รัฐบาล ปัดถ่วงเวลากม.ลูกเลือกตั้งส.ส. ยันไม่ต้องรับผิดชอบหากเสร็จไม่ทันกำหนด

ข่าวการเมือง Thursday August 4, 2022 12:18 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่หลายฝ่ายมองว่า พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. อาจไม่แล้วเสร็จทันกรอบเวลา 180 วัน หรือภายในวันที่ 15 ส.ค.ว่า โดยหลักแล้วจะต้องพิจารณาให้ทัน ซึ่งในรัฐธรรมนูญที่ผ่านมาได้มีการเผื่อเวลาไว้ ขึ้นชื่อว่า กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญก็ต้องทำให้แล้วเสร็จภายใน 180 วัน

ส่วนที่มีการตั้งข้อสังเกตว่า รัฐบาลไม่ต้องการให้ร่างกฎหมายลูกดังกล่าวผ่านนั้น นายวิษณุ กล่าวว่า อาจจะทันก็ได้ เพราะเหลืออีกไม่กี่มาตรา และรัฐบาลก็คาดหวังอยากให้ไปได้ รัฐบาลไม่เคยพูดเรื่องถ่วงเวลา

อย่างไรก็ดี ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว แม้จะเป็นร่างของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แต่เป็นร่างที่เสนอมาให้รัฐบาล และผ่านการแก้ไขจากกฤษฎีกาแล้ว ดังนั้นจึงเรียกว่าเป็นร่างของรัฐบาล ซึ่งหากร่างดังกล่าวไม่ผ่านสภาฯ รัฐบาลไม่ต้องรับผิดชอบทางการเมือง ซึ่งจะแตกต่างจากร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี

ส่วนถ้าใช้ร่างของรัฐบาล จะทำให้เกิดปัญหาทางการเมืองตามมาหรือไม่ เพราะไม่สามารถแก้ไขใดๆ ได้นั้น นายวิษณุ กล่าวว่า บางเรื่องเป็นเรื่องความชอบ/ไม่ชอบ สามารถแย้งโดยยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญ ก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ ได้ แต่ต้องแย้งว่าขัดรัฐธรรมนูญ ซึ่งหากศาลรัฐธรรมนูญรับแล้ว และเห็นว่าขัดรัฐธรรมนูญ ก็จะให้ตัดหรือแก้ไขส่วนนั้น แต่ถ้าเป็นเรื่องใหญ่ที่เป็นสาระสำคัญ ก็จะถูกตีตกไปทั้งฉบับ และยกร่างใหม่ ส่วนตัวยังไม่ทราบว่าจะมีการยื่นหรือไม่ แต่ก่อนหน้านี้ ได้ยินว่าจะมีการยื่น ทั้งหาร 100 หรือหาร 500 ซึ่งอาจยื่นร้องในประเด็นขั้นตอนกระบวนการก็ได้

ขณะเดียวกัน การยื่นตีความ จะไม่มีผลกระทบเงื่อนปมเวลา ทั้งอายุรัฐบาล หรือการเลือกตั้ง รัฐบาลเดินหน้าทำงานต่อไปได้

นายวิษณุ ยังกล่าวถึงกรณีผู้ที่สามารถยื่นร้องเรื่องวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 8 ปี ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่า ประชาชนที่ต้องการยื่น จะต้องไปยื่นผ่านคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) โดยให้ กกต.เป็นผู้ยื่น ส่วน ส.ส.และ ส.ว.ที่ยังมีข้อสงสัยว่าสามารถไปยื่นที่ศาลรัฐธรรมนูญเลย โดยไม่ต้องผ่าน กกต.ได้หรือไม่นั้น เห็นว่าเรื่องนี้ยังเป็นปัญหาอยู่ แต่ทางที่ดีที่สุดไปยื่นผ่าน กกต. เพราะ มาตรา 170 วรรคท้าย บอกว่าให้กกต. มีอำนาจหน้าที่ในการดำเนินการเรื่องนี้ ฉะนั้นให้ ส.ส. หรือ ส.ว. เข้าชื่อกันส่งให้ประธานสภา และไปที่ กกต.


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