การอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลของพรรคร่วมฝ่ายค้านภายใต้ยุทธการ "เด็ดหัว สอยนั่งร้าน" ในวันที่ 19-22 ก.ค.และกำหนดลงมติวันที่ 23 ก.ค.นี้ โดยมีเป้าหมายหลัก คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรี 10 คนจาก 3 พรรคร่วมรัฐบาล จากพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) พรรคภูมิใจไทย (ภท.) และพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.)
กลุ่ม 3 ป.จะถูกอภิปรายครบทุกคน ตามข้อกล่าวหา 6 ข้อ อาทิ ความผิดพลาดบกพร่องบริหารราชการแผ่นดิน, ฝ่าฝืนจริยธรรม, ละเมิดสิทธิ, ส่อทุจริต เอื้อประโยชน์, ไม่ปฏิบัติตามที่แถลงต่อสภา และทำลายระบบประชาธิปไตย
ตัวอย่างข้อกล่าวหารายบุคคล
- กรณีการบริหารจัดการวิกฤติการแพร่ระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่ปี 2562 จนถึงปัจจุบัน
- ปัญหาวิกฤติพลังงานที่ส่งผลกระทบค่าครองชีพ ราคาน้ำมัน ค่าไฟ ก๊าซหุงต้มขึ้นราคา
- ปัญหาเงินเฟ้อพุ่งทำสถิติสูงสุดรอบ 14 ปี
- ประชาชนหนี้ท่วม
- การจัดทำร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 2565 ที่ส่งผลให้งบลงทุนต่ำกว่า 20% ขัดต่อ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ
- โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ที่ผ่านมาครึ่งทางแล้วยังไม่มีความคืบหน้าเท่าที่ควร
- โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี เอื้อประโยชน์เอกชน
- โครงการจัดซื้อเรือดำน้ำไร้เครื่องยนต์
- โครงการจัดหาอากาศยานไร้คนขับ (UAV) ที่ไม่มีอาวุธ
- โครงการจัดซื้อเครื่องบินรบ F35 ไม่มีอาวุธ
- การปล่อยให้เครื่องบินรบของเทียนมารุกล้ำน่านฟ้าบริเวณหมู่บ้านวาเลย์ที่อยู่ชายแดนจังหวัดตาก
- การเตรียมให้ประทานบัตรทำเหมืองแร่โปแตซที่จังหวัดอุดรธานี
- การทุจริตคอร์รัปชั่น กรณีจัดซื้อ iPad ให้ข้าราชการสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (สลน.) 130 เครื่อง เป็นเงิน 10 ล้านบาท
- สร้างเรื่องใหม่กลบเรื่องเก่า เรื่องคนจนจะหมดประเทศ 8 ปี
- การแก้ไขปัญหาค้ามนุษย์
- ปัญหาอุทกภัย
- ปมการขยายอายุสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว
- กรณีที่ไม่สามารถแก้ปัญหาเรื่องแก๊งคอลเซ็นเตอร์
- การปิดกั้นเสรีภาพประชาชน
- กรณีส่อทุจริตประมูลโครงการท่อส่งน้ำในพื้นที่อีอีซี มูลค่า 25,000 ล้านบาท ภายใต้กรมธนารักษ์ ซึ่งเกิดข้อครหาเรื่องความไม่โปร่งใสในการประมูลคัดเลือก
- ค่าจ้างบำรุงรักษากล้อง CCTV กรมศุลกากร
- ค่าจ้างบำรุงรักษาซ่อมเครื่องบำรุงตรวจสอบตู้คอนเทนเนอร์
- กรณีการแก้ปัญหาโควิด-19 ล้มเหลว
- การเปิดเสรีกัญชง-กัญชา โดยปลดล็อกให้พ้นจากยาเสพติด แต่กลับไม่มีกฎหมายลูกรองรับ ทำให้เกิดสุญญากาศ
- ข้อหาดูด ส.ส. กรณีที่มี ส.ส.พรรคเพื่อไทย เตรียมย้ายไปสังกัดพรรคภูมิใจไทยเพื่อลงเลือกตั้งครั้งหน้า
- กรณีการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์)
- กรณีกรมที่ดินไม่ได้เพิกถอนโฉนดที่ดินเขากระโดงใน จ.บุรีรัมย์
- เรื่องสินค้าอุปโภคบริโภคในประเทศที่มีราคาแพง, ค่าครองชีพสูงขึ้น
- ผลผลิตเกษตรราคาตกต่ำ
- คดีค้ามนุษย์ที่ จ.สุราษฎร์ธานี
- กรณีไม่จ่ายค่ารถซ่อมบำรุงทางอเนกประสงค์ 2 คันให้แก่บริษัทเอกชน สมัยเป็นนายก อบจ.สงขลา
- กรณีเขากระโดง การรุกป่าเขาใหญ่ ในฐานะดูแลกรมที่ดิน
- ค่าหัวคิวแรงงานต่างด้าว
โดยในการอภปิรายฯ รอบนี้ ซึ่งถือเป็นครั้งสุดท้ายของรัฐบาล ฝ่ายค้านตั้งเป้าหยุดยั้งการบริหารงานของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ แม้ยอมรับว่ามีโอกาสน้อยมากที่จะชนะเสียงข้างมากในสภา แต่คาดหวังผลการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง โดยได้มีการปรับแผนกำหนดลำดับรัฐมนตรีที่ถูกอภิปราย
วันแรกจะเริ่มที่ นายอนุทิน เป็นคนแรก ต่อด้วยนายศักดิ์สยาม , นายสุชาติ, นายจุรินทร์ และ นายจุติ
สำหรับวันที่สองจะเริ่มจาก นายนิพนธ์ , นายชัยวุฒิ ,นายสันติ , พล.อ.ประวิตร , พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา และปิดท้ายด้วย พล.อ.ประยุทธ์ ที่จะถูกอภิปรายถึง 30 ชั่วโมง
อย่างไรก็ตาม ต้องติดตามว่าจะมีการเปิดเผยข้อมูลในเรื่องอื่นๆ เพิ่มเติมจากที่มีการเก็งข้อสอบไว้ข้างต้นหรือไม่ เนื่องจากในการอภิปรายฯ รอบนี้ พรรคร่วมฝ่ายค้านไม่ต้องการให้เกิดข้อสอบรั่ว จนทำให้บรรดารัฐมนตรีจับทางถูกและเตรียมข้อมูลมาโต้แย้งได้