ที่ประชุมร่วมรัฐสภา ลงมติคว่ำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติมทั้ง 4 ร่าง หลังคะแนนเห็นชอบไม่เกินกึ่งหนึ่ง หรือ 364 คน จากจำนวนสมาชิกรัฐสภาที่ปฏิบัติหน้าที่ได้ทั้งหมด 727 คน
- ร่างที่ 1 ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติม มาตรา 43 เกี่ยวกับสิทธิบุคคลและชุมชน ที่นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน หัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) และคณะเป็นผู้เสนอ มีคนะแนนเห็นชอบ ส.ส. 342 คะแนน ส.ว. 40 คะแนน, ไม่เห็นชอบ ส.ส. 99 คะแนน ส.ว. 153 คะแนน และงดออกเสียง ส.ส. 2 คะแนน ส.ว. 26 คะแนน
- ร่างที่ 2 ร่างแก้ไขมาตรา 25 มาตรา 29 มาตรา 34 เกี่ยวกับสิทธิและเสรีภาพประชาชน ที่ นพ.ชลน่าน และคณะเป็นผู้เสนอ ได้คะแนนเห็นชอบ ส.ส. 338 คะแนน ส.ว. 8 คะแนน, ไม่เห็นชอบ ส.ส. 103 คะแนน ส.ว. 196 คะแนน และงดออกเสียง ส.ส. 2 คะแนน ส.ว. 15 คะแนน
- ร่างที่ 3 ร่างแก้ไขมาตรา 159 และ 170 เกี่ยวกับคุณสมบัติและที่มาของนายกรัฐมนตรี ที่ นพ.ชลน่าน และคณะเป็นผู้เสนอ ได้คะแนนเห็นชอบ ส.ส. 337 คะแนน ส.ว. 9 คะแนน, ไม่เห็นชอบ ส.ส. 100 คะแนน ส.ว. 192 คะแนน และงดออกเสียง ส.ส. 6 คะแนน ส.ว. 18 คะแนน
- ร่างที่ 4 ร่างแก้ไขมาตรา 272 เกี่ยวกับการตัดอำนาจ ส.ว.ในการเลือกนายกรัฐมนตรี ที่นายสมชัย ศรีสุทธิยากร และประชาชนเข้าชื่อเสนอ ได้คะแนนเห็นชอบ ส.ส. 333 คะแนน ส.ว. 23 คะแนน, ไม่เห็นชอบ ส.ส. 102 คะแนน ส.ว. 151 คะแนน และงดออกเสียง ส.ส. 8 คะแนน ส.ว. 45 คะแนน
ในการลงคะแนนครั้งนี้ พบว่า ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) พรรครวมพลังประชาชาติ และ ส.ส.พรรคเล็ก ลงมติไม่รับหลักการทั้ง 4 ร่าง ขณะที่พรรคภูมิใจไทย พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) และพรรคฝ่ายค้านทุกพรรค ลงมติรับหลักการทั้ง 4 ร่าง
ขณะที่ ส.ว.ส่วนใหญ่ โดยเฉพาะ ส.ว.ที่เป็นตำรวจ ทหาร ลงมติไม่รับหลักการทั้ง 4 ร่าง มีเพียง ส.ว.บางส่วนเท่านั้น ที่ลงมติรับหลักการในร่างที่ 4 เรื่องการตัดอำนาจ ส.ว.โหวตเลือกนายกรัฐมนตรี อาทิ นางกาญจนารัตน์ ลีวิโรจน์, นายคำนูณ สิทธิสมาน, นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ, พญ.คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์, นายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์, นายพิศาล มาณวพัฒน์, นายวันชัย สอนศิริ, นายมณเฑียร บุญตัน, พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช และนายวัลลภ ตังคณานุรักษ์