ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรวานนี้ ได้มีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง ก่อนจะมีมติให้ถอนร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง ออกจากระเบียบวาระการประชุมด้วยมติ 198 เสียงต่อ 136 เสียง งดออกเสียง 12 เสียง
โดยก่อนเข้าสู่ระเบียบวาระพิจารณา มีการเสนอญัตติให้ถอนร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง ออกจากวาระพิจารณา เนื่องจากพบว่ามีเนื้อหาที่สร้างความกังวลต่อสังคมในการป้องกันเยาวชน และมองว่าการควบคุมการใช้ยังไม่ครอบคลุมรวมถึงมุ่งเน้น การใช้เพื่อนันทนาการมากกว่าเพื่อทางการแพทย์ มีนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) และนายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย (พท.) อภิปรายสนับสนุนให้ถอนร่างกฎหมายไปปรับปรุง เพราะหากเดินหน้าลงมติเชื่อว่าจะถูกตีตก
ขณะที่ ส.ส.พรรคภูมิใจไทย ได้แก่ นายศุภชัย ใจสมุทร ในฐานะประธานกรรมาธิการฯ, นายภราดร ปริศนานันทกุล ส.ส.อ่างทอง อภิปรายให้เดินหน้าพิจารณา หากมีประเด็นที่ไม่รัดกุมควรใช้วาระพิจารณาวาระสองแก้ไข และขออย่ามองเป็นประเด็นทางการเมือง พร้อมกับเสนอญัตติให้สภาฯเดินหน้าพิจารณา
ทั้งนี้นายชาดา ไทยเศรษฐ์ ส.ส.อุทัยธานี อภิปรายขอให้สภาฯ ทำในสิ่งที่ถูกต้อง ผ่านการเดินหน้าพิจารณา หากถอนร่าง พ.ร.บ.กัญชากัญชงออกไป และเสนอกลับมาใหม่อาจไม่ทันบังคับใช้ และอาจตกไป เนื่องจากวาระทางการเมือง เช่น การยุบสภา เพราะแม้จะผ่านขั้นตอนของสภาฯ ต้องส่งไป ส.ว. และดำเนินการหลายขั้นตอน และข้อเสนอดีๆ อาจจะตกไปได้ ดังนั้นสภาฯ ควรรับผิดชอบร่วมกันไม่ควรปล่อยให้บ้านเมืองมีปัญหา
หลังจากที่ประชุมถกเถียงกันนานกว่า 1 ชั่วโมง นายศุภชัย เสนอว่าขอให้ถอนญัตติที่ให้ถอนร่างกฎหมายออกไป เพื่อให้เริ่มพิจารณาร่างกฎหมายได้ โดย กมธ.จะขอพิจารณาไปเพียงมาตราเดียว เพื่อให้ กมธ.รับข้อห่วงใยของ ส.ส.ไปพิจารณาแก้ไขโดยวางเป้าหมายเพื่อประชาชน
สำหรับผลการลงมติ พบว่า เสียงเห็นด้วยให้ถอนร่างกฎหมายนั้นมาจากหลากหลายพรรค อาทิ พรรคเพื่อไทย, พรรคประชาธิปัตย์, พรรคพลังประชารัฐ, พรรคชาติไทยพัฒนา, พรรคเสรีรวมไทย , พรรคประชาชาติ ดังนี้
- พรรคเพื่อไทย ลงมติเห็นด้วย 93 เสียง และมีลงมติไม่เห็นด้วย 7 เสียง ประกอบ ด้วยส.ส.กลุ่มที่มีข่าวว่าจะย้ายไปร่วมงานกับพรรคภูมิใจไทย คือ นายจักรพรรดิ ไชยสาส์น, นายจาตุรงค์ เพ็งนรพัฒน์ , นายธีระ ไกตรสรณกุล , นายนิยม ช่างพินิจ, นางผ่องศรี แซ่จึง, นายวุฒิชัย กิตติธเนศวร และนายสุชาติ ภิญโญ
