นายจุติ ไกรฤกษ์ รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ชี้แจงการอภิปรายไม่ไว้วางใจของพรรคร่วมฝ่ายค้านเกี่ยวกับของการเคหะแห่งชาติ (กคช.) ว่า ตนมีความต้องใจที่จะแก้ปัญหาให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อองค์กรและประชาชน แต่การเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องยากแต่ควรจะต้องทำ เมื่อตนมารับภาระดูแล กคช.พบว่าสถานะของ กคช.มีรายได้รวม 10,248 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายรวม 8,560 ล้านบาท กำไรสิทธิ 1,688 ล้านบาท หนี้สินรวม 35,419 ล้านบาท และสินทรัพย์รวม 53,746 ล้านบาท แต่มีปัญหาภาระจากโครงการเอื้ออาทรที่ขาดทุนสะสม 38,843 ล้านบาท ซึ่งเป็นภาระให้ กคช.ต้องจ่ายดอกเบี้ยประจำไม่ต่ำกว่าปีละ 600 ล้านบาท
ตนได้สั่งการให้คณะกรรมการ กคช.รับข้อสังเกตุของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ไปดำเนินการ ได้แก่ ตรวจสอบการจัดทำบัญชีทรัพย์สินที่ไม่มีระบบควบคุมภายในที่ไม่ดีพอ มีระบบการบริหารทรัพย์สินที่ไม่ครอบคลุมภารกิจ โดยให้มีการแก้ไขระเบียบและข้อบังคับ นอกจากนี้ สตง.ยังพบความผิดปกติและปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อนในบริษัท จัดการทรัพย์สินและชุมชน จำกัด หรือ เซ็มโก้ (CEMCO) ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ กคช. เช่น การแต่งตั้งญาติอดีตผู้บริหาร กคช.มาเป็นผู้จัดการเซ็มโก้ และมีการนำทรัพย์สินของ กคช.ไปให้เช่า แต่ไม่ได้นำรายได้ส่งให้ กคช. ซึ่ง สตง.แนะนำให้มีการตรวจสอบและดำเนินคดีกับผู้กระทำผิด ซึ่งได้มีการรายงานไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ป.ป.ช.) แล้ว 3 เรื่อง ทำให้มีผู้ที่หากินกับ กคช.ถูกดำเนินคดีไปแล้ว 4 ราย
"คณะกรรมการฯ ต้องทำงานอย่างเหนื่อยยาก เพราะต้องเปลี่ยนแปลงระบบต่อสู้กับนายทุนที่หากินกับการเคหะแห่งชาติมายาวนาน" นายจุติ กล่าว
ที่ผ่านมาได้มีการปรับโครงสร้างการดำเนินธุรกิจภายในของบริษัท เซ็มโก้ เพื่อให้มีฐานะทางการเงินที่เข้มแข็ง รวมถึงปรับปรุงสถานะทางการเงินให้ฟื้นตัวจากผลขาดทุนให้มีกำไร, ปิดบัญชีโครงการเอื้ออาทรที่เป็นภาระของรัฐบาลมานาน, นำทรัพย์สินที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้มาพัฒนา, จัดระบบการเช่าใหม่
นายจุติ ยังปฏิเสธข้อกล่าวหาการตั้งนักปั่นหุ้นมาเป็นกรรมการ กคช. เพราะผู้ที่จะได้รับคัดเลือกต้องผ่านการตรวจสอบถึง 4 ขั้นตอน อีกทั้งมีกฎหมายห้ามผู้ที่มีคดีมาเป็นกรรมการ, ไม่ได้บีบบังคับอดีตผู้บริหาร กคช.ให้ลาออก แต่เหตุผลในการลาออกเนื่องจากมีปัญหาเรื่องสุขภาพ, กรณีไม่เสนอโครงการลงทุนให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา เนื่องจากมีระเบียบว่าหากเป็นโครงการที่มีมูลค่าไม่ถึง 1 พันล้านบาทให้เสนอสภาพัฒน์
ตนได้ให้นโยบายทำงาน กคช.จะเดิมที่ทำกำไรเป็นการทำประโยชน์ให้กับสังคม จากที่ทำบ้านขายเอากำไรเปลี่ยนเป็นการทำบ้านให้เช่าในราคาถูกกว่าตลาด 40% หรือตั้งแต่ 999-3,500 บาท/เดือน, ส่วนการถมดินจะดำเนินการเฉพาะพื้นที่ที่จะสร้างโครงการเท่านั้น ซึ่งขณะนี้ได้ดำเนินการไป 38 แปลงจากทั้งหมด 94 แปลง เพื่อสร้างบ้าน 1.1 หมื่นยูนิต โดยบางแปลงที่มีขนาดใหญ่จะถมดินเพียงบางส่วนที่ต้องการทำโครงการเท่านั้น ซึ่งเซ็มโก้สามารถดำเนินการทำได้ตามหนังสือบริคณห์สนธิ เพื่อให้สามารถเลี้ยงตัวเองได้โดยไม่ต้องพึ่งพาบริษัทแม่
"สิ่งที่ท่านกล่าวหาเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เป็นข้อมูลเท็จ" นายจุติ กล่าว
นายจุติ กล่าวว่า แนวทางการดำเนินงานของ กคช.ที่นำที่ดินมาปลูกบ้านให้เช่านั้นทางสภาพัฒน์ยอมรับว่าเป็นแนวทางใหม่ที่ดี โดยจะมีการระดมทุนไม่ต้องรองบประมาณ ส่วนการตั้งบริษัทใหม่จะดำเนินการเรื่องสร้างบ้านให้เช่า ส่วนเซ็มโก้จะดำเนินการเรื่องอาคารเช่าเหมา 3 แสนครอบครัว ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายสวัสดิการถ้วนหน้า
"เมื่อ 17 ปีที่ผ่านมาเอกชนจับเสือมือเปล่า มาขอเช่าช่วงโครงการไป 3 หมื่นห้องในอัตราห้องละ 920 บาท/เดือน แล้วไปให้เช่าต่อ 2,500-3,400 บาท/เดือน ได้ส่วนต่างไป 9,180 ล้านบาท ตอนนี้รัฐบาลเข้ามาทำเองเพื่อดูแลคนยากจน" นายจุติ กล่าว
นอกจากนี้ยังตรวจสอบพบการทุจริตการเช่าที่ดิน กคช.ในอัตราเดือนละ 4 หมื่นบาทแล้วไปทำที่จอดรถหารายได้เดือนละ 5 แสนบาท หรือกรณีแอบนำที่ดินไปขายเพื่อเปิดทางให้ที่ดินตาบอดของเอกชน
"มาทำงานด้วยกันครับ แต่ผมไม่พร้อมให้เอกชนมาใช้สภาเป็นที่บิดเบือนเพื่อประโยชน์ทางธุรกิจ วันนี้มีเอกชนลักลอบเข้ามาเป็นที่ปรึกษา เป็นนักวิชาการกรรมาธิการฯ บางคณะ แล้วไปหาผลประโยชน์" นายจุติ กล่าว