นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ กล่าวชี้แจงในการอภิปรายกรณีปมทุจริตถุงมือยางว่า ยืนยันว่าตนไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการดำเนินโครงการนี้ โดยหลังจากการอภิปรายครั้งที่แล้ว มี 3 เรื่องที่ได้เร่งรัดดำเนินการเรื่องถุงมือยาง คือ 1. คดีแพ่งกับอาญา สั่งการให้ผู้อำนวยการองค์การคลังสินค้า (อคส.) ให้ความร่วมมือคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ทุกเรื่อง และติดตามรายงานทุกระยะ ยกเว้นสำนวนการสอบสวนที่ไปก้าวล่วงไม่ได้ 2. เร่งรัดการลงโทษทางวินัย และ 3. การจัดการกับผู้กระทำความผิด เมื่อพบว่าเกี่ยวข้องให้นำเงิน 2,000 ล้านบาท บวกดอกเบี้ยมาชดใช้ค่าเสียหาย ซึ่งก็ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องตามลำดับ
ในเรื่องวินัย เมื่อสรุปผลการสอบวินัยเสร็จแล้ว ปรากฏว่าชี้มูลความผิด 3 ราย และมีมติให้ไล่ออกทั้งหมด โดยผู้อำนวยการอคส. ได้ออกคำสั่งไล่ออกตั้งแต่วันที่ 19 ต.ค. 64 โดยไล่ออกแล้ว 2 ราย มีปัญหา 1 รายยังไล่ออกไม่ได้ คืออดีตรักษาการผู้อำนวยการ เนื่องจากผู้อำนวยการอคส. ตั้งกรรมการสอบชี้โทษทางวินัยเสร็จแล้ว บังเอิญว่าอดีตรักษาการผู้อำนวยการ ถูกคำสั่งย้ายไปประจำที่สำนักนายกรัฐมนตรี
ดังนั้น จึงมีการตั้งคำถามว่าจะลงโทษเจ้าหน้าที่ที่ประจำอยู่สำนักนายกฯ ได้หรือไม่ จึงได้มีการถามไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งคณะกรรมการกฤษฎีการะบุว่าอำนาจหน้าที่ในการดำเนินการทางวินัย เป็นของปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี โดยให้สามารถนำผลการสอบสวนของอคส. ที่ทำมาแล้วไปดำเนินการทางวินัย โดยให้ถือเป็นการสืบสวนข้อเท็จจริงเบื้องต้นได้ ซึ่งปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีต้องตั้งกรรมการสอบสวนทางวินัยโดยทำตามพระราชกฤษฎีกา และระเบียบอคส. มาใช้บังคับต่อไป
นายจุรินทร์ กล่าวต่อว่า หลังจากนั้น ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ได้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยตามขั้นตอนกระบวนการแล้ว มีผู้ตรวจราชการสำนักนายกเป็นประธาน ซึ่งต้องติดตามเรื่องทางวินัยต่อไป
"ในกรณีนี้ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน จึงจำเป็นต้องถามคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นผู้ที่ขอให้ถามเอง เพื่อให้กระบวนการลงโทษถูกต้องตามกฎหมาย ไม่ถูกโต้แย้งในภายหลังและกลายเป็นโมฆะ" นายจุรินทร์ กล่าว
นายจุรินทร์ กล่าวว่า ส่วนเรื่องการละเมิด มีการตั้งกรรมการสอบว่าใครต้องได้รับผิดชอบด้วยเงินเท่าไหร่ ตามพ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ปี 39 โดยกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิด ได้มีการแต่งตั้งโดยผู้อำนวยการอคส. โดยมีรองปลัดกระทรวงพาณิชย์เป็นประธานแล้ว
ทั้งนี้ ผลการสอบออกมาว่า ผู้ที่จะต้องชดใช้เงิน 2,000 ล้านบาท บวกดอกเบี้ย มีด้วยกัน 2 กลุ่ม คือ 1. กลุ่มที่กรรมการสอบระบุว่า เจตนาทำให้รัฐเสียหาย มีทั้งหมด 4 ราย ต้องชดใช้คนละ 400 ล้านบาท กับ 8 แสนบาท รวม 1,603 ล้านบาท โดย 3 รายแรกคือเจ้าหน้าที่ที่ชี้มูลความผิดทางวินัย และอีกรายคือประธานบอร์ด และ 2. กลุ่มที่กรรมการชี้ว่าประมาท เลินเล่ออย่างร้ายแรง มี 3 ราย ต้องชดใช้คนละ 133.6 ล้านบาท รวม 400.8 ล้านบาท ทั้งนี้ รวมทั้งสองกลุ่มเป็น 2,000 ล้านบาท บวกดอกเบี้ย
นายจุรินทร์ กล่าวต่อว่า ตามกระบวนการของตามพ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ที่จะต้องระบุว่าใครชดใช้เท่าไหร่ ต้องไปยุติที่กระทรวงการคลัง เป็นผู้ชี้ขาดทางกฎหมาย ซึ่งขณะนี้ได้ส่งเรื่องไปที่กระทรวงการคลังแล้ว ตั้งแต่วันที่ 3 ก.พ. 65 อย่างไรก็ดี ยังติดประเด็นข้อกฎหมายของประธานบอร์ด เพราะเกรงว่าถ้าไม่เป็นไปตามกระบวนการกฎหมาย ก็จะถูกโต้แย้ง และทำให้กระบวนการไม่ชอบ สุดท้ายผู้ที่ต้องรับผิดชอบค่าเสียหายก็ลอยนวล โดยกรณีประธานบอร์ดมีประเด็นว่า เนื่องจากผลการสอบให้ชดใช้ค่าเสียหายเป็นไปตามคำสั่งผู้อำนวยการอคส. แต่ประธานบอร์ดเป็นผู้บังคับบัญชาอคส.
