พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ออกแถลงการณ์คัดค้านและประณามการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อลบล้างความผิดให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และพรรคพวก เนื่องจากมีเจตนาชัดเจนที่จะแก้มาตรา 237 และ 309 โดยจะนัดชุมนุมเพื่อคัดค้านทันทีที่มีการดำเนินการดังกล่าว
"พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยมีมติให้คัดค้านและประณามการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อล้างมลทินของคนในระบอบทักษิณและในรัฐบาลนอมินีว่าเป็นความไม่ชอบธรรม ขลาดกลัวในการพิสูจน์ความจริงในชั้นศาล และเป็นเผด็จการรัฐสภาของทุนนิยมสามานย์โดยแท้" แถลงการณ์ของพันธมิตรฯ ระบุ
เนื่องจากรัฐบาลนอมินีได้ประกาศอย่างชัดเจนแล้วว่าจะดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พุทธศักราช 2550 ในมาตรา 237 เพื่อหลบเลี่ยงการกระทำความผิดต่อกฎหมายเลือกตั้งที่จะนำไปสู่การยุบพรรค และจะแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 309 เพื่อยุบเลิกคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) เพื่อตัดตอนคดีความทั้งหลายที่กำลังดำเนินต่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ครอบครัวและพวกพ้องไม่ให้เข้าสู่การพิจารณาของศาลในทุกวิถีทาง
การกระทำดังกล่าวเป็นไปเพื่อประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้อง อันแสดงถึงพฤติกรรมที่เหิมเกริม ลุแก่อำนาจ และไร้ยางอาย อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์การเมืองไทย เพราะมาตรา 237 มีไว้เพื่อป้องกันและลงโทษนักการเมืองไม่ให้ทุจริตเลือกตั้ง หรือใช้เงินเพื่อให้ได้อำนาจเข้ามาปกครองบ้านเมือง
"ทันทีที่มีการดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญอันเป็นผลทำให้เกิดการแก้ไขตัดตอนและลบล้างความผิดของคนในระบอบทักษิณ พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยพร้อมที่จะเชิญชวนพี่น้องประชาชนทั่วประเทศมาร่วมกันคัดค้านตามวิถีทางรัฐธรรมนูญอย่างถึงที่สุด" แถลงการณ์ฯ ระบุ
ดังนั้นมาตราดังกล่าวจึงเป็นการสร้างความเข้มแข็งในระบอบประชาธิปไตยให้เพิ่มมากยิ่งขึ้นด้วยการกำจัดนักการเมืองและพรรคการเมืองที่ทำผิดกฎหมายให้พ้นจากวงจรอุบาทว์ทางการเมือง และปกป้องรักษานักการเมืองที่สุจริตให้มีโอกาสเข้ามาบริหารบ้านเมือง
"บุคคลใดหรือพรรคการเมืองใดที่ต้องการลบล้างบทลงโทษตามมาตรา 237 ในรัฐธรรมนูญ ย่อมเท่ากับเป็นการบ่อนทำลายระบอบประชาธิปไตยให้อ่อนแอและเสื่อมทรามลงอย่างชัดเจน" แถลงการณ์ฯ ระบุ
อีกทั้งหลักเกณฑ์และบทลงโทษตามมาตรา 237 ได้ประกาศไว้ล่วงหน้าก่อนมีการเลือกตั้ง พรรคการเมืองทุกพรรคจึงมีหน้าที่ที่ต้องแสดงความรับผิดชอบในการคัดสรรคนดีมาเป็นหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรค และหามาตรการป้องกันมิให้หัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคมีส่วนรู้เห็นในการกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้งในทุกวิถีทาง ตราบใดที่กรรมการบริหารพรรคการเมืองเหล่านั้นไม่กระทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง ย่อมไม่ถูกลงโทษตามมาตราดังกล่าวอย่างแน่นอน
"เมื่อพรรคการเมืองในรัฐบาลนอมินีมีกรรมการบริหารพรรคที่เข้าข่ายการกระทำความผิดต่อกฎหมายเลือกตั้ง แล้วจะใช้วิธีแก้ไขรัฐธรรมนูญในมาตรา 237 เพื่อลบล้างความผิดที่ได้ทำสำเร็จไปแล้วนั้น จึงถือได้ว่าเป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้ตัวเองและพวกพ้องให้พ้นความผิดอย่างไร้ยางอายเป็นอย่างยิ่ง" แถลงการณ์ฯ ระบุ
ส่วนความพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 309 ของรัฐบาลนอมินีนั้น ก็เพื่อยกเลิกบรรดาการใดๆ ที่ได้รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย(ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2549 รวมทั้งการกระทำที่เกี่ยวเนื่องกับกรณีดังกล่าวนั้นมีเป้าหมายสำคัญเพื่อที่จะยกเลิกองค์กรและทำให้การกระทำของคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ(คตส.) เป็นโมฆะ
"เจตนาที่ต้องการแก้ไขมาตรา 309 แสดงออกถึงความขลาดกลัวในการพิสูจน์ตัวเอง และหลบหนีการตรวจสอบในชั้นศาลอย่างน่าอัปยศอดสูที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย" แถลงการณ์ฯ ระบุ
นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้ผ่านการลงประชามติรับรองจากประชาชนส่วนใหญ่ การแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ตามอำเภอใจเพื่อประโยชน์ของนักการเมืองที่กระทำผิดกฎหมายต่อบ้านเมืองจึงถือเป็นการไม่เคารพและไม่ยอมรับประชาชนชาวไทยที่ลงประชามติเห็นชอบรัฐธรรมนูญกว่า 14 ล้านเสียง
--อินโฟเควสท์ โดย ธนวัฏ เสือแย้ม/กษมาพร โทร.0-2253-5050 อีเมล์: kasamarporn@infoquest.co.th--