นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวอภิปรายไม่ไว้วางใจ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ประเด็นหจก.บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น ว่ามีความเกี่ยวข้องกับรมว.คมนาคม เนื่องจากเป็นธุรกิจที่ก่อตั้งด้วยตนเอง โดยในปี 58 ถือหุ้นใหญ่ เพิ่มทุน 120 ล้านบาท และย้ายที่ตั้งมาที่บ้านใหม่ของตนเอง และในปี 61 ขายหุ้นทิ้งทั้งหมด โดยตั้งข้อสังเกตว่ามีการซื้อขายจริงหรือแค่เปลี่ยนชื่อนั้น ในขณะที่ไม่พบหลักฐานการชำระเงิน
อย่างไรก็ดี นาย A เป็นผู้ที่รับช่วงต่อจากรมว.คมนาคม ซึ่งไม่ปรากฎหลักฐาน โดยพบว่านาย A เป็นผู้ถือหุ้นและกรรมการ 4 แห่ง ทิ้งร้างไปแล้ว 3 แห่ง เหลือเพียงหจก.บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น นอกจากนี้ พบว่ารายได้ของนาย A ข้อมูลจากประกันสังคมและสรรพากรตรงกันว่ามีรายได้เดือนละ 9,000 บาท แจ้งรายได้จากแหล่งเดียว ซึ่งเป็นที่น่าสงสัยว่าจะมีเงินมาซื้อที่ดินกว่า 10 ล้านจริงหรือไม่
ทั้งนี้ เมื่อย้อนดูสถานะของ หจก.บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น ณ สิ้นปี 60 ก่อนการโอนกิจการ มีสินทรัพย์รวม 205 ล้านบาท ปี 59-60 มีรายได้รวม 576 ล้านบาท ปีงบประมาณ 58-60 ได้งานที่กระทรวงคมนาคม 440 ล้านบาท และในเดือนต.ค.-ธ.ค. 60 เซ็นสัญญางานกับกระทรวงคมนาคม รวม 95 ล้านบาท
ดังนั้นการที่ รมว.คมนาคม ซื้อขาย หจก.บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น ที่ราคาทุนแค่ 120 ล้านบาท ดูไม่สมเหตุสมผล ขณะที่ในปี 62 ที่เข้ารับตำแหน่งส.ส. สินทรัพย์อยู่ที่ 115.7 ล้านบาท เงินสดเงินฝาก 76.3 ล้านบาท ไม่มีหนี้สิน ซึ่งไม่มี 120 ล้านบาทที่ขายหุ้นไป โดยกรณีเดียวที่เป็นไปได้ คือ การโอนหุ้นครั้งนี้ไม่มีการจ่ายเงินจริง เป็นเพียงการเปลี่ยนชื่อในเอกสารเท่านั้น ดังนั้น หจก.บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น จึงถือเป็นกิจการของรมว.คมนาคม โดยพฤตินัยมาโดยตลอดตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ซึ่งขาดคุณสมบัติในการเป็นรัฐมนตรี เนื่องจากยื่นทรัพย์สินเป็นเท็จต่อสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) นอกจากนี้ ระหว่างที่รมว.คมนาคม ตำแหน่ง หจก.บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น เป็นคู่สัญญากับกระทรวงคมนาคมหลายหน่วยงาน ซึ่งมีพฤติกรรมในการประมูลที่ผิดปกติหรือฮั้วประมูลด้วย
ในส่วนของ บจก.ศิลาชัย บุรีรัมย์ (1991) คาดว่าเป็นธุรกิจในครอบครัวของ รมว.คมนาคม เนื่องจากมีนามสกุล ชิดชอบ ถือหุ้น 92% เมื่อครั้งก่อตั้ง ที่ตั้งคือที่อยู่ของพี่ชายรมว.คมนาคม อยู่ในที่ดินอาณาจักรของชิดชอบ ที่เขากระโดง ต่อมาเมื่อกลางปี 54 ผู้ถือหุ้นจะถูกเปลี่ยนทั้งหมด แต่ยังไม่เคยย้ายที่ตั้งกิจการ ในปี 58 รมว.คมนาคม เข้ามาเป็นกรรมการของ บจก.ศิลาชัย บุรีรัมย์ (1991)
