สร้างอนาคตไทย จี้รัฐบาลพึงตระหนัก 5 ข้อ หลังประกาศโควิดเป็นโรคประจำถิ่น

ข่าวการเมือง Sunday June 26, 2022 13:35 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สร้างอนาคตไทย จี้รัฐบาลพึงตระหนัก 5 ข้อ หลังประกาศโควิดเป็นโรคประจำถิ่น

นพ.จรุง เมืองชนะ อดีตผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ในฐานะกรรมการนโยบายพรรคสร้างอนาคตไทย กล่าวว่า แม้ว่ารัฐบาลจะประกาศให้โควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น โดยอนุญาตให้ประชาชนดำเนินชีวิตและเดินทางได้อย่างปกติ เพื่อลดผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมเช่นเดียวกับนานาประเทศทั่วโลกแล้ว แต่เนื่องจากโรคดังกล่าวเป็นโรคที่ติดต่อโดยง่าย และมีแนวโน้มเสี่ยงต่อการกลายพันธุ์ ดังนั้น จึงขอเรียกร้อง 5 ข้อหลักสำคัญที่รัฐบาลควรจะต้องดำเนินอย่างต่อเนื่องโดยไม่ละเลย เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากสถานการณ์โรคไวรัสโควิด 19 ที่อาจจะกลับมารุนแรงสร้างผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชน ระบบสาธารณสุข และระบบเศรษฐกิจของประเทศ ดังนี้

1. เรียกร้องให้กระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการเก็บข้อมูลการป่วย การตาย และการเปลี่ยนแปลงของเชื้อโรคชนิดนี้ให้เหมาะสมอย่างต่อเนื่อง ทั้งการเฝ้าระวังเชิงรุกและเชิงรับ ตลอดจนประสิทธิผล และความปลอดภัยของวัคซีนในระยะยาว และผู้ป่วยที่มีอาการป่วยโควิดเรื้อรัง

2. เรียกร้องให้กระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน ร่วมกันสื่อสารสร้างความเข้าใจอย่างทั่วถึง โดยใช้สื่อที่หลากหลายรูปแบบอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มคนชราหรือผู้ป่วยโรคเรื้อรังทั้งหลาย ซึ่งยังพบว่ายังมีอาการป่วยรุนแรง และเสียชีวิตอีกหลายร้อยคนในแต่ละวัน

3. รัฐควรสนับสนุนและแนะนำให้ประชาชนยังคงสวมหน้ากากอนามัย ใช้แอลกอฮอล์ เจลล้างและทำความสะอาดมือ และรักษาระยะห่างในทุกโอกาสที่สามารถทำได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้สูงอายุ และผู้ป่วยโรคเรื้อรังแม้ได้รับวัคซีนแล้ว ผู้ที่ยังไม่ได้รับวัคซีนหรือยังรับไม่ครบ ตลอดจนผู้ที่อาศัยร่วมบ้านกับกลุ่มเสี่ยงดังกล่าว เพราะอาจนำเชื้อมาแพร่ได้

4. กระทรวงสาธารณสุขควรทบทวนการรักษาโดยการเลือกใช้ยาต้านไวรัสที่มีประสิทธิภาพสูง ซึ่งได้รับการพิสูจน์แล้วอย่างชัดเจนและเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ ควรยุติการใช้ยาต้านไวรัสที่นานาชาติเลิกใช้แล้ว เพราะมีประสิทธิภาพต่ำเมื่อเทียบกับยาต้านไวรัสตัวอื่นที่สามารถจัดซื้อจัดหาได้

5. รัฐควรสนับสนุนส่งเสริม และติดตามความก้าวหน้าการพัฒนาวัคซีนภายในประเทศอย่างต่อเนื่อง ทั้งหน่วยงานผู้วิจัยพัฒนา การพัฒนาบุคลากร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ผู้ควบคุมกำกับ หน่วยโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนทบทวนมาตรการการจัดซื้อจัดหาและการสำรองวัคซีนล่วงหน้าที่มีประสิทธิภาพ และปฏิบัติได้ในทางกฎหมาย เพื่อยกระดับศักยภาพด้านวัคซีนและยาชีววัตถุ และความมั่นคงด้านวัคซีนและยาที่มีความสำคัญในระยาว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