นายณัฐวุฒิ บัวประทุม รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ระบุว่า ขณะนี้สถานการณ์ที่พรรคร่วมฝ่ายค้านเป็นห่วงคือ การดำรงตำแหน่งของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่จะครบ 8 ปีในวันที่ 23 ส.ค.นี้ ซึ่งพรรคก้าวไกลจะไปยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญในวันที่ 17 ส.ค. และในกระบวนการยื่นคำร้อง จะขอให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้ พล.อ.ประยุทธ์ หยุดปฏิบัติหน้าที่ เพราะเกรงว่าหากปล่อยให้บริหารราชการแผ่นดินต่อไปอีกจะมีผลกระทบ
ช่องทางที่ดีที่สุด เพื่อไม่ให้เกิดช่องว่างการบังคับใช้กฎหมาย โดยเฉพาะกฎหมายที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง คือ หากนายกฯ เคารพเจตนารมย์ของรัฐธรรมนูญ ก็ควรจะแสดงสปิริตลาออก เพื่อให้เข้าสู่กระบวนการสรรหานายกรัฐมนตรีคนใหม่ที่จะสามารถเข้ามาดำเนินการแก้ไขกฎหมายลูก หรือกลไกต่างๆ ให้แล้วเสร็จทันได้ แต่หากนายกรัฐมนตรีไม่ลาออก และใช้เงื่อนไขหรือกลไกอื่น ก็อาจจะมีความเป็นไปได้ที่จะใช้ช่องทางพิเศษ เช่น การออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ทั้งนี้ทุกฝ่าย ต้องช่วยกันเพื่อไม่ให้เกิดเดดล็อกทางการเมือง
นายณัฐวุฒิ ยังกล่าวในฐานะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ว่า ในการประชุมร่วมรัฐสภาวันที่ 10 ส.ค.นี้ ได้เน้นย้ำ ส.ส.ของพรรคก้าวไกลให้เข้าทำหน้าที่การประชุมอย่างพร้อมเพรียง ส่วนกรณีที่พรรคเพื่อไทย (พท.) ระบุว่าจะไม่เข้าร่วมเป็นองค์ประชุมนั้น เป็นความเห็นของพรรคเพื่อไทย ซึ่งการใช้กลไกและกระบวนการของรัฐสภามีหลายอย่าง เช่น การลงมติ การนับองค์ประชุม หรือการยื่นคำร้องในประเด็นที่ไม่เห็นด้วย
แต่สำหรับจุดยืนของพรรคก้าวไกล เห็นว่ากระบวนการพิจารณากฎหมายลูกไปต่อค่อนข้างยาก โดยเฉพาะภายหลังการแก้ไขมาตรา 23 เกี่ยวกับสูตรการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ที่ให้หารด้วย 500 ดังนั้นหนทางที่ดีที่สุด คือ การเดินหน้าพิจารณาวาระ 2-3 ไปก่อน เมื่อผ่านวาระ 3 ไปแล้ว จะต้องส่งให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ซึ่งไม่มีเหตุผลที่ กกต. จะมาแก้ไขปรับปรุงในสิ่งที่ตัวเองเสนอมาตั้งแต่ต้น ดังนั้น กกต. จะต้องชี้กลับมาให้คิดคำนวณด้วยวิธีการหาร 100 จึงเชื่อมั่นว่ารัฐสภาจะกลับมาใช้สูตรคำนวนหาร 100 เพื่อเป็นการเคารพเจตนารมย์ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
อย่างไรก็ตาม หากที่ประชุมร่วมรัฐสภาไม่สามารถพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวได้ทันวันที่ 10 ส.ค. ความจริงก็ยังไม่สิ้นสุดเสียที่เดียว เพราะมี ส.ว. บางคนเปรยว่าอาจจะนัดประชุมรัฐสภาเพิ่มเติมก่อนวันที่ 15 ส.ค. ซึ่งมีความเป็นไปได้
"แต่ท้ายที่สุด หากไม่สามารถพิจารณาได้ทันวันที่ 15 ส.ค.จริง ก็จะนำไปสู่การใช้กฎหมายที่ได้รับหลักการในวาระ 1 คือ ร่าง กกต. หากเป็นเช่นนี้ ก็ยังถือว่ายังอยู่ในกลไกของรัฐสภาอยู่ดี หากมีสมาชิกคนใดไม่เห็นด้วยกับสูตรหาร 100 สามารถยื่นศาลรัฐธรรมนูญให้ตีความต่อได้" นายณัฐวุฒิ กล่าว