กกต.ปัดยื้อเวลาตัดสินยุบพรรค วอนอย่าลากคดีโยงประเด็นการเมือง

ข่าวการเมือง Wednesday March 26, 2008 13:40 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          นางสดศรี สัตยธรรม กรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ยืนยันว่า กกต.ไม่ได้ถ่วงเวลาในการพิจารณาเรื่องการยุบพรรคและอยากฟังความเห็นจากหลายฝ่าย โดยไม่อยากตกเป็นเครื่องมือของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด 
ทั้งนี้หากคณะที่ปรึกษากฎหมายจะส่งเรื่องให้กฤษฎีกาตีความในข้อกฎหมายเรื่องการยุบพรรคชาติไทยและพรรคมัชฌิมาธิปไตยเพื่อให้เกิดความชัดเจนมากขึ้นก็สามารถทำได้ อย่างไรก็ดี หากความเห็นของคณะที่ปรึกษากฎหมายฯ ไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกับคณะอนุกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงกรณีการยุบพรรคชาติไทยและพรรคมัชฌิมาธิปไตย ที่มีนายบุญทัน ดอกไธสง เป็นประธาน ในท้ายสุดแล้ว กกต.ก็จะเป็นผู้ตัดสินว่าจะต้องส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่
นางสดศรี ยังเรียกร้องว่า ทุกฝ่ายไม่ควรจะนำการพิจารณาคดีความต่างๆ ของ กกต.ไปเป็นประเด็นทางการเมืองจนนำไปสู่ความแตกแยกในสังคม ภายหลังจากที่นายกรัฐมนตรีระบุว่ามีผู้บงการอยู่เบื้องหลังการทำงานของ กกต.
"ส่วนตัวก็สงสาร กกต. ไม่อยากให้ กกต.เหมือนองค์กรที่ทิ้งทุ่นระเบิดกัน เพราะไม่ใช่หน่วยกล้าตายหรือกามิกาเซ่ที่จะใช้ กกต.เป็นเครื่องมือในการทิ้งทุ่นระเบิดแก่ฝ่ายใดทั้งสิ้น" นางสดศรี กล่าว
พร้อมกันนี้นางสดศรี ยังปฏิเสธแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยกล่าวเพียงว่าต้องขึ้นอยู่กับรัฐบาลว่าจะดำเนินการหรือไม่ กกต.เป็นเพียงหน่วยงานที่ต้องปฏิบัติตามคำสั่งของฝ่ายบริหารเท่านั้น
"ของทุกอย่างมีข้อดีและข้อเสียทั้งนั้น กฎหมายก็เหมือนกัน เราควรทำอะไรเพื่อประเทศชาติดีกว่า ต้องดูว่าหากแก้แล้วจะเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมหรือไม่ สำหรับตัวเองไม่มีความคิดเห็นว่าควรจะแก้หรือไม่แก้ ก็สุดแล้วแต่ฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติ" นางสดศรี ระบุ
อย่างไรก็ดี กกต.พร้อมจะจัดให้มีการลงประชามติเพื่อรับฟังความเห็นเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญหากนายกรัฐมนตรีเป็นผู้สั่งการ ซึ่งล่าสุดผลสำรวจจากเอแบคโพลล์ พบว่าประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วยที่จะให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปี 50
ด้านนายสุเมธ อุปนิสากร กกต. กล่าวว่า ไม่ต้องการให้มีการตีความในเรื่องของคดียุบพรรคไปก่อน เพราะขณะนี้ขั้นตอนยังไม่ไปถึงอัยการ ซึ่งต้องรอฟังความเห็นจากที่คณะปรึกษากฎหมายของ กกต.ก่อนว่าจะมีความเห็นไปในทิศทางเดียวกันหรือแตกต่างจากคณะอนุกรรมการตรวจสอบฯ หรือไม่
ส่วนประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 50 นั้น มองว่ายังเร็วเกินไปที่จะแก้ไขในช่วงเวลานี้ ส่วนเวลาที่เหมาะสมนั้นฝ่ายการเมืองจะเป็นผู้ที่เข้าใจและรู้จังหวะเวลามากกว่า

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