ทั้งนี้ ในช่วงเวลาเดียวกันนั้นมีบุคคลหนึ่งเข้ามาทำงานเป็นลูกจ้างรับเงินเดือนละ 9,000 บาท หรือก็คือนาย A โดยความสัมพันธ์ของนาย A กับตระกูล ชิดชอบคือ ในปี 54 ซื้อที่ดินที่เขากระโดง จากบิดาของรมว.คมนาคม ปี 58 เป็นลูกจ้างพร้อมกับที่รมว.คมนาคม เป็นกรรมการบริษัท และปี 61 รับโอนหุ้นกิจการหจก.บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น จากรมว.คมนาคม ทั้งหมด ซึ่งทั้งหมดเหมือนความบังเอิญแปลกๆ
นายปกรณ์วุฒิ กล่าวต่อว่า ประเด็นที่แปลกคือ เมื่อดูงบการเงิน บจก.ศิลาชัย บุรีรัมย์ (1991) งบการเงินปี 61-62 เป็นหนี้เงินกู้ระยะยาว โดยมีเจ้าหนี้เงินกู้เป็นนาย A ในปี 63 นาย A ให้บจก.ศิลาชัย บุรีรัมย์ (1991) กู้เงินเพิ่มอีก รวมหนี้เป็น 152,200,000 ล้านบาท และในปี 64 นาย A ให้บริษัทกู้เพิ่มอีก 98 ล้านบาทสิ้นปี 64 บริษัทเป็นหนี้นาย A ทั้งหมด 250,200,000 ล้านบาท โดยในบัญชีระบุว่าเป็นการกู้ยืมเงินเพื่อเสริมสภาพคล่อง ไม่มีการทำสัญญา หรือคิดดอกเบี้ยระหว่างกันใดๆ
อย่างไรก็ดี บริษัทฯ จำเป็นต้องกู้เงินเพราะขาดสภาพคล่องทางการเงิน เนื่องจากบริษัทฯ นำเงินไปซื้อเครื่องบินส่วนบุคคลราคา 12 ล้านบาท นอกจากนี้ในปี 61 ยังพบว่าบริษัทนำเงินไปให้รมว.คมนาคม กู้ยืมเงินระยะสั้น 88.5 ล้านบาท โดยไม่คิดดอกเบี้ย และในปี 62 ควักเงิน 4.7 ล้านบาท บริจาคให้พรรคภูมิใจไทย จึงส่งผลให้บริษัทขาดทุนปีละ 4.47 ล้านบาท ซึ่งนาย A ไม่ได้มีความเคลือบแคลงใจในการใช้เงินของบริษัทฯ แต่อย่างใด ประกอบกับยังควักเงินบริจาคให้พรรคฯ เพิ่มอีกด้วย ซึ่งทุกอย่างของเรื่องนี้ดูไม่สมเหตุสมผล
"พฤติการณ์ทั้งหมดเหล่านี้ หากเปลี่ยนชื่อนาย A เป็นรมว.คมนาคม ทุกอย่างก็จะเป็นเพียงการยืมเงินในครอบครัว นาย A มีพฤติกรรมเป็นเพียงนอมินีในการทำธุรกรรมทางบัญชีที่แปลกประหลาดในกงสีของตัวเองเท่านั้น รมว.คมนาคม เป็นเจ้าของธุรกิจมาโดยตลอด ใช้ชื่อนอมินีมาใส่ในเอกสารว่าเป็นเจ้าของธุรกิจของตนเอง ซึ่งถือเป็นการปกปิดทรัพย์สิน และยังเอาธุรกิจของตนเองมาเป็นคู่สัญญากับรัฐ ซึ่งเป็นการใช้อำนาจที่ขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญและกฎหมาย และมีพฤติกรรมฮั้วประมูล แสวงหาผลประโยชน์ให้ครอบครัวและพวกพ้องของตนเอง" นายปกรณ์วุฒิ กล่าว
ขณะที่นายกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ ส.ส.นราธิวาส พรรคประชาชาติ อภิปรายไม่ไว้วางใจถึงนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ในเรื่องที่ดินเขากระโดง 5,083 ไร่ โดยได้มีการติดตามเรื่องนี้ ปรากฏว่า หลังก.ย. 64 รัฐมนตรีและพวกพ้องยังคงทำธุรกิจบริเวณนี้ และละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบ จากกรณีสำนักงานอัยการสูงสุดได้มีคำวินิจฉัยให้รฟท.ดำเนินการฟ้องคดีต่อศาลเพื่อเพิกถอนโฉนดที่ดิน 3466 และที่ดิน 8564 จ.บุรีรัมย์ ซึ่งขณะนี้ยังไม่ได้ดำเนินการเพิกถอน และปัจจุบันนายศักดิ์สยามยังใช้ภูมิลำเนาอยู่ที่นั้น
