นายวิรัตน์ มีนชัยนันท์ ประธานสภากรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยที่สาม (ครั้งที่ 1) ประจำปีพุทธศักราช 2565 โดยมีสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร และหน่วยงานของกรุงเทพมหานคร ร่วมประชุม
ผู้ว่าฯ กทม. ได้เสนอญัตติร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 พ.ศ. .... ซึ่งกรุงเทพมหานครได้ตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 จำนวน 79,000 ล้านบาท โดยเป็นการจัดทำงบประมาณแบบสมดุล (Balanced Budget Policy) เพื่อให้หน่วยงานต่างๆ ได้มีงบประมาณรายจ่ายสำหรับใช้เป็นหลักในการจ่ายเงินของกรุงเทพมหานคร
พร้อมระบุว่า การจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2566 เริ่มกระบวนการตั้งแต่วันที่ 15 พฤศจิกายน 64 ซึ่งตนได้เข้ารับตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 65 โดยเป็นช่วงที่ร่างข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 ของกรุงเทพมหานครแล้วเสร็จ และจัดส่งให้สภากรุงเทพมหานครเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 65 ร่างข้อบัญญัติดังกล่าวที่นำเสนอต่อสภากรุงเทพมหานครได้พิจารณาจากเหตุผลความจำเป็นของการใช้จ่ายงบประมาณ ตามภารกิจ อำนาจหน้าที่ของหน่วยรับงบประมาณ เพื่อให้เกิดความคุ้มค่า ประหยัด และคำนึงถึงผลสัมฤทธิ์ และประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากการใช้จ่ายงบประมาณ สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ ตลอดจนแผนเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 แผนพัฒนากรุงเทพมหานคร ระยะ 20 ปี แผนปฏิบัติราชการกรุงเทพมหานคร ประจำปี พ.ศ. 2566 เป็นต้น
"การพิจารณางบประมาณส่วนหนึ่งในเวลาจำกัด ยังได้ปรับให้สอดคล้องกับบางส่วนวิสัยทัศน์การบริหารจัดการของผม คือ กรุงเทพฯ เมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน ซึ่งได้นำดัชนีชี้วัดเมืองน่าอยู่ The Global Liveability Index ของ EIU (The Economist Intelligence Unit) เป็นฐานคิดในการพัฒนานโยบายจนนำมาสู่นโยบาย 9 มิติ แผนพัฒนา กว่า 200 ข้อ โดยนโยบาย 9 มิติ ประกอบด้วย มิติสิ่งแวดล้อมดี มิติสุขภาพดี มิติเดินทางดี มิติปลอดภัยดี มิติบริหารจัดการดี มิติโครงสร้างดี มิติเศรษฐกิจดี มิติสร้างสรรค์ดี และมิติเรียนดี" ผู้ว่าฯ กทม.กล่าว
สำหรับงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 สามารถจำแนกด้านตามลักษณะ ดังนี้
การจัดบริการของสำนักงานเขต 17,411.34 ล้านบาท คิดเป็น 22.04%
ด้านเมืองและการพัฒนาเมือง 10,559.04 ล้านบาท คิดเป็น 13.37%
ด้านการบริหารจัดการและบริหารราชการกรุงเทพมหานคร 14,508.62 ล้านบาท คิดเป็น18.36
ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 10,117.73 ล้านบาท คิดเป็น 12.81%
ด้านสาธารณสุข 2,011.80 ล้านบาท คิดเป็น 2.55%
ด้านพัฒนาสังคมและชุมชนเมือง 933.52 ล้านบาท คิดเป็น 1.18%
ด้านเศรษฐกิจและการพาณิชย์ 193.95 ล้านบาท คิดเป็น 0.25%
ด้านความปลอดภัยและความเป็นระเบียบเรียบร้อย 166.35 ล้านบาท คิดเป็น 0.21%
ด้านการศึกษา 644.11 ล้านบาท คิดเป็น 0.81%
รายจ่ายเพื่อชดใช้เงินยืม เงินสะสม 5,128.80 ล้านบาท คิดเป็น 6.49%
รายจ่ายเพื่ออุดหนุนหน่วยงานในกำกับ 2,954.01 ล้านบาท คิดเป็น 3.74%
รายจ่ายงบกลาง 14,370.73 ล้านบาท คิดเป็น 18.19%
นอกจากนี้ ที่ประชุมสภากทม. ยังได้มีวาระพิจารณาญัตติ เรื่อง ขอให้กรุงเทพมหานครเร่งรัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาเขต(ส.ข.) ตามที่นายนภาพล จีระกุล และนายสุทธิชัย วีรกุลสุนทร เป็นผู้เสนอ
นายนภาพล กล่าวว่า ส.ก. และ ส.ข. เป็นผู้ที่ทำหน้าที่ใกล้ชิดกับประชาชนมาก เป็นการกระจายอำนาจให้ประชาชนเลือกผู้แทนมาตรวจสอบในระดับล่างสุด ที่ผ่านมารัฐธรรมนูญ และกฎหมายหลายฉบับ ได้ให้ความสำคัญกับการกระจายอำนาจค่อนข้างมาก และการเลือกตั้งถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนชาวไทย หลายเขตมีพื้นที่กว้างใหญ่แต่มี ส.ก.เพียงคนเดียว การเปิดโอกาสให้มีส.ข.จะเป็นเสียงสะท้อนปัญหาในพื้นที่จากประชาชนโดยตรง นำมาสู่การแก้ไขโดยเร็ว
นายสุทธิชัย กล่าวว่า กทม.เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ ซึ่งผู้ว่าฯ กทม. และส.ก. จะมาจากการเลือกตั้ง ที่ผ่านมาประชาชนได้สอบถามและแจ้งเรื่องร้องเรียนในพื้นที่ผ่านทาง ส.ข. เพื่อให้ ส.ข.นำประเด็นไปประชุมที่เขต เพื่อให้นำไปสู่การแก้ไข เมื่อชาวบ้านไม่มีที่พึ่ง ถึงเวลาที่ควรมี ส.ข.กลับมาดูแลกรุงเทพฯ อีกครั้ง
ด้านนายชัชชาติ ระบุว่า จะมีการนำประเด็นการเลือกตั้ง ส.ข.กลับมาทบทวน และเห็นว่า ส.ข.ยังมีความจำเป็นในการดูแลพื้นที่เชิงลึก โดยจะนำรายละเอียดกลับมาพิจารณาอีกครั้ง
สำหรับการอภิปรายในช่วงบ่ายมีการอภิปรายในประเด็นต่างๆ อาทิ ประเด็นของความเป็นไปได้ของการจัดเก็บภาษีป้ายแบบขั้นบันได เพื่อบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน การจัดเก็บภาษีป้าย ป้าย LED ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตการติดตั้งป้ายโฆษณา หากเก็บภาษีเพิ่มได้เชื่อว่าภาษีจะเข้า กทม. มากขึ้นกว่า 4,000-5,000 ล้านบาท