นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ย้ำเจตนารมณ์ของพรรคเพื่อไทย ที่ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขในมาตรา 23 ของร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ที่เปลี่ยนสูตรคำนวณ ส.ส.จากการหาร 100 เป็นหาร 500
ดังนั้นพรรคจึงเลือกแนวทางให้การพิจารณากฎหมายนี้ไม่สามารถเดินหน้าต่อไปได้ โดยจะไม่แสดงตนเป็นองค์ประชุมตอนลงมติวาระ 2 เพื่อให้องค์ประชุมไม่ครบ ไม่สามารถเดินหน้าพิจารณาร่างกฎหมายที่พรรคไม่เห็นด้วยต่อได้ และไม่เสร็จภายในกรอบเวลา 180 วัน ตามมาตรา 132 ของรัฐธรรมนูญ แล้วให้นำร่างที่เสนอตั้งแต่ร่างแรก คือ ร่างของคณะรัฐมนตรี (ครม.) มาปรับแก้อีกเพียงเล็กน้อย และประกาศใช้ ซึ่งตามร่างของคณะรัฐมนตรีนั้น เป็นการคำนวณ ส.ส.โดยการหารด้วย 100 ซึ่งพรรคเห็นด้วย
"แนวทางในการดำเนินการดังกล่าว เป็นกลไกอย่างหนึ่งในการทำหน้าที่ของฝ่ายค้าน และที่เลือกกลไกนี้ เพราะหากปล่อยให้พิจารณาจนถึงวาระที่ 3 แล้วไม่ผ่าน อาจจะเป็นข้ออ้างให้กลับไปแก้ไขรัฐธรรมนูญ ให้กลับไปใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว หรือหากใช้กลไกรอให้องค์กรอิสระยืนยันหรือตีความ ก็ไม่แน่ใจว่าผลจะออกมาอย่างไร" นพ.ชลน่าน ระบุ
นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ยืนยันเจตนารมณ์นี้ตั้งแต่แรกเพียงแต่ไม่ประกาศ และไม่เห็นด้วยกับการมาปรับแก้ มาตรา 23 ซึ่งเกมของพรรคเพื่อไทยที่วางไว้ ยึดประโยชน์สูงสุดด้วยความชอบของรัฐธรรมนูญ
"พรรคเป็นเพียงเสียงข้างน้อย หากสมาชิกรัฐสภาอื่น จะมาร่วมกับเราหรือไม่ ก็แล้วแต่ เราไม่ได้โน้มน้าว แต่เป็นเกมและกลไกทางสภาในสิ่งที่เราคิดว่าเหมาะสมที่สุด...ขอให้สังเกตดูว่ามีสมาชิกไม่มาร่วมเป็นองค์ประชุม การไม่เป็นองค์ประชุม ถือเป็นกลไกอย่างหนึ่งในการทำหน้าที่ ขอให้ดูผลที่เกิดขึ้น ถ้าดีต่อประเทศ ก็ถือว่าดี" หัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าว
ขณะที่นายสมชาย แสวงการ ส.ว. กล่าวถึงกรณีที่ประชุมรัฐสภาล่มเมื่อวานนี้ (3 ส.ค.) ว่า ตามเกมการเมืองสภาขณะนี้เห็นคำตอบชัดเจนว่าต้องการให้สูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อในร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. (ฉบับที่?) พ.ศ?. กลับไปใช้จำนวน 100 คนหาค่าเฉลี่ย โดยใช้ช่องทางให้รัฐสภาพิจารณาไม่เสร็จภายในกำหนดเวลา 180 วัน ซึ่งตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 132 กำหนดว่า หากรัฐสภาพิจารณาไม่แล้วเสร็จต้องกลับไปใช้ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญเลือกตั้ง ส.ส.ที่เสนอเข้าสู่รัฐสภาวาระแรก ส่วนจะเป็นฉบับใดใน 4 ฉบับที่เสนอต่อรัฐสภา ไม่ใช่หน้าที่ที่จะให้ความเห็น
