นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ในฐานะกำกับดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) กรณีปล่อยปละละเลยทุจริตในกองบินตำรวจ โดยคดีนี้เกิดขึ้นในช่วงที่ พล.ต.ต.กำพล กุศลสถาพร ดำรงตำแหน่งผู้บังคับการกองบินตำรวจ (บ.ตร.) โดยระหว่างนั้นได้เซ็นสัญญาโครงการซ่อมบำรุงอากาศยานกับ บมจ.การบินไทย (THAI) ให้มารับช่วงการซ่อมและจัดหาอะไหล่ตามงบประมาณปี 2563 จำนวนกว่า 950 ล้านบาท
ต่อมาเมื่อเดือน ก.ย.64 THAI ได้ยื่นหนังสือทวงหนี้มายัง ตร. จึงพบว่ากองบินตำรวจสั่งจ้างสั่งซื้อเพิ่มเติมเกินกว่างบประมาณที่วางไว้ รวมค่าใช้จ่ายทั้งหมดของโครงการเป็นจำนวนถึง 2,774 ล้านบาท ซึ่ง 2 ใน 3 ของทั้งหมดนี้ กองบินตำรวจไม่สามารถเบิกจากคลังมาจ่ายได้ และกว่า 784 ล้านบาทไม่ได้เกี่ยวข้องกับการซ่อมเครื่องบิน เช่น ซื้อถังน้ำดับไฟป่า 8 ล้านบาท หรือซื้อตะขอเกี่ยวสินค้า 6.3 ล้านบาท เป็นต้น
เมื่อเรื่องเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบกลับถูกเตะถ่วง ทำให้ล่าช้าและทำซ้ำไปมา ทั้งนี้ กระบวนการตรวจสอบครั้งแรกเริ่มต้นจากการเสนอเรื่องให้ ผบ.ตร. สั่งให้จเรตำรวจตั้งคณะกรรมการตรวจสอในเดือน มี.ค.64 แต่กลับใช้เวลาตั้งกรรมการกว่า 3 เดือน และเสร็จสิ้นในเดือน ต.ค.64 แต่ภายหลังกระบวนการตรวจสอบสิ้นสุดกลับมีคำสั่งให้ส่งเรื่องไปกองวินัยตำรวจเพื่อตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงอีก และแม้ทางกองบินตำรวจทวงถามไปในเดือน ก.พ.65 ก็มีคำตอบกลับมาว่ายังร่างคำสั่งไม่เสร็จ และกว่าจะได้ตั้งคณะกรรมการชุดใหม่กันจริงๆ คือช่วงปลายเดือน เม.ย.65 และผ่านไป 1 เดือนก็ยังวุ่นอยู่กับการเปลี่ยนตัวกรรมการ
นายรังสิมันต์ กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ ได้ทราบเรื่องนี้ตั้งแต่ที่ สตช. ทำหนังสือขอความช่วยเหลือมายังคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 21 ก.ย.64 และต่อมา พล.อ.ประยุทธ์ ได้ลงนามท้ายหนังสือรับทราบเรื่องนี้ด้วยตัวเอง แต่ยังปล่อยปละละเลยไม่เร่งรัดกระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริง หน่วงเวลาจนกระทั่งกรมบังคับคดี ซึ่งดูแลเรื่องการฟื้นฟูกิจการของ THAI ส่งหนังสือทวงหนี้ 1,824 ล้านบาทมายัง ตร.