- พรรคประชาธิปัตย์ เห็นด้วย 30 เสียง ไม่เห็นด้วยกับการถอนเนื้อหา 2 เสียง คือ นายมนตรี ปาน้อยนนท์, นายพนิต วิกิตเศรษฐ์ และมีผู้งดออกเสียง 2 คน คือนายภาณุ ศรีบุศยกาญจน์ และ นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์
- พรรคพลังประชารัฐ เห็นด้วย 47 เสียง ไม่เห็นด้วย 3 เสียง คือ นางพรรณสิริ กุลนาถศิริ, นายวีระกร คำประกอบ และ พล.อ.สมชาย วิษณุวงศ์ และงดออกเสียง 4 เสียง ได้แก่ นายมานัส อ่อนอ้าย, นายวันชัย ปริญญาศิริ, นายสัญญา นิลสุพรรณ และ นายสุรสิทธิ์ วงศ์วิทยานันท์
- พรรคก้าวไกล ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย แต่มีเพียง 1 คน คือ นายณัฐพล สืบศักดิ์วงศ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ที่เห็นด้วย
- พรรคชาติไทยพัฒนา ส.ส.ที่ร่วมประชุม 8 คน โหวตไม่เห็นด้วยทั้งหมด
- พรรคเสรีรวมไทย ส.ส.ร่วมประชุม 9 คน โหวตเห็นด้วยทั้งหมด
- พรรคเศรษฐกิจใหม่ พบว่า นายนิยม วิวรรธนดิฐกุล โหวตเห็นด้วย ขณะที่อีก 4 เสียงโหวตไม่เห็นด้วย ได้แก่ นายภาสกร เงินเจริญกุล, นางมารศรี ขจรเรืองโรจน์, น.ส.จิราพร จาคดิลก และ นายสุภดิช อากาศฤกษ์
- พรรคเศรษฐกิจไทย มี 7 เสียงที่เห็นด้วย ขณะที่ 3 เสียงไม่เห็นด้วย ประกอบด้วย นายณัฏฐพล จรัสรพีพงษ์, นายธนะสิทธิ์ โควสุรัตน์, นายธนัสถ์ ทวีเกื้อกูลกิจ ขณะที่ พล.ต.อ. ยงยุทธ เทพจำนงค์ งดออกเสียง
- พรรครวมพลัง มีเสียงเห็นด้วย 1 เสียง คือ น.ส.จุฑาฑัตต เหล่าธรรมทัศน์ ขณะที่นายเขตรัฐ เหล่าธรรมทัศน์ งดออกเสียง
- พรรคชาติพัฒนา พบว่า นายสมัคร ป้องวงษ์ ส.ส.สมุทรสาคร โหวตไม่เห็นด้วย ขณะที่อีก 3 เสียง งดออกเสียง ได้แก่ นายดล เหตระกูล, นายเทวัญ ลิปตพัลลภ และ นายวัชรพล โตมรศักดิ์
- พรรคพลังปวงชนไทย นายนิคม บุญวิเศษ โหวตเห็นด้วย
- พรรคประชาชาติ มีส.ส. 6 คนร่วมประชุม โหวตเห็นด้วยทั้งหมด
- พรรคพลังท้องถิ่นไท 3 เสียงไม่เห็นด้วย
- พรรคครูไทยเพื่อประชาชน ได้แก่ นายปรีดา บุญเพลิง โหวตไม่เห็นด้วย
- พรรคประชาภิวัฒน์ นางนันทนา สงฆ์ประชา โหวตไม่เห็นด้วย
- พรรคพลังธรรมใหม่ นพ.ระวี มาศฉมาดล โหวตไม่เห็นด้วย
- พรรคเพื่อชาติ มี 2 ส.ส.ที่เห็นด้วย คือ น.ส.ปิยะรัฐชย์ ติยะไพรัช และ นายสงคราม กิจเลิศไพโรจน์ ขณะที่นายอารี ไกรนรา ไม่เห็นด้วย
ขณะที่พรรคภูมิใจไทย ส่วนใหญ่ออกเสียงไม่เห็นด้วย มีเพียงนายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาฯ คนที่สอง ซึ่งทำหน้าที่ประธานในที่ประชุมที่งดออกเสียง