เอแบคโพลล์ เผยผลสำรวจประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วยที่จะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ยกเว้นหมวดที่เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์ เพื่อให้เกิดความยุติธรรมแก่ทุกฝ่าย แต่ควรจะและอยากสื่อถึงกลุ่มคนที่มีความขัดแย้งทางการเมืองอยู่ในขณะนี้ให้รับรู้ว่าสังคมต้องการความสงบปกติสุขและความรักความสามัคคีกันในหมู่ประชาชน
"ประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ช่วงเวลาอาจยังไม่เหมาะ เพราะประชาชนเกินครึ่งที่อยากให้แก้ไขปัญหาเศรษฐกิจก่อน ขณะที่ประมาณ 1 ใน 3 เห็นว่าควรแก้ไขรัฐธรรมนูญพร้อมๆ ไปกับการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ
และคนไทยยังเชื่อว่าความขัดแย้งทางการเมืองขณะนี้จะไม่ลุกลามบานปลาย รวมทั้งอยากบอกกับกลุ่มที่กำลังขัดแย้งกันทางการเมืองขณะนี้ว่า พวกเรากำลังต้องการใช้ชีวิตประจำวันด้วยความสงบปกติสุข" นายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเอแบคนวัตกรรมทางสังคม การจัดการและธุรกิจ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ระบุในเอกสารเผยแพร่
ผลสำรวจพบว่า กลุ่มประชาชนต้องการให้แก้ไขรัฐธรรมนูญประมาณครึ่งหนึ่งหรือร้อยละ 49.1 ต้องการให้แก้ไขทุกมาตรายกเว้นที่เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ และร้อยละ 40.4 ต้องการให้แก้ไขที่เกี่ยวกับการยุบพรรคการเมือง โดยกลุ่มประชาชนเกินครึ่ง หรือร้อยละ 55.2 ต้องการให้แก้ไขปัญหาเศรษฐกิจก่อน และร้อยละ 37.6 เห็นควรแก้ไขไปพร้อมๆ กัน
นอกจากนั้น พบว่า ประชาชนร้อยละ 26.9 มองตัวเองว่าอยู่ฝ่ายสนับสนุนรัฐบาล ส่วนอีกร้อยละ 8.2 มองว่าเป็นฝ่ายต่อต้านรัฐบาล แต่ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 65.0 ไม่ขออยู่ฝ่ายใด(พลังเงียบ)
และประชาชนประมาณครึ่งหนึ่งหรือร้อยละ 51.7 เห็นว่ารัฐบาลควรมีแนวทางให้อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยทั้ง 111 คนได้เข้ามาช่วยงานรัฐบาล เพราะมีความสามารถ มีศักยภาพในการทำงาน บ้านเมืองกำลังประสบปัญหาต้องช่วยกัน มีประสบการณ์การทำงาน และอยากให้พิสูจน์ตัวเองอีกครั้ง แต่อีกร้อยละ 41.6 ไม่เห็นด้วย เพราะเป็นการละเมิดกติกา เกรงว่าจะเข้ามาทำเพื่อประโยชน์ของตนเองและพวกพ้อง เกรงว่าจะเกิดความวุ่นวายตามมา
อย่างไรก็ตาม ประชาชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 57.9 คิดว่าความขัดแย้งทางการเมืองที่กำลังเกิดขึ้นขณะนี้เป็นเรื่องปกติธรรมดาในสังคมประชาธิปไตย แต่อีกร้อยละ 41.1 คิดว่าไม่ปกติ โดยคนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 52.7 ยังเชื่อว่าความขัดแย้งทางการเมืองขณะนี้จะไม่ลุกลามบานปลาย แต่อีกร้อยละ 46.0 คิดว่าจะลุกลามบานปลาย
"สิ่งที่ฝ่ายรัฐบาลและคณะบุคคลที่เกี่ยวข้องน่าจะนำไปพิจารณา คือ การหลีกเลี่ยงที่จะพูดหรือสร้างความขัดแย้ง หันมาพูดจาแบบสร้างสรรค์ อย่าลุแก่อำนาจบาตรใหญ่ รัฐบาลน่าจะมุ่งทำงานแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนที่ใกล้ตัวประชาชนเป็นธงนำ ส่วนการแก้ไขรัฐธรรมนูญดูเหมือนจะเป็นเรื่องที่ไม่ยากเกินไปนักเพราะมีฐานสนับสนุนจากสาธารณชนส่วนใหญ่เป็นทุนทางการเมืองอยู่ขณะนี้" นายนพดล กล่าว
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยเอแบคนวัตกรรมทางสังคมฯ ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญในสายตาประชาชนจากผู้มีสิทธิเลือกตั้งใน 18 จังหวัด จำนวน 3,425 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 23-25 มี.ค.ที่ผ่านมา
--อินโฟเควสท์ โดย รัชดา คงขุนเทียน/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--