"ในฐานะสมาชิกรัฐสภา และในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญเลือกตั้ง ส.ส.คราวนี้ถือว่าได้ทำหน้าที่ครบถ้วนแล้ว แม้จะไม่สมบูรณ์ เพราะขบวนการล่มสภา ซึ่งก็พูดไม่ออก สงสารท่านประธานรัฐสภา อาจารย์ทางกฎหมายที่ผมเคารพอย่างยิ่ง ต้องอดทนอดกลั้น นั่งรอขอคะแนนสมาชิกทีละคน ทีละมาตรา นานครั้งละครึ่งถึง 1 ชั่วโมง เจอเกมการเมืองล่มสภาแบบนี้ เสียดายเงินภาษี" นายสมชาย กล่าว
ด้านนายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว. กล่าวว่า หากรัฐสภาพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ไม่เสร็จตามกรอบเวลาภายในวันที่ 15 ส.ค.65 รัฐธรรมนูญกำหนดให้กลับใช้ร่างที่เสนอมาในชั้นวาระรับหลักการตามรัฐธรรมมนูญ มาตรา 132(1) กำหนดไว้ ทั้งนี้ในชั้นรับหลักการ เมื่อวันที่ 24 ก.พ.65 รัฐสภาลงมติรับหลักการรวม 4 ฉบับ ได้แก่ ของคณะรัฐมนตรี ตามข้อเสนอของคณะกรรมการการเลือกตั้ง, พรรคเพื่อไทย, พรรคพลังประชารัฐ และพรรคร่วมรัฐบาล และ พรรคก้าวไกล แม้ในเนื้อหาของมาตราดังกล่าวจะไม่กำหนดว่าให้ใช้ร่างที่เสนอโดย ครม.แต่ข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อ 101 กำหนดรายละเอียดว่ากรณีที่รัฐสภาพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญไม่เสร็จตามกรอบเวลา 180 วัน ตามที่รัฐสภาให้บรรจุระเบียบวาระการประชุม ให้ถือว่ารัฐสภาให้ความเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญที่ใช้เป็นหลักในการพิจารณาในวาระ 2
ด้านนพ.ระวี มาศฉมาดล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังธรรมใหม่ กล่าวว่า ตนไม่คิดว่าจะมีการเล่นเกมใต้โต๊ะ ชกใต้เข็มขัด ทำในสิ่งที่ไม่ควรจะทำ ทำให้สภาเสื่อมเสีย เท่าที่ทราบคือ มีพรรคร่วมรัฐบาลพรรคหนึ่งออกคำสั่งให้ ส.ส.ในพรรคเซ็นชื่อแล้วกลับบ้านได้เลย แต่เมื่อ ส.ส.บางคนไม่ทำ ยังอยู่ร่วมประชุม ก็ยังมีตัวแทนมาไล่ ส.ส.ให้กลับบ้าน อ้างว่านายสั่งให้กลับ ซึ่งมีหลายคนมาเล่าให้ฟัง แม้กระทั่ง ส.ส.พรรคเล็กบางคนก็ยังถูกตัวแทนคนดังกล่าวมาสั่งให้กลับบ้านเช่นกัน และเนื่องจากว่าเป็นพรรคการเมืองขนาดใหญ่ ทำให้ ส.ส.หายไปจำนวนมาก จนในที่สุดสภาก็ล่ม
"สภาล่ม ไม่ได้เกิดจากเหตุสมาชิกไม่ครบแบบทั่วไป แต่เกิดจากการเล่นเกมของพรรคใหญ่อันดับ 1 และ 2 ที่สมาชิกไม่ยอมแสดงตนร่วมประชุม มีความพยายามจะคว่ำการประชุมให้ได้ เพื่อที่กฎหมายลูกจะไม่สามารถมีโอกาสเข้าสภาได้ และต้องย้อนกลับไปใช้สูตรคำนวณหาร 100 ตามร่างที่ กกต.ยื่นเข้ามาในตอนแรก การกระทำเช่นนี้ ผมรับไม่ได้ ถ้ามาเล่นนอกกติกาแบบนี้ ไม่ใช่วิธีที่ลูกผู้ชายทำกัน" นพ.ระวี กล่าว