเศรษฐกิจของทุกประเทศในโลก รวมถึงประเทศไทย ประเทศไทยต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก ในการเยียวยาช่วยเหลือประชาชน ถึงแม้ว่าจะเป็นประเทศที่ขนาดเศรษฐกิจไม่ใหญ่มาก แต่รัฐบาลทำทุกวิถีทาง นโยบายต่าง ๆ ที่ออกมา ได้คำนึงถึงการสร้างความสมดุล ทั้งมิติด้านสุขภาพและมิติทางเศรษฐกิจมาโดยตลอด

"รัฐบาลยอมเป็นนักกู้อย่างที่ท่านกล่าว แต่กู้มาเยียวยาช่วยเหลือประชาชน กว่า 40 ล้านราย ช่วยเหลือผู้ประกอบการและแรงงานต่าง ๆ ถ้าไม่นับเงินกู้โควิด 1.5 ล้านล้านบาท ที่รัฐบาลกู้มาเพื่อใช้ในงานด้านรักษา-วัคซีน-เยียวยาประชาชนแล้ว หนี้สาธารณะต่อ GDP ก็จะอยู่ที่ประมาณ 52.84% แต่เมื่อรวมเงินกู้โควิดแล้ว หนี้สาธารณะต่อ GDP ก็ยังอยู่ที่ 60.58% ถึงแม้จะสูงขึ้น แต่ก็ทำเพื่อประชาชน และหลายประเทศก็ตัวเลขสูงกว่าไทยมาก และยังอยู่ในกรอบความยั่งยืนของการคลังตามกฎหมาย ได้รับการจัดอันดับที่ดีจากสถาบันการเงิน การคลังระหว่างประเทศหลายแหล่ง ยังคงระดับความน่าเชื่อถือการเงินการคลังของประเทศไทย โดยในการใช้จ่ายก็ได้ทยอยใช้หนี้ไปตามระเบียบทุกประการ ทุกปี ซึ่งยังมีความเชื่อมั่นจากหลายประเทศในเรื่องเศรษฐกิจของเรา"

นอกจากนี้ในช่วงที่เกิดวิกฤติโควิด-19 รัฐบาลได้ส่งเสริมสังคมไร้เงินสด การพัฒนาแพลตฟอร์มเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนนโยบายและการพัฒนาต่าง ๆ จนประสบความสำเร็จ ปฏิบัติการได้จริง เช่น โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โครงการพร้อมเพย์ และ QR Payment เป็นการชำระเงินผ่านอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเชื่อมโยงกับหมายเลขโทรศัพท์เคลื่อนที่ หรือหมายเลขบัตรประจำตัวประชาชน โดยไม่มีค่าธรรมเนียม แอปพลิเคชันถุงเงิน สำหรับ SME ขนาดเล็ก การใช้จ่ายเงินดิจิทัล ผู้เข้าร่วมโครงการผ่านแอปพลิเคชันเป๋าตังกว่า 50 ล้านคน รวมถึงร้านค้าและ SME ที่เข้าร่วมโครงการผ่านแอปพลิเคชันถุงเงิน ในโครงการคนละครึ่ง เราเที่ยวด้วยกัน ชิม ช้อป ใช้ เหล่านี้เป็นต้น

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สิ่งที่รัฐบาลได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องคือ การเตรียมความพร้อมการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ทั่วประเทศเกิดการลงทุนจริง เชื่อมโยงแต่ละภาคของประเทศ และเชื่อมต่อภูมิภาคอาเซียน ทุกทิศทาง ได้แก่ ทางถนน ในปี 57 มีเส้นทางหลัก 4,271 กิโลเมตร ปี 2564 เพิ่มเป็น 11,583 กิโลเมตร มอเตอร์เวย์ สร้างเพิ่ม 3 เส้นทางสำคัญ คือ บางปะอิน-โคราช บางใหญ่-กาญจนบุรี และพัทยา-มาบตาพุด

ทางราง รถไฟฟ้า (กทม.และปริมณฑล) สร้างเพิ่ม 10 สาย ระยะทางรวม 204.9 กิโลเมตร อยู่ระหว่างการพิจารณาอีก 2 สาย นอกจากนี้ ยังมีรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน และรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ที่อยู่ระหว่างดำเนินการ โดยเป็นไปตามกำหนดการที่วางไว้ รวมถึงสถานีกลางบางซื่อที่จะเป็นชุมทางรถไฟขนาดใหญ่ ทันสมัยที่สุดในอาเซียน เพื่อเชื่อมโยงรถไฟทางไกล-รถไฟความเร็วสูง-รถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ-รถไฟชานเมือง?สถานี บขส. และสนามบิน

สำหรับทางน้ำ รัฐบาลได้เตรียมการเพิ่มศักยภาพรองรับปริมาณการขนส่งทางน้ำ จากเดิมปี 57 ประมาณ 279 ล้านตัน ปี 2564 เพิ่มเป็น 355 ล้านตัน โดยพัฒนาท่าเรือมาบตาพุด และท่าเรือแหลมฉบัง เปิดเดินเรือเฟอร์รี่ "พัทยา-หัวหิน" ใช้เวลา 2 ชั่วโมง เพื่อเชื่อมแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ ละลดเวลาในการเดินทาง ในทางอากาศ มีการปรับปรุงสนามบินทั่วประเทศ เพิ่มศักยภาพการรองรับผู้โดยสาร จากเดิมปี 57 รองรับ 118 ล้านคน ในปี 64 เพิ่มเป็น 139 ล้านคน และจะเพิ่มขึ้นต่อไป

นอกจากนี้ รัฐบาลได้สานต่อนโยบายการส่งเสริม 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2558 ใช้งบประมาณมาตามลำดับ โดยการต่อยอด-ยกระดับ 5 อุตสาหกรรมเดิมที่ไทยมีศักยภาพ และการต่อยอด 7 อุตสาหกรรมใหม่ (New S-curve) ที่เป็นแนวโน้มของโลกในอนาคต ได้แก่ หุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรม การบินและโลจิสติกส์ เชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ ดิจิทัล การแพทย์และสุขภาพครบวงจร การป้องกันประเทศ การพัฒนาบุคลากรและการศึกษาเพื่อรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ เพื่อทำให้ประเทศไทยสามารถสร้างฐานรายได้และการจ้างงานใหม่ รวมทั้งการขยายโอกาสทางการค้าและการลงทุนในเวทีโลก

ในส่วนของโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เกิดขึ้นเพื่อเป็นพื้นที่ การลงทุนและแหล่งบ่มเพาะ 12 อุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ โครงการโครงสร้างพื้นฐานของ EEC ได้รับการพัฒนาแบบบูรณาการ เพื่อเป็นประตูสำคัญ ที่เชื่อมโยงการคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ของไทย ทั้งทางบก ทางราง ทางน้ำ และทางอากาศ ในการเชื่อมโยงกับประเทศต่าง ๆ ทั้งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเอเชียแปซิฟิก ทำให้เกิดการกระจายรายได้ การจ้างงาน ให้กับผู้ประกอบการรายย่อย SME ร้านค้า ชุมชน ต่าง ๆ เป็นวงกว้าง ทั้งในระดับฐานรากไปจนถึงระดับประเทศ

นอกจากนี้ มีการพัฒนา "เมืองแห่งนวัตกรรม" หรือเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) ให้เป็น "ซิลิคอนวัลเลย์" ของเมืองไทย และ "เมืองใหม่อัจฉริยะด้วยนวัตกรรม" หรือเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (EECd) ปัจจุบันการดำเนินงานมีความก้าวหน้าตามลำดับ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