นพ.วาโย ชี้ปลดล็อกกัญชาพาประเทศเสี่ยง เชื่อ อนุทิน จงใจสร้างสุญญากาศทางกม.

ข่าวการเมือง Tuesday July 19, 2022 15:36 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นพ.วาโย อัศวรุ่งเรือง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวอภิปรายไม่ไว้วางใจนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข (สธ.) โดยพุ่งประเด็นไปที่นโยบายการเปิดเสรีกัญชา โดยเห็นว่าเป็นการเอาชีวิตของประชาชน โดยเฉพาะผู้ที่เป็นเด็กและเยาวชนเข้ามาเสี่ยง นอกจากนี้ยังสร้างความเสี่ยงที่จะเกิดการสูญเสียต่อประเทศ ทั้งด้านเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว การทูต และความเสี่ยงจากการถูกนานาชาติ Sanction จากนโยบายกัญชาเสรีในครั้งนี้

พร้อมมองว่านายอนุทิน จงใจอย่างชัดเจนที่จะทำให้เกิดสุญญากาศในการบังคับใช้กฎหมายกัญชา ทั้งๆ ที่สามารถปิดช่องโหว่นี้ได้ด้วยการออกประกาศโดยใช้อำนาจของ รมว.สาธารณสุข ที่มีอยู่ เพื่อเลื่อนเวลาการบังคับใช้กฎหมายในการเปิดเสรีกัญชาออกไปก่อนได้จากวันที่ 9 มิ.ย. 65 แต่นายอนุทิน ก็ไม่ดำเนินการ

ขณะเดียวกัน กลับแสร้งว่ามีการควบคุมแล้วในช่วงสุญญากาศ ด้วยการออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง การกำหนดให้การกระทำให้เกิดกลิ่น หรือควันกัญชา กัญชง เป็นเหตุรำคาญ โดยให้เจ้าพนักงานสามารถออกคำสั่งเป็นหนังสือ เพื่อระงับหรือควบคุมเหตุรำคาญต่างๆ ได้ รวมทั้งกรณีการออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข ในการให้กัญชาเป็นสมุนไพรควบคุม

นพ.วาโย ยังตั้งข้อสังเกตด้วยว่า ในการกำหนดให้กัญชาเป็น "สมุนไพรควบคุม" ซึ่งมีสาระสำคัญ 4 การกระทำที่จะต้องขอรับใบอนุญาตก่อน ซึ่งได้แก่ 1.การวิจัย 2.การส่งออก 3.การจำหน่าย และ 4.การแปรรูปเพื่อการค้านั้น ระเบียบขั้นตอนและวิธีการขอรับใบอนุญาตดูเหมือนจะเป็นเรื่องที่ประชาชนทั่วไปไม่สามารถทำได้ ซึ่งคงมีแต่นายทุนใหญ่ที่น่าจะทำได้

นพ.วาโย ยังไม่เชื่อที่นายอนุทิน บอกว่าเป็นความผิดพลาดทางเทคนิค ทำให้ไม่สามารถออกกฎหมายได้ทัน จนทำให้เกิดช่วงสุญญากาศในการบังคับใช้กฎหมาย เพราะในความเป็นจริงนั้น เชื่อว่านายอนุทิน รู้ดีแก่ใจอยู่แล้วว่าสภาฯ จะไม่สามารถพิจารณากฎหมายได้ทัน เพราะเหลือระยะเวลาอีกเพียงไม่นานจะปิดสมัยประชุมสภาฯ

"ท่านรู้อยู่แก่ใจว่ายื่นแบบนี้ มันไม่ทันแน่ ยื่นก่อนที่จะปิดสมัยประชุมสภาฯ ไม่นาน แล้วสภาฯ ก็ปิดสมัยประชุมถึง 3 เดือน แต่ยื่นตอนเหลือเวลาอีก 1 เดือน ไม่มีทางที่กฎหมายควบคุมจะออกมาทัน เป็นไปไม่ได้" นพ.วาโย กล่าว

นพ.วาโย ยังชี้ให้เห็นถึงประกาศจากสมาคมประสาทวิทยาแห่งประเทศไทย ต่อการใช้สารสกัดจากกัญชาในการรักษาโรคทางระบบประสาทต่าง ที่พบว่ายังไม่มีข้อมูลสนับสนุนถึงประสิทธิภาพในการรักษา และยังไม่มีข้อมูลมากพอ ที่จะสนับสนุนถึงประสิทธิภาพในการใช้สารสกัดจากกัญชาเพื่อบำบัดรักษาหรือลดอาการของโรค/ภาวะต่างๆ ได้ เช่น ภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็ง และอาการปวดจากโรคปลอกประสาทอักเสบ (MS), ภาวะสมองเสื่อม หรืออัลไซเมอร์, โรคพาร์กินสัน, โรคลมชัก, โรคปวดศรีษะที่ไม่มีสาเหตุอื่น, โรคนอนไม่หลับ, โรคหลอดเลือดสมอง เป็นต้น

