รายงานข่าวจากรัฐสภา เปิดเผยว่า นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานการประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ฉบับที่ ... พ.ศ. .... หลังมีสมาชิกรัฐสภาครบองค์ประชุมเมื่อเวลาประมาณ 10.10 น. โดยมีสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) เข้าประชุม 165 ราย และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 200 ราย
หลังจากนั้นประธานฯ ได้สั่งตรวจสอบองค์ประชุมก่อนลงมติมาตรา 24/1 อีกครั้งว่าจะให้เพิ่มเติมหรือไม่ ซึ่งใช้เวลารอองค์ประชุมกว่า 15 นาทีแล้วปรากฎว่ามีสมาชิกรัฐสภามาลงชื่อ 353 ราย ไม่ครบองค์ประชุม จึงได้สั่งปิดประชุม ส่งผลให้ร่างกฎหมายลูกว่าด้วยการเลือกตั้งต้องตกไป และกลับไปใช้ร่างของคณะรัฐมนตรี (ครม.) เสนอมา คือ สูตรหาร 100 เนื่องจากครบกำหนดเวลาพิจารณาตามกฎหมาย
นพ.ระวี มาศฉมาดล ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ กล่าวว่า กลุ่มพรรคเล็กได้ใช้ความพยายามสุดความสามารถที่ได้เรียกร้องให้ประธานรัฐสภา เปิดการประชุมขึ้น ซึ่งได้แสดงให้เห็นว่าสภาฯ มีความพยายามที่จะทำหน้าที่ให้สุดทาง ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ไม่ว่าจะล่มตั้งแต่เริ่มประชุม หรือเดินหน้าไปสักพักองค์ประชุมก็จะล่ม
นพ.ระวี กล่าวว่า ยังไม่มีโอกาสได้พบกับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เป็นการส่วนตัว แต่จากการติดตามข่าวจากสื่อทราบว่า พล.อ.ประวิตร สั่งให้ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ เข้าร่วมประชุมในวันนี้ แต่หากวันนี้เกิดสภาล่มเหมือนเดิม หอกดาบก็จะทิ่มไปที่ พล.อ.ประวิตร มากกว่าพรรคเพื่อไทยแน่นอน ซึ่งตนรู้สึกเป็นห่วง
ส่วนกระแสข่าวการจับมือของ 2 พรรคใหญ่ นพ.ระวี กล่าวว่า จนถึงตอนนี้ยังถือว่าเป็นการกล่าวหา พล.อ.ประวิตร อยู่ต้องดูภายภาคหน้าว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป แต่การเลือกตั้งที่ผ่านมาพรรคพลังประชารัฐถือเป็นพรรคของทหารที่ประชาชนไว้วางใจให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี และเชื่อว่าหากเป็นเรื่องจริงประชาชนอาจจะตัดสินลงโทษพรรคพลังประชารัฐในการเลือกตั้งครั้งหน้าแน่นอน โดยพรรคพลังประชารัฐอาจจะทำสถิติสูงสุดสำหรับการเป็นพรรคทหารได้เพียงเท่านี้หรือไม่
ด้านนพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน ในฐานะหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า เมื่อองค์ประชุมไม่ครบก็จะต้องกลับไปใช้ร่างของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่เป็นสูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หารด้วย 100 ซึ่งพ้นไปจากวันนี้ประธานรัฐสภาจะนำส่งคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ซึ่ง กกต.มีเวลา 10 วันในการทักท้วง และให้ความเห็นว่าสามารถปฏิบัติได้หรือไม่ คาดว่าเป็นร่างของ กกต.เองไม่น่าจะมีข้อทักท้วง ซึ่งจะนำส่งให้นายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าฯ แต่ในระหว่าง 5 วัน อาจมีสมาชิกเข้าชื่อร้องศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยความชอบของรัฐธรรมนูญได้ ซึ่งความเสี่ยงของการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมีความเสี่ยงน้อย เมื่อเทียบกับการจะส่งในแบบการหารด้วย 500 ที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ
ส่วนแนวโน้มที่จะกลับไปใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียวนั้น นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ความเป็นไปได้ขึ้นอยู่กับเสียงข้างมาก เพราะสมัยประชุมสมัยนี้จะหมดในวันที่ 19 ก.ย.นี้ และจะไปเปิดสมัยประชุมอีกครั้งในวันที่ 1 พ.ย.65 ยาวไปถึงวันที่ 28 ก.พ.66 หากจะแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นบัตรใบเดียวก็สามารถทำได้ ทั้งนี้ในอุดมการณ์และหลักการการแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องการเลือกตั้งพรรคเพื่อไทย แสดงเจตนารมณ์มาโดยตลอดว่าระบบเลือกตั้งจะต้องสะท้อนการมอบอำนาจของประชาชนถือเป็นเรื่องที่ดีที่สุด
"ประสบการณ์การใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียวมีให้เห็นแล้ว จัดสรรปันส่วนผสมแบบเดิมเป็นเครื่องชี้ชัดว่าเป็นการทำลายระบบรัฐสภา และทำลายระบอบประชาธิปไตยอย่างชัดเจน พรรคเพื่อไทยคัดค้านและไม่เห็นด้วยหากจะใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว แต่ถ้าหากจะกลับไปจะต้องมีกติกามารองรับในเรื่องวิธีการคำนวณ" นพ.ชลน่าน กล่าว