ดังนั้น คำสั่งที่ตั้งให้สอบชี้ให้จ่าย 400 ล้านบาทนั้นจะชอบหรือไม่ อคส. จึงต้องถามไปทางคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตอบว่า หากพบความผิดทางละเมิดของประธานบอร์ด ให้รัฐมนตรีเป็นผู้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบ โดยใช้กรรมการสอบชุดเดิมได้ เพื่อผลสอบจะได้ไม่เกิดความลักลั่น
ทั้งนี้ ผู้อำนวยการอคส. เสนอให้ตนลงนามแต่งตั้งคณะกรรมการสอบความรับผิดทางละเมิด วันที่ 30 พ.ค. 65 โดยวันที่ 31 พ.ค. 65 ซึ่งตนได้ลงนามแต่งตั้งกรรมการสอบความรับผิดทางละเมิดประธานบอร์ดเสร็จสิ้นแล้ว ขณะนี้ความคืบหน้าคือกรรมการได้แจ้งข้อกล่าวหาต่อประธานบอร์ดแล้ว
นายจุรินทร์ กล่าวว่า ส่วนการไต่สวนของป.ป.ช. ทราบจากข่าวว่า ผู้ช่วยเลขาธิการป.ป.ช. เปิดเผยว่า การไต่สวนคดีทุจริตถุงมือยางเสร็จแล้ว กำลังจะเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของกรรมการป.ป.ช. ต่อไป
"ทั้ง 3 เรื่องคือความคืบหน้าทางแพ่งและอาญา วินัย และละเมิด ดังนั้น ที่กล่าวหาในญัตติว่าผมปล่อยปละละเลย ไม่ติดตามการแก้ไขปัญหาทุจริตเพื่อให้มีการชดใช้ความเสียหายนั้น ไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด ในทางตรงกันข้าม กลับมีความคืบหน้าในทุกกรณี โดยทั้งหมดคือเงินก้อนที่ 1" นายจุรินทร์ กล่าว
สำหรับเงินก้อนที่ 2 คือ เรื่องทุจริตจำนำข้าว ที่ก่อความเสียหายให้อคส. 504,861 ล้านบาท จนอคส. ต้องฟ้องเรียกค่าเสียหาย 504,861 ล้านบาท ปัจจุบันรวมคดีทั้งแพ่งและอาญาขึ้นศาลอยู่ทั้งหมด 1,180 คดี ค่าเสียหาย 500,000 กว่าล้านบาท ในระยะเวลากว่า 10 ปี คดียังอยู่ในศาล และมีความคืบหน้าไปตามลำดับ แต่ยังต้องใช้ระยะเวลาตามกระบวนการยุติธรรม
ส่วนเงินก้อนที่ 3 เรื่องทุจริตจำนำมันสำปะหลัง ที่ทำอคส. ขาดทุนจำนวน 33,000 กว่าล้านบาท (ตัวเลขวันที่ 30 ก.ย. 64) อคส. ฟ้องไปแล้ว 164 ดคี เรียกค่าเสียหาย 20,065 ล้านบาท ศาลจำคุกแล้ว 26 คดี แต่เรื่องยังไม่จบต้องดำเนินการต่อไป
"ผมสั่งเร่งรัดดำเนินการทั้ง 3 ก้อน เพราะเป็นหน้าที่ ผมสนใจติดตามทั้ง 3 ก้อน เพราะเป็นเงินของรัฐ นอกจากนี้ จากการเอาจริงเอาจังเรื่องการทุจริตและความไม่โปร่งใส ทำให้คะแนนคุณธรรมและความโปร่งใสของอคส. กระเตื้องขึ้นมาเยอะ ป.ป.ช. ให้คะแนนอคส. ปี 63-64 อยู่ที่ 83% และ 93.59% ตามลำดับ" นายจุรินทร์ กล่าว