พรรคเพื่อไทย ออกแถลงการณ์กรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่าความเป็นนายกรัฐมนตรี ของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังไม่สิ้นสุดลง โดยระบุว่า ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยว่าความเป็นนายกรัฐมนตรีของพล.อ.ประยุทธ์ ยังไม่สิ้นสุดลง โดยนับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพล.อ.ประยุทธ์ เริ่มนับตั้งแต่วันที่รัฐธรรมนูญปี 2560 มีผลใช้บังคับนั้น หลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยดังกล่าว เชื่อได้ว่าจะเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในหมู่นักวิชาการและประชาชนในวงกว้างที่ไม่เห็นด้วย
พรรคเพื่อไทยเคารพในการปฏิบัติหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญและผลผูกพันแห่งคำวินิจฉัย แต่ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งในเหตุผลแห่งคำวินิจฉัย เนื่องจากรัฐธรรมนูญของประเทศไทยเป็นรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษร การตีความต้องยึดตามบทบัญญัติที่เป็นลายลักษณ์อักษรและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญประกอบกัน เมื่อรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 158 วรรคสี่ และมาตรา 264 บัญญัติห้ามการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเกิน 8 ปี และให้ถือว่าคณะรัฐมนตรีที่มีอยู่ก่อนรัฐธรรมนูญประกาศใช้เป็นคณะรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญปี 2560 ด้วย
ดังนั้น พล.อ.ประยุทธ์ แม้จะดำรงตำแหน่งอยู่ก่อนรัฐธรรมนูญ 2560 ประกาศใช้ แต่เมื่อถือเป็นนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญปี 2560 ด้วย ข้อเท็จจริงก็ปรากฏว่าพระบรมราชโองการโปรดเกล้าแต่งตั้งให้ พล.อ.ประยุทธ์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีลงวันที่ 24 ส.ค. 2557 ก็ยังคงมีผลใช้อยู่ต่อเนื่องมาภายหลังวันที่ 6 เม.ย. 2560 ซึ่งเป็นวันที่รัฐธรรมนูญมีผลใช้บังคับ การตัดตอนเอาวันที่รัฐธรรมนูญมีผลใช้บังคับเป็นวันเริ่มดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่อาจหาตรรกะใดมาอธิบายได้
อีกทั้งข้อเท็จจริงปรากฏชัดในบันทึกของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญว่าให้นับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีก่อนวันรัฐธรรมนูญ 2560 มีผลใช้บังคับรวมด้วย อันถือเป็นหลักฐานที่ชัดเจนของเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ประชาชนก็รับรู้เป็นการทั่วไปว่า พล.อ.ประยุทธ์ ดำรงตำแหน่งมาแล้วตั้งแต่วันที่ 24 ส.ค. 2557 ซึ่งครบ 8 ปีในวันที่ 24 ส.ค. 2565
พรรคเพื่อไทย จึงเห็นว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ น่าจะมีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และจะเป็นการสร้างบรรทัดฐานทางกฎหมายในการตีความที่นักวิชาการกฎหมายและสังคมต้องร่วมกันคิดว่าหลักคิดและเหตุผลในการวินิจฉัยนั้นมีเหตุผลที่สอดคล้องกับบทบัญญัติและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญหรือไม่ รวมถึงช่วยกันทบทวนถึงบทบาทการทำหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญโดยเฉพาะบทบัญญัติที่ให้คำวินิจฉัยมีผลผูกพันทุกองค์กรนั้น ควรจะมีการทบทวนเพื่อสร้างกลไกการตรวจสอบให้เกิดความเหมาะสมอย่างไร
อย่างไรก็ดี พรรคเพื่อไทยไม่ได้กังวลว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจะส่งผลให้ พล.อ.ประยุทธ์ ยังคงดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้ต่อไปจนถึงครบวาระในเดือน มี.ค.2566 และยังสามารถดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไปได้อีก หลังเลือกตั้งทั่วไปครั้งหน้า แต่สิ่งที่พรรคห่วงและกังวลก็คือ ปัญหารากเหง้าที่กลืนกินสังคมไทยที่สั่งสมมาตั้งแต่การรัฐประหารเมื่อ 8 ปีที่ผ่านมา จะได้รับการเยียวยาแก้ไขเพื่อให้ประเทศกลับคืนสู่สังคมประชาธิปไตย มีหลักนิติรัฐนิติธรรมโดยแท้จริงอย่างไร
นอกจากนี้ ที่น่าห่วงกังวลอีกประการคือ บรรทัดฐานความความถูกต้องของการใช้และการตีความรัฐธรรมนูญของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งพรรคเห็นว่าน่าจะมีปัญหา แต่ไม่มีกลไกใดที่จะตรวจสอบคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญได้ ซึ่งปัญหานี้ถือเป็นโจทก์ใหญ่ที่ทุกคน ในสังคมต้องช่วยกันคิดและหาทางออกต่อไป