ในขณะที่แพทยสภา ได้ออกคำแนะนำและข้อห่วงใยต่อการใช้กัญชาของประชาชน ทั้งในกรณีของการบำบัด รักษาโรค หรือภาวะต่างๆ เช่น ไม่ใช้กัญชาในลำดับแรกในการรักษาโรค แต่จะใช้เมื่อไม่สามารถใช้ยามาตรฐานอื่นรักษาหรือควบคุมอาการ/ภาวะของโรคได้, ไม่ใช้กัญชาในหญิงตั้งครรภ์ หรือหญิงให้นมบุตร, ไม่ผสมกัญชา/กัญชง ในอาหาร หรือขนม, ไม่ใช้กัญชา/กัญชง เพื่อนันทนาการโดยเด็ดขาด, ไม่ใช่ช่อดอกของกัญชา เพราะมีสารเสพติด ซึ่งจะทำให้สุขภาพทรุดโทรมลงได้มาก แต่สามารถ "ใช้" เฉพาะสารสกัดกัญชาที่ทราบปริมาณแน่นอนของสาร CBD และ THC ในการรักษาโรคตามข้อบ่งใช้จากแพทย์ที่ผ่านการอบรมเท่านั้น

นอกจากนี้ ยังมีรายงานจาก World Drug Report 2022 ของ UNODC ที่หากเปิดให้การใช้กัญชาถูกกฎหมายจะทำให้เกิดสิ่งต่างๆ เหล่านี้ 1. ผู้ใช้กัญชามากขึ้น 2. มีผู้ป่วยจากการใช้กัญชาเพิ่มขึ้น และ 3.ผู้ป่วยซึมเศร้าเพิ่มขึ้น และมีการฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้น

นพ.วาโย ยืนยันว่า ตนและพรรคก้าวไกลไม่ได้ต่อต้านหรือคัดค้านการใช้กัญชาทางการแพทย์ รวมทั้งไม่ได้คัดค้านด้วยว่าในปลายทางของการเปิดเสรีกัญชาจะนำไปสู่จุดที่ถึงขั้นเปิดคาเฟ่กัญชาได้ แต่สิ่งที่พรรคก้าวไกลอยากจะเรียกร้อง คือ ต้องการให้มีกระบวนการทางกฎหมายที่รัดกุม และปกป้องทั้งฝั่งคนที่ไม่ใช้กัญชา และฝั่งของคนที่ใช้กัญชาด้วย

"เราไม่ได้มีปัญหากับกัญชาทางการแพทย์ ไม่ว่าปลายทางจะไปสุดที่ไหน ก็ขอให้คุมให้ถูกต้อง?แต่ปัญหาคือ รมว.สาธารณสุข ทำให้ประเทศไทยมาอยู่ในจุดที่เสี่ยงกับความเสียหายทั้งในประเทศ และระหว่างประเทศ" นพ.วาโย กล่าว

ด้านนายกูเฮง ยาวอหะซัน สมาชิกผู้แทนราษฎร นราธิวาส พรรคประชาชาติ กล่าวอภิปรายไม่ไว้วางใจ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ในประเด็นกัญชาเสรีว่า การปลดล็อกกัญชาเสรีแม้จะถูกกฎหมายแต่เป็นการละเมิดในศาสนาอิสลาม เนื่องจากศาสนาอิสลามปลูกฝังตั้งแต่เด็กว่าห้ามยุ่งกับสิ่งอบายมุขทั้งปวง ทั้งนี้ ในการประชุมสภาเพื่อปลดล็อกกัญชา อ้างว่าเป็นการใช้เพื่อการแพทย์ อุตสาหกรรม และสันทนาการ แต่ไม่ได้ดูกฎหมายที่รองรับ เน้นแต่จะใช้เพื่อสร้างรายได้ อย่างไรก็ดี หน้าที่หลักของ รมว.สาธารณสุข ต้องรับผิดชอบสุขภาพของประชาชน ไม่ใช่เพื่อหารายได้เข้าประเทศแต่อย่างใด

"คนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่ชอบกัญชาเสรี ขอฝากให้นายกฯ ยุติเรื่องนี้ ชะลอเรื่องนี้ อย่าเพิ่งให้กัญชาแพร่ระบาดในสังคม ด้านจุฬาราชมนตรี ระบุว่า ให้มัสยิดชุมชนเป็นเขตปลอดสิ่งเสพติดรวมทั้งกัญชาด้วย ส่วนสมาพันธ์ครูในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ต่างก็พยายามออกมาพูดเรื่องผลกระทบของกัญชา และแสดงจุดยืนว่าไม่สนับสนุนกัญชา" นายกูเฮง กล่าว

อย่างไรก็ดี การปลดล็อกกัญชาเสรีนั้น ยังส่งผลให้เกิดปัญหาสังคม เช่น ในจังหวัดนราธิวาส สภาพสังคมส่วนมากมีปัญหาเรื่องยาเสพติดอยู่แล้ว และเมื่อมีการปลดล็อกกัญชาก็ยิ่งบานปลาย โดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชน นอกจากนี้ คนไทยยังถูกเพ่งเล็งจากต่างประเทศ โดยเฉพาะเพื่อนบ้าน เช่น ประเทศมาเลเซีย กังวลว่าคนไทยหรือนักท่องเที่ยวจะนำสินค้าที่มีกัญชาเข้าไปในประเทศเขาหรือไม่ เนื่องจากผิดกฏหมายของประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