ทั้งนี้ นายกมลศักดิ์ได้นำหลักฐานภาพถ่ายบ้านพักอาศัย เลขที่ 30/2 หมูที่ 15 และใช้เป็นที่ตั้งบริษัทอีกหลายบริษัท และเมื่อตรวจสอบจากกรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์ มีความเกี่ยวข้องกับนายศักดิ์สยาม โดยมีบริษัท ศ ซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดิน 3466 ตั้งอยู่ที่นั้น บริจาคให้กับพรรคภูมิใจไทย 4.7 ล้านบาท และหจก.บ ซึ่งตั้งบริเวณเดียวกัน บริจาคให้กับพรรคภูมิใจไทย 4.8 ล้านบาท เพราะเหตุนี้หรือไม่ถึงไม่มีการเพิกถอนที่ดินบริเวณนี้
นายกมลศักดิ์ กล่าวว่า การอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้มีคนเตือนว่า อย่าไปแตะเรื่องนี้ แต่ตนเชื่อว่า กรณีนี้ถ้าเป็นบุคคลธรรมดาคงอยู่ไม่ได้ และมีคนเตือนว่า อย่าแตะเรื่องนี้จะทำให้การเลือกตั้งครั้งหน้าจะลำบาก แต่ตนพร้อมรับทุกสถานการณ์และทำหน้าที่ให้ดีที่สุด และเรื่องนี้เป็นการเอาที่ดินมาเป็นของตัวเองโดยใช้กฏหมายอย่างแยบยล ซึ่งนายกรัฐมนตรีปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้ และถือเป็นความเหลื่อมล้ำในการบังคับใช้กฏหมาย ที่เอื้อประโยชน์ตัวเองมากกว่าประเทศชาติ
ด้านนายพัฒนา สัพโส ส.ส.สกลนคร พรรคเพื่อไทย กล่าวอภิปรายไม่ไว้วางใจการทำงานของนายศักดิ์สยาม โดยมุ่งประเด็นไปที่การสมคบคิดในการจัดงบประมาณเอื้อประโยชน์ให้กันและกัน ระหว่างกรมทางหลวง สำนักงบประมาณ และตัวของรมว.คมนาคมเอง
โดยชี้ให้เห็นความไม่ชอบมาพากลในการจัดทำงบประมาณ และการประมูลโครงการก่อสร้างทางหลวงหลายสายในพื้นที่ จ.บุรีรัมย์ ซึ่งได้ยกตัวอย่างการจัดงบประมาณด้านการอำนวยความปลอดภัยเพื่อสนับสนุนด้านคมนาคมและระบบโลจิสติกส์ ใน จ.บุรีรัมย์ ที่มีมากถึง 61 โครงการ คิดเป็นงบประมาณ 1,160 ล้านบาท ในขณะที่เทียบกับงบของ 76 จังหวัดทั่วประเทศรวมกัน อยู่ที่เพียง 79 โครงการ งบประมาณ 3,364 ล้านบาท ซึ่งทำให้เห็นว่างบประมาณและโครงการไปกระจุกตัวอยู่มากที่ จ.บุรีรัมย์
นอกจากนี้ ยังพบว่าในโครงการก่อสร้างทางหลวงหรือโครงการการบำรุงรักษาทาง ยังมีการซอยสัญญาออกเป็นย่อยๆ หรือเรียกว่าเป็นการแบ่งซื้อแบ่งจ้างไม่ให้เกินโครงการละ 100 ล้านบาท ซึ่งเป็นเจตนาที่จะหลบเลี่ยงเพื่อไม่ให้โครงการเข้าไปสู่การประกวดราคาที่กรมทางหลวง ทำให้บางโครงการที่มีวงเงิน 200-300 ล้านบาท แต่กลับมีการซอยสัญญาย่อยมากถึง 8-12 สัญญา
นายพัฒนา ยังกล่าวด้วยว่า มีการพบว่า หจก.บุรีเจริญ คอนสตรัคชั่น ยังเป็นคู่สัญญากับกระทรวงคมนาคมในหลายหน่วยงาน โดยเฉพาะคู่สัญญากับแขวงทางหลวงชนบทบุรีรัมย์ และมักจะพบกว่าราคาที่บริษัทชนะประมูลไปนั้น บังเอิญใกล้เคียงกับราคากลางค่อนข้างมาก จึงมีข้อสังเกตว่าจะมีการฮั้วประมูลหรือไม่
"อยากให้ รมว.คมนาคม ช่วยตอบหน่อย ช่วยรวมงบตั้งแต่เข้ามารับตำแหน่ง กรมทางหลวง งบเหลือจ่าย งบเงินกู้ เพราะบุรีรัมย์ ได้ไม่ต่ำกว่า 15,000 ลบ. ผมไม่คาดหวังจิตสำนึกว่าท่าน (รมว.) พร้อมจะลาออก เมื่อเกิดข้อผิดพลาด แต่คาดหวังว่าข้อมูลอย่างนี้ หลักฐานชัดอย่างนี้ เพื่อนสมาชิกต้องแสดงสำนึกในความเป็นผู้แทนฯ ตัวแทนชาวไทย ด้วยการยกมือไม่ไว้วางใจ รมว.คมนาคม ผมจะรอดูวันเสาร์" นายพัฒนา กล่าว