นายสติธร ธนานิธิโชติ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า มองกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องวาระการดำรงตำแหน่ง 8 ปีของนายกรัฐมนตรี และมีมติเสียงข้างมากให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หยุดปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่วันที่ 24 ส.ค. 65 จนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัยว่า การรับเรื่องพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญและคำสั่งศาลที่ให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ไว้ก่อน ในทางการเมืองทำให้บรรยากาศและสถานการณ์ผ่อนคลายดีขึ้น
แต่หากมองไปที่มติตุลาการที่ให้ พล.อ.ประยุทธ์ หยุดปฏิบัติหน้าที่ คะแนน 5 ต่อ 4 เสียงที่ออกมายังก้ำกึ่งว่าควรจะหยุดปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ เพราะถ้าหากตุลาการใน 5 เสียงที่ให้พล.อ.ประยุทธ์หยุดปฏิบัติหน้าที่ ถ้ามีเพียง 1 เสียงที่กลับมาลงมติให้อีกฝั่งก็สามารถทำให้พล.อ.ประยุทธ์ กลับมาทำหน้าที่ต่อได้ ซึ่งถ้าจะให้ชัดเจนว่า พล.อ.ประยุทธ์ ไม่รอดแน่ๆ มติควรจะเป็น 7:2 หรือ 9:0
ทั้งนี้ ส่วนตัวยังเชื่อลึกๆว่า มติของศาลรัฐธรรมนูญที่ออกมาเป็นเพียงการหยุดกระแสสังคมที่ออกมากดดัน เพราะมาถึงขั้นนี้ พล.อ.ประยุทธ์ คงไม่ยอมแพ้ เพราะถ้ายอมแพ้ก็คงเลือกทางอื่น เช่น ลาออก แต่พล.อ.ประยุทธ์ก็ยังไม่ถอย และเชื่อว่า หากพล.อ.ประยุทธ์ผ่านมาได้ และมีการจัดประชุมเอเปคเรียบร้อย คงอยากอยู่จนครบเทอม แต่อาจมีปัจจัยต่างๆ ที่ทำให้การทำหน้าที่ไม่ราบรื่นเท่าไหร่ และหากผ่านเอเปคแรงกดดันน่าจะมากขึ้น ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์ อาจเลือกยุบสภาก่อนครบเทอม เช่น ประมาณเดือนม.ค. เพื่อจัดการเลือกตั้งให้เสร็จก่อนสงกรานต์
แต่หากคำวินิจฉัยศาลฯ ออกมาทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ไม่ได้ไปต่อ นายสติธร มองว่า ก็ต้องจับตาท่าที พล.อ.ประวิตร และท่าทีของพรรคการเมืองที่ออกตัวสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ ว่าจะร่วมกับพล.อ.ประวิตรในการเลือกตั้งครั้งหน้าแทนหรือไม่ และหลังจากนั้น พล.อ.ประวิตรคงต้อง take action ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐอย่างเต็มตัว ไม่ใช่แค่หวือหวา แต่ต้องสร้างเนื้อสร้างตัวทางการเมืองต่อไป
นายสติธร มองว่า การที่พล.อ.ประวิตร ได้ทำหน้าที่รักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี เป็นโอกาสที่ดีที่อำนาจการตัดสินใจบางเรื่องจะยกให้พล.อ.ประวิตรได้ตัดสินใจในช่วงนี้ และเป็นการพิสูจน์อย่างหนึ่งว่า 3 ป.ยังรักกันดีอยู่ จึงทำให้การแก้เกมทางการเมืองมาถึงจุดนี้ และถ้าหากขัดแย้งกันเรื่องอาจไม่ราบรื่นแบบนี้ และ พล.อ.ประยุทธ์ น่าจะรู้ตัวก่อนที่ศาลจะมีคำสั่งจึงเตรียมการให้พล.อ.ประวิตรขึ้นมารักษาการแทน
แม้ว่าในขณะนี้ พล.อ.ประวิตร ถือว่ามีอำนาจเต็ม แต่สถานะนั้นแตกต่างจาก พล.อ.ประยุทธ์ ตรงที่พล.อ.ประวิตร มีสถานะหัวหน้าพรรคการเมืองด้วย และนายกรัฐมนตรีตัวจริงยังอยู่ พล.อ.ประวิตร เพียงทำหน้าที่รักษาการชั่วคราวเท่านั้น และไม่สามารถหลุดออกจากความคาดหวังในฐานะพรรคการเมือง และยังมีประโยชน์ 2 ด้าน ซึ่งการใช้อำนาจต่าง ๆ ไม่ง่าย แม้จะทำได้ทั้งยุบสภาและปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.)
พร้อมเชื่อว่า การกระทำใดๆ ก็ยังต้องปรึกษา 3 ป.โดยเฉพาะกรณีที่เกี่ยวกับยุทธวิธีทางการเมือง ซึ่งการยุบสภาเป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ นายกฯ ต้องกราบบังคมทูลพระราชกฤษฏีกาเกี่ยวกับการยุบสภา เพื่อให้พระมหากษัตริย์ทรงลงพระประมาภิไธย แม้จะมีการตีความว่ารักษาการนายกฯ สามารถยุบสภาทำได้ แต่จะกล้าหรือไม่ และอย่าลืมว่าต้องถามพรรคการเมืองร่วมรัฐบาลด้วย
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าผลคำวินิจฉัยจะออกมาอย่างไร ก็จะมี 2 กรณี คือ อยู่ครบเทอม หรือ ไม่ครบเทอม เพราะสาเหตุใด โดยคาดว่ากรอบระยะเวลาของศาลรัฐธธรรมนูญที่จะพิจารณานั้นหากเทียบเคียงกับกรณีที่ที่ผ่าน ๆ มาคาดว่าจะใช้เวลาราว 2 เดือน