นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร พร้อมด้วย 6 พรรคร่วมฝ่ายค้าน ได้เข้ายื่นหนังสือต่อนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้วินิจฉัยวาระการดำรงตำแหน่งของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 170
นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ในคำร้องนี้ ได้ระบุเหตุผลและข้อเท็จจริงในการดำรงตำแหน่งของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ดำรงตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 24 ส.ค.57 เป็นการดำรงตำแหน่งต่อเนื่อง พร้อมอ้างอิงข้อกฎหมายตามบทบัญญัติ มาตรา 264 แห่งรัฐธรรมนูญ ที่ระบุถึงการสิ้นสุดเฉพาะตัวของคณะรัฐมนตรี ขณะเดียวกันคำร้องดังกล่าวยังได้ขอให้ศาลมีคำสั่งให้นายกรัฐมนตรีหยุดปฏิบัติหน้าที่ จนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัย เพื่อไม่ให้นายกรัฐมนตรีใช้อำนาจที่เป็นคุณเป็นโทษได้
หัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวต่อว่า หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้นายกรัฐมนตรีพ้นตำแหน่ง จะส่งผลอันมีเหตุให้คณะรัฐมนตรีทั้งคณะต้องพ้นจากตำแหน่งไปด้วย แต่รัฐธรรมนูญได้เปิดช่องให้คณะรัฐมนตรีสามารถรักษาการได้ ยกเว้น 4 กรณี ดังนี้ 1.ขาดคุณสมบัติตาม มาตรา 98 2.มีคุณสมบัติไม่เป็นที่ประจักษ์ ตามบทบัญญัติมาตราเดียวกัน 3.ฝ่าฝืนจริยธรรมร้ายแรงที่จะไม่สามารถทำหน้าที่รักษาการได้ และ 4.การดำเนินการฝ่าฝืน มาตรา144 เรื่องการใช้งบประมาณ
ส่วนที่มีการมองว่าหากศาลวินิจฉัยให้นายกรัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่ง จะส่งผลให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ขึ้นทำหน้าที่นายกรัฐมนตรีแทนนั้น นพ.ชลน่าน กล่าวว่า พล.อ.ประวิตร จะสามารถรักษาการนายกรัฐมนตรีได้ ก็ต่อเมื่อศาลสั่งให้นายกรัฐมนตรีหยุดปฏิบัติหน้าที่ก่อนมีคำวินิจฉัย จึงจะทำให้รองนายกรัฐมนตรีในลำดับถัดไป ทำหน้าที่นายกรัฐมนตรีรักษาการแทน
ส่วนกระแสข่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ อาจชิงยุบสภาในเดือนส.ค.นี้ นพ.ชลน่าน มองว่า สามารถทำได้ เพราะอำนาจอยู่ที่ท่าน แต่ทั้งนี้ต้องคำนึงถึงเหตุผลในการยุบสภา ส่วนตัวมองว่าขณะนี้ไม่ได้เกิดข้อขัดแย้งใดๆ ระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายบริหาร ที่ทำให้ไม่สามารถดำเนินต่อไปได้ และฝ่ายนิติบัญญัติไม่ได้กระทำความผิด หรือข้อขัดแย้งใดๆ ที่เป็นสาเหตุของการยุบสภาครั้งนี้ เว้นเสียแต่ยุบสภา เพื่อต้องการอยู่ยาวเท่านั้น
ด้านนายชวน กล่าวว่า ตามกฎหมายต้องมีการเข้าชื่อ 1 ใน 10 ของจำนวนสมาชิกที่มีอยู่ หรือไม่น้อยกว่า 48 คน แต่ครั้งนี้ฝ่ายค้านได้ร่วมกันเข้าชื่อเป็นจำนวน 172 รายชื่อ จึงเชื่อว่าไม่น่าจะมีปัญหา โดยหลังรับเรื่องแล้ว สภาฯ จะมีการตรวจสอบคำร้อง และความถูกต้องของผู้ร่วมลงชื่อ คาดว่าจะพิจารณาแล้วเสร็จภายใน 1-2 วัน จากนั้นก็จะสามารถส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญได้เลย