นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา กล่าวถึงการเป็นเจ้าภาพการประชุมประจำปีรัฐสภาภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิก ครั้งที่ 30 ระหว่างวันที่ 26-29 ต.ค.65 ภายใต้หัวข้อ "บทบาทของรัฐสภาในการเร่งรัดการพัฒนาอย่างยั่งยืนภายหลังการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019" โดยมีเอกอัครราชทูตจาก 7 ประเทศ ได้แก่ สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม เม็กซิโก สาธารณรัฐโคลอมเบีย สาธารณรัฐชิลี สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และสาธารณรัฐเปรู พร้อมด้วยคณะทูตานุทูต ประเทศผู้สังเกตการณ์ องค์การระหว่างประเทศ รวมทั้งสิ้น 20 ประเทศสมาชิก 1 ประเทศผู้สังเกตการณ์ และ 1 องค์การระหว่างประเทศ เข้าร่วมงาน
ประธานรัฐสภา กล่าวว่า ขณะนี้มีประเทศสมาชิกและผู้สังเกตการณ์ตอบรับเข้าร่วมการประชุมแล้วกว่า 20 ประเทศจากทั้งหมด 28 ประเทศที่มีสำนักงานในประเทศไทย โดยจะเป็นครั้งแรกของรัฐสภาที่จะใช้อาคารรัฐสภาแห่งใหม่เป็นสถานที่จัดการประชุม และรองรับคณะทูตานุทูตจากต่างประเทศ และจะเป็นครั้งสุดท้ายของสภาผู้แทนราษฎรในชุดนี้
ในการประชุมดังกล่าวประเทศไทยจะหยิบยกบทบาทของฝ่ายนิติบัญญัติในการเดินหน้าหลังผ่านพ้นสถานการณ์โควิด-19 รวมถึงการเผชิญหน้ากับปัญหาอื่นๆ ที่แม้การระบาดโควิด-19 จะผ่านพ้นไปแล้วแต่ยังถือเป็นโรคติดต่อ และการรับมือกับโรคติดต่ออื่นๆ ที่จะมีโอกาสเกิดขึ้นในอนาคตด้วย
การประชุมครั้งนี้มีวาระครอบคลุมประเด็นหลากหลายต่างๆ จึงเป็นโอกาสอันดีของไทยที่จะผลักดันวาระที่มีความสำคัญและเพิ่มพูนผลประโยชน์แก่ประเทศ ประชาชน ภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก นอกจากนี้ยังเป็นโอกาสสำคัญของรัฐสภาไทยที่จะแสดงบทบาทการเป็นศูนย์กลางความร่วมมือในเวทีรัฐสภาระหว่างประเทศ และช่วยฟื้นความเชื่อมั่นของประเทศจากวิกฤต การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งไม่เพียงส่งผลในด้านสาธารณสุข แต่ยังกระทบต่อเศรษฐกิจและการพัฒนา รวมทั้งวิถีชีวิตของประชาชนในทุกระดับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อการดำเนินการของประเทศต่างๆ เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) โดยผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ความก้าวหน้าในการดำเนินการในหลายประเทศประสบปัญหา และอาจส่งผลให้ไม่สามารถบรรลุเป้าหมายภายในระยะเวลาที่กำหนดได้ รัฐสภาไทยได้ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว และเห็นว่าการประชุม APPF ครั้งที่ 30 ควรนำประเด็นการพัฒนาที่ยั่งยืนมาหารือในกลุ่มประเทศสมาชิกของภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลความเห็น และประสบการณ์ของสมาชิกรัฐสภาจากประเทศต่างๆ ในภูมิภาค จากการหารือร่วมกันเพื่อนำเสนอแนวทางในบริบทของฝ่ายนิติบัญญัติ โดยคาดหวังว่าแนวทางการดำเนินการด้านนิติบัญญัติจะมีส่วน ช่วยสนับสนุนการดำเนินการของประเทศสมาชิกให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนได้ทันภายในปี 2573
หัวข้อสำหรับการประชุมทั้ง 4 ด้านของการประชุมประจำปี APPF ครั้งที่ 30 ได้แก่
ด้านสตรี หัวข้อ "การเสริมสร้างศักยภาพของสตรีเพื่อรับมือกับวิกฤตการณ์ในอนาคต การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของสตรีในการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019"
ด้านการเมืองและความมั่นคง หัวข้อ "บทบาทการทูตเชิงรัฐสภาในการส่งเสริมความมั่นคง ในภูมิภาค / การส่งเสริมความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ในภูมิภาค /รัฐสภาและการฟื้นฟูอย่างยั่งยืนภายหลังการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019 เพื่อส่งเสริมประชาธิปไตย สันติภาพ และความมั่นคง"
ด้านเศรษฐกิจและการค้า หัวข้อ "การส่งเสริมความหลากหลายทางชีวภาพและเศรษฐกิจสีเขียวเพื่อการพัฒนาที่ครอบคลุม / การเพิ่มความเชื่อมโยงและการพัฒนาด้านเศรษฐกิจดิจิทัลในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก"
ด้านความร่วมมือระดับภูมิภาคภายในเอเชีย-แปซิฟิก หัวข้อ "บทบาทของรัฐสภาในการส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนเพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็น กลางทางคาร์บอนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ /การพัฒนาและการขยายการเข้าถึงสาธารณสุขมูลฐานอย่างเท่าเทียม/การส่งเสริมการท่องเที่ยวระดับภูมิภาคและการสนับสนุนความเข้าใจในความหลากหลายทางวัฒนธรรม"
ทั้งนี้ การประชุมประจำปีรัฐสภาภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิก (APPF) ประกอบด้วย 4 อนุภูมิภาค ได้แก่
1.เอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ (5 ประเทศ) ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี มองโกเลีย และรัสเซีย
2.เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (9 ประเทศ) ได้แก่ กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย เวียดนาม และบรูไนดารุสซาลาม
3.โอเชียเนีย/หมู่เกาะต่างๆ ในมหาสมุทรแปซิฟิกตอนกลาง ตะวันตก และตอนใต้ (6 ประเทศ) ได้แก่ ออสเตรเลีย ฟิจิ ไมโครนีเซีย นิวซีแลนด์ ปาปัวนิวกินี และหมู่เกาะมาร์แชลล์
4.อเมริกา (8 ประเทศ) ได้แก่ แคนาดา ชิลี โคลัมเบีย เม็กซิโก เปรู สหรัฐอเมริกา เอกวาดอร์ และคอสตาริกา