ปธ.สภาฯ มอบฝ่ายกฎหมายศึกษากฎ 180 วันกกต. ก่อนส่งให้ ส.ส.นำไปปฏิบัติ

ข่าวการเมือง Wednesday September 28, 2022 13:27 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ชี้แจงข้อปฏิบัติช่วง 180 วันก่อนการเลือกตั้งว่า ได้มอบหมายให้ฝ่ายกฎหมายฯ ไปศึกษาคำแนะนำและระเบียบของ กกต.ที่ประกาศออกมา รวมทั้งข้อกฎหมายอื่น พร้อมทั้งจัดส่งข้อมูลที่ฝ่ายกฎหมายฯ ศึกษาให้กับ ส.ส.ทุกคนได้รับทราบ เพื่อเป็นประโยชน์ในการแนะนำ ซึ่งเหนือสิ่งอื่นใดให้ยึดกฎหมายเป็นหลักไว้ ส่วนรายละเอียดที่นอกเหนือจากข้อบังคับก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ถ้ายึดกฎหมายเป็นหลักก็ปลอดภัยกว่า จึงอยากให้ ส.ส.ทุกคนระมัดระวัง

ขณะที่ในการประชุม คณะกรรมาธิการ (กมธ.) กิจการสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายอนันต์ ผลอำนวย ส.ส.กำแพงเพชร พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เป็นประธานฯ ได้หารือรายละเอียดของแนวทางการหาเสียงเลือกตั้งของ ส.ส.ในช่วงระยะเวลา 180 วันก่อนวันครบอายุสภาผู้แทนราษฎร โดยมีร.ต.อ.ชนินทร์ น้อยเล็ก รองเลขาธิการ กกต.มาชี้แจง และมีตัวแทนจากพรรคการเมืองต่างๆ เข้าร่วมรับฟัง

ทั้งนี้ มีสมาชิกได้ซักถามในหลายประเด็น อาทิ นายนิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) ที่มีข้อสงสัยว่า การคิดคำนวณค่าใช้จ่ายตามระเบียบของ กกต. ได้ยึดตามวันครบอายุสภาในวันที่ 23 มี.ค. 66 แต่หากมีการยุบสภาเกิดขึ้นก่อน จะต้องเริ่มต้นคิดคำนวณค่าใช้จ่ายอย่างไร และในช่วงเวลานี้ ร่างกฎหมายลูกว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ จะเป็นปัญหาต่อการคำนวณค่าใช้จ่ายหรือไม่ รวมถึงมีการตั้งข้อสังเกตถึงเอกสารชี้แจงรายละเอียดของ กกต. ที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 27 ก.ย.ว่า แม้จะมีรายละเอียดครบถ้วนจริง แต่ไม่มีการลงนามรับรองตามกฎหมายจึงไม่มั่นใจว่า จะสามารถนำไปใช้อ้างอิงได้จริงหรือไม่

ด้านร.ต.อ.ชนินทร์ ชี้แจงตอนหนึ่งว่า หากทำผิดก่อนช่วงครบวาระ แล้วต่อมามีการยุบสภา ที่เป็นความเห็นทางกฎหมายฐานความผิดในขณะที่กระทำ มีกรอบอยู่กรอบหนึ่ง และเมื่อกรอบเดิมยกเลิกก็มาเริ่มกรอบใหม่ ซึ่งต้องหารือกันอีกหลายรอบ แต่ถ้าทำผิดต้องรับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

ส่วนกรณีการไปร่วมงานศพสามารถให้พวงหรีดที่เป็นดอกไม้สดได้ เนื่องจาก กกต.มองว่าเป็นการแสดงความเคารพ แต่อย่างอื่นมองว่าเป็นสิ่งของ สำหรับการหาเสียงผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ถ้ามีค่าใช้จ่ายก็ให้นำมาคิด หรืออย่างกรณีที่มีแฟนคลับมาช่วยหาเสียงในโซเชียลหากเกิน 10,000 บาท ก็ให้นำมาแจ้งกับพรรคการเมืองเพื่อคิดเป็นค่าใช้จ่าย ส่วนวิธีการตรวจสอบนั้น หากมีการร้องเรียนเกิดขึ้น กกต.ก็จะต้องพิสูจน์ความผิดนั้น สำหรับข้อความที่จะเขียนในป้ายหาเสียงที่สามารถเขียนได้จะเป็นการเขียนชื่อผู้สมัคร เบอร์โทรศัพท์ นโยบายพรรค สโลแกน และให้พึงระวังเรื่องการใส่ร้ายป้ายสีบุคคลอื่น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