อย่างไรก็ตาม ในขั้นตอนนี้เป็นโอกาสสำคัญที่จะปฏิเสธหนี้ก้อนนี้ได้ เพราะตามขั้นตอน ตร.มีเวลาในการปฏิเสธหนี้ภายใน 14 วัน แต่ ตร.กลับล่าช้าทำหนังสือปฏิเสธหนี้ตอบกลับไปเกินเวลาที่กำหนด ทำให้ต้องชำระหนี้ THAI เป็นจำนวนถึง 937 ล้านบาท ส่วนสาเหตุที่หนี้ลดลงจากเดิม เนื่องจากทาง ตร.ไปขอต่อรองกับ THAI ให้ยกเลิกรายการบางส่วนที่ยังไม่ได้รับพัสดุมาได้
ต่อมา พล.อ.ประยุทธ์ ได้อนุมัติงบกลางเพื่อใช้หนี้ในวันที่ 23 ก.พ.65 และวันที่ 12 เม.ย.65 ครม.ก็อนุมัติอีกที รวมถึงยังอนุมัติให้ ตร.สามารถก่อหนี้ผูกพันเกินกว่าที่กำหนดไว้ในงบประมาณปี 2563 ด้วย มตินี้จึงเหมือนเป็นทั้งการฟอกขาวให้ไปในตัว ทั้งยังนำเงินภาษีของประชาชนไปจ่ายให้กับการทุจริตที่เกิดขึ้นในกองบินตำรวจอีกด้วย
นอกจากการสั่งซื้อสั่งจ้างเกินกว่างบที่วางไว้ แล้วเอาภาษีประชาชนไปจ่ายแทนแล้ว ยังมีอีกกรณีทุจริตจากการที่ พล.ต.ต.กำพล ไปทำสัญญาแลกเปลี่ยนอะไหล่อากาศยานด้วยวิธีเฉพาะเจาะจง โดยรวบรวมอะไหล่เก่าๆ ที่เสื่อมสภาพแล้วไปแลกกับชุดใบพัดหางเฮลิคอปเตอร์ 2 ชุด ขณะที่อำนาจในตำแหน่งระดับผู้การกองบินสามารถอนุมัติวงเงินได้แค่ 5 ล้านบาทเท่านั้น หรือในระเบียบกระทรวงการคลัง ระบุไว้ว่าวงเงินต้องไม่เกิน 5 แสนบาท แต่เมื่อมีการประเมินราคาของที่นำไปแลกจำนวนทั้งหมด 6,622 ชิ้น มีราคารวมกันสูงถึง 1,157 ล้านบาท
และในจำนวนนี้ยังพบด้วยว่ามีคำสั่งให้นำอะไหล่เครื่องบิน Skyvan 1 ลำ 4 ชิ้น ในจำนวนนี้เป็นเครื่องยนต์ 2 ชิ้น และอะไหล่ของเฮลิคอปเตอร์ Bell 3 ลำ อีก 21 ชิ้น ไปยำรวมกับเศษเหล็กด้วย โดยอะไหล่ดังกล่าวที่สวมเข้ามาในบัญชีแลกเปลี่ยนนี้ยังใช้งานได้ทั้งหมด ประเมินแล้วมีมูลค่าประมาณ 111 ล้านบาท แต่เมื่อนำไปยำรวมกับเศษเหล็กมูลค่าจึงเหลือเพียง 2.5 ล้านบาทเท่านั้น และกรณีนี้เมื่อเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบก็มีการเตะถ่วง ตั้งคณะกรรมการสอบวนไปวนมาเช่นเดิม
นายรังสิมันต์ กล่าวว่า จากพฤติกรรมที่ส่อทุจริตในกองบินตำรวจมีความชัดเจนทั้ง 2 กรณี และ พล.อ.ประยุทธ์ รู้ปัญหาดีมาตลอด เพราะเป็นผู้เซ็นรับทราบด้วยตัวเอง แต่กลับไม่ได้ดำเนินการอะไรต่อ พล.ต.ต.กำพล ไม่มีแม้กระทั่งการถูกพักงาน ทำให้เกิดความสงสัยและไปตรวจสอบต่อว่าเป็นเพราะเหตุใด บุคคลนี้ใหญ่มาจากไหน ทำไมจึงไม่มีใครแตะต้อง
"พล.อ.ประยุทธ์ คือบุคคลสำคัญที่สุด ที่เป็นผู้สานต่อวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดวัฒนธรรม ทุจริตแล้วได้ดิบได้ดี ให้แผ่ไพศาลไปทั่วทุกระบบราชการ ไม่ใช่แค่ตำรวจ แต่รวมทั้งทหาร ครู ศาล อัยการ และราชการอื่นๆ ใดๆ ทั้งหมดทั้งปวง ฉุดลากเอาระบบราชการของประเทศนี้ที่ตกต่ำอยู่แล้วให้ตกต่ำลงไปอีก ในแบบที่ไม่อาจเห็นได้เลยว่าก้นบึ้งของความตกต่ำนี้ จะไปสิ้นสุดลงที่ตรงไหน" นายรังสิมันต์ กล่าว