นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม กล่าวถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 50 ว่า ในความเห็นส่วนตัวแล้วต้องการให้มีการลงประชามติก่อนว่าเสียงของประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วยหรือไม่ที่จะให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้เพื่อที่จะให้การดำเนินการดังกล่าวเป็นไปตามความต้องการจากเสียงส่วนใหญ่ของประเทศ แต่ทั้งนี้เห็นว่าการทำประชามติอาจต้องใช้งบประมาณมากถึง 2 พันล้านบาท ซึ่งเป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณโดยใช่เหตุ
"ใจผม มันต้องถามกันเลย ลงประชามติไหมว่าแก้หรือไม่แก้ แต่มัน 2 พันล้าน ผมก็ไม่กล้า ถ้าทำแค่ 500 จะทำเลย ถ้าเสียงส่วนใหญ่บอกไม่แก้ ก็ไม่ต้องแก้ ถ้าส่วนใหญ่บอกต้องแก้ ก็แก้เลย ก็ให้เป็นความคิดไว้ แต่คงไม่เสนอ เพราะ 2 พันล้านมันเกินเหตุ" นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการสนทนาประสาสมัคร
นายกรัฐมนตรี ยังกล่าวด้วยว่า ในส่วนตัวแล้วเห็นว่าการจะแก้ไขรัฐธรรมนูญควรแก้ไขทั้งหมด ยกเว้นเพียงหมวด 1 สถาบันพระมหากษัตริย์ไว้ แต่เพื่อให้เกิดความรวดเร็วก็ต้องนำรัฐธรรมนูญฉบับปี 40 มาเทียบเคียง โดยเลือกเก็บไว้เฉพาะมาตราที่มีความเหมาะสม ส่วนใดที่ไม่เหมาะสมก็ตัดทิ้งไป และเลือกแก้ไขรัฐธรรมนูญเฉพาะในมาตราที่มีปัญหาก่อน
"ใจผมอยากจะทำทั้งหมด แต่เขาอยากจะให้มันเร็ว ก็ต้องแก้มาตราที่มีปัญหา ความคิดผมวิธีแก้ไขต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 50 แล้วเก็บหมวด 1 ไว้ หมวดพระมหากษัตริย์ไม่มีอะไรเสียหายทุกอย่างถูกต้อง แล้วเอาฉบับ 40 มาประกบ อะไรที่ 40 ไม่ดีก็ถอดออกไป อะไรที่ดีเก็บไว้" นายกรัฐมนตรี กล่าว
นายสมัคร กล่าวว่า การที่มีบางพรรคการเมืองออกมาไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น เชื่อว่าเป็นเพราะไม่ได้รับผลกระทบหรือไม่ได้รับความเดือดร้อนจากรัฐธรรมนูญปี 50 ซึ่งถ้าเป็นพรรคที่ได้รับผลกระทบจะทราบดีว่ามีความเดือดร้อนมากแค่ไหน
"ที่พูดน่ะ เพราะไม่โดนกับตัวเอง พรรคที่โดนกับตัวเองออกมาแล้ว ผมโดนก่อน คนที่โดนมันถึงจะรู้ว่าเจ็บแสบอย่างไร มันต้องมีเหตุผลที่จะดำเนินการอย่างนี้ ที่ทำกันมาเจตนาบอกได้ชัดว่าเขียนรัฐธรรมนูญออกมาเพื่อต้องการให้คนนี้มันตายไป แต่รัฐธรรมนูญออกมาแล้วดันไม่ตาย ก็ยังลากมาถึงป่านนี้ เพื่อจะเอากันให้ตาย" นายกรัฐมนตรี กล่าว
พร้อมกันนี้นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชาชน(พปช.) ยังห้ามไม่ให้ ส.ส.ของพรรคออกไปรวมกลุ่มสนับสนุนเพื่อต่อต้านการเคลื่อนไหวของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่จะจัดสัมมนาที่หอประชุมใหญ่ธรรมศาสตร์ในวันที่ 28 มี.ค.นี้ เพราะไม่ต้องการให้ตกไปเป็นเครื่องมือทางการเมือง โดยขอให้ประชาชนได้ตัดสินใจเองว่ากลุ่มไหนเป็นผู้สร้างปัญหาความเดือดร้อนให้แก่บ้านเมือง
"ผมต้องออกปากเลยในฐานะหัวหน้าพรรค อย่าออกไปเป็นเหยื่อไปเป็นเครื่องมือให้เขา ไม่ได้หน้าตาอะไรขึ้นมาหรอก ไม่ต้องต่อต้านดูซิว่าจะออกโรงกันเท่าไหร่ นั่งดูว่าจะทำอย่างไร...เราจะดูว่าคนทั้งบ้านทั้งเมืองจะเห็นว่า ตกลงใครมันดี ใครมันเลว ใครทำอะไรเสียหาย หรือว่าปฺฏิวัติยึดอำนาจทำได้ แต่ประชาธิปไตยเลือกตั้งมา มีคนทักท้วงว่าทำไม่ได้" นายกรัฐมนตรี กล่าว
--อินโฟเควสท์ โดย กษมาพร กิตติสัมพันธ์ โทร.0-2253-5050 อีเมล์: kasamarporn@infoquest.co.th--