นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขณะนี้รัฐบาลยังไม่มีเหตุให้ต้องปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) จากกรณีที่นางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รมช.ศึกษาธิการ ถูกศาลฎีกามีคำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่หลังจากรับคำร้องคดีฝ่าฝืนจริยธรรมร้ายแรงรุกที่ป่าเขาใหญ่ เนื่องจากอำนาจหน้าที่ของนางกนกวรรณในฐานะ รมช.ก็จะกลับไปสู่ รมว. และกระทรวงศึกษาธิการเดิมก็มีรัฐมนตรีอยู่ถึง 3 คน
ส่วนกระแสข่าวยุบสภานั้น นายวิษณุ กล่าวว่า ตามทฤษฎีรักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรีก็มีอำนาจยุบสภา แต่ในทางปฎิบัติต้องคิดหลายอย่างให้รอบคอบ เพราะการยุบสภาไม่ใช่แค่เอากระดาษมาเขียนแล้วยุบก็เสร็จ แต่ต้องนำเรื่องขึ้นทูลเกล้าฯ และต้องมีคำอธิบายเหตุผลของการยุบสภา
"ก็มันยังไม่ยุบ คุณจะไปวิตกทำไม ถามอย่างเหมือนรู้วงในว่าจะยุบ?การยุบสภาไม่ใช่เอากระดาษมาแล้วเขียนยุบสภาก็เสร็จ ต้องทูลเกล้าฯ ถวาย และต้องมีคำอธิบายว่าเหตุใด ผมนึกไม่ออกว่าจะมีเหตุอะไร สมมติจะยุบเขียนเหตุให้ดี ผมจะได้เขียนได้ถูก ปกติแล้วจะต้องมีเหตุสภาขัดแย้งกันกับรัฐบาลแพ้โหวตในสภา คืนอำนาจให้ประชาชน แต่ตอนนี้ยังมองไม่เห็น อย่าเชื่อข่าวลือเลย"นายวิษณุ กล่าว
นายวิษณุ กล่าวถึงกรณีมีการยุบสภาในระหว่างที่ร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. ยังไม่มีผลบังคับใช้ จะส่งผลอย่างไรต่อการเลือกตั้งว่า มี 2 วิธี คือ 1.คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นผู้ออกระเบียบการเลือกตั้ง หรือ 2.ออกเป็นพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ซึ่งอาจไม่ยุ่งยาก เนื่องจากสามารถนำร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ที่ครม.ให้ความเห็นชอบไปแล้ว มาจัดทำเป็นพ.ร.ก.ได้
อย่างไรก็ตาม ไม่เห็นด้วยกับวิธีที่ 2 เพราะเกรงว่าจะมีการไปปรับแก้รายละเอียดเพิ่มเติม โดยกฎหมายลูกว่าด้วยการเลือกตั้ง ทางกกต.ได้ให้ความเห็นชอบและนำเข้าที่ประชุมสภาไปแล้ว จึงไม่น่าจะมีข้อครหาอะไร แม้จะไม่ถูกใจบางคน เช่น เรื่องสูตรคำนวณ ส.ส. หาร 100 หรือ 500 แต่ไม่ว่าจะใช้วิธีออกระเบียบ หรือออกพ.ร.ก.ก็อาจจะถูกใช้เป็นบรรทัดฐานในอนาคตได้
สำหรับร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.นั้น ทางรัฐสภาจะเก็บไว้พิจารณา 3 วัน และน่าจะครบกำหนดแล้ว แต่ยังไม่ได้ส่งมาที่รัฐบาล หากส่งมาเมื่อไหร่ รัฐบาลจะเก็บไว้อย่างน้อย 5 วัน ก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ แต่ได้ยินว่าจะมีผู้ไปยื่นร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ก็อาจจะส่งผลให้กระบวนการล่าช้าออกไป