นายอนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนานโยบายสาธารณะ สำนักนายกรัฐมนตรี ประเมินว่า ความเสี่ยงวิกฤตการณ์การเมืองเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนในขณะนี้ นอกจากนี้ความไม่แน่นอนทางเมืองและความตึงเครียดทางการเมืองก็เพิ่มขึ้นอีก นโยบายสาธารณะต่างๆ อาจจะสะดุดและไม่ต่อเนื่องได้ ต้นทุนมหาศาลทางเศรษฐกิจและทางสังคมได้เกิดขึ้นแล้วจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญกรณีวาระ 8 ปีของนายกรัฐมนตรี เกิดการสั่นคลอนความน่าเชื่อถือของระบบความยุติธรรมและองค์กรอิสระ รวมทั้งการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายสูงสุด จะฉุดรั้งการลงทุนจากต่างประเทศ โดยเฉพาะการลงทุนระยะยาวขนาดใหญ่ ทำให้ประเทศไทยสูญเสียโอกาสทางเศรษฐกิจอย่างมาก การขาดความชอบธรรมทางการเมืองในสายตาของประชาชนส่วนใหญ่ในการกลับเข้ามาทำหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีเกิน 8 ปี ย่อมทำให้ระบบการเมืองไม่มีเสถียรภาพอย่างมาก
"สังคมไหนก็ตามที่ไม่สามารถรักษาระบอบการปกครองโดยกฎหมายได้ ไม่มีนิติธรรม และไม่ยึดถือกฎหมายกติกาสูงสุด ทุกอย่างขึ้นอยู่กับความพึงพอใจของผู้มีอำนาจ สังคมและเศรษฐกิจนั้นๆ จะเกิดความยุ่งยากวุ่นวาย ภาวะไร้ระเบียบ และความรุนแรงติดตามมาได้ เพราะผู้คนจะปฏิบัติตามกฎหมายน้อยลง และไม่เชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม ทำให้เกิดความเสี่ยงในการใช้วิถีทางนอกกฎหมายมากขึ้น ส่งผลกระทบด้านลบต่อการลงทุนต่างๆ อย่างชัดเจน โดยเฉพาะโครงการใหญ่ๆ ของนักลงทุนต่างชาติ" นายอนุสรณ์ กล่าว
พร้อมระบุว่า ทางเดียวในการแก้ไขปัญหาเสถียรภาพทางการเมือง คือ การสร้างประเทศที่ตั้งอยู่บนสถาบันบนฐานของกฎหมายและเหตุผล โดยไม่คำนึงถึงตัวบุคคลและเครือข่ายอุปถัมภ์ การตัดสินคดีต่างๆ แบบหลายมาตรฐาน แสดงถึงความเสื่อมของระบบยุติธรรมและกระบวนการยุติธรรม สะสมความไม่พอใจต่อความไม่เป็นธรรม หากสังคมไม่ร่วมแสวงหาแนวทางในแก้ปัญหาเพื่อให้ประชาชนกลับมาศรัทธาต่อระบบและกระบวนการยุติธรรมแล้ว ก็มีความเสี่ยงที่สังคมอาจถลำลึกลงสู่สภาวะไร้ระเบียบและอนาธิปไตยได้
นายอนุสรณ์ กล่าวต่อว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ จำเป็นต้องมีกลไกในการตรวจสอบถ่วงดุล ต้องมีการวางระบบตรวจสอบและถ่วงดุลเพื่อป้องปรามการใช้อำนาจมิชอบหรือการใช้อำนาจตามใบสั่งของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระต่างๆ เพราะปัญหาเช่นนี้เกิดขึ้นได้ทั้งในระบอบการปกครองเผด็จการเบ็ดเสร็จ ระบอบคณาธิปไตย และระบอบเสียงข้างมากจากการเลือกตั้ง หากไม่มีระบบตรวจสอบถ่วงดุลต่อการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญที่มีปัญหาแล้ว ประเทศจะถูกสั่นคลอนด้วยวิกฤตการณ์ความชอบธรรมของระบบศาลรัฐธรรมนูญ ระบบรัฐบาล และนำไปสู่ความขัดแย้งรุนแรงที่คาดการณ์ได้ยากว่าจะจบลงอย่างไร
"ระบบการเมืองแบบผูกขาดเกิน 8 ปีจะไม่สามารถตอบสนองต่อพลวัตและความซับซ้อนของระบบเศรษฐกิจภายใต้ทุนนิยมโลกาภิวัตน์ได้ กระบวนการกำหนดนโยบายก็จะไม่สามารถดึงการมีส่วนร่วมจากคนหลากหลายรุ่นหลากหลายกลุ่มได้" นายอนุสรณ์ กล่าว
พร้อมระบุว่า ในระยะสั้น ปัจจัยเสี่ยงทางการเมืองจะกดดันให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงได้อีก และตลาดการเงินน่าจะมีความผันผวนสูง ตลาดหุ้นสามารถปรับฐานลงได้อีก แม้ปัจจัยพื้นฐานบางส่วนจะกระเตื้องขึ้นก็ตาม นอกจากนี้ ผลกระทบของน้ำท่วมในหลายพื้นที่ของประเทศ ทำให้ภาคเกษตรกรรมเสียหายในวงกว้าง เป็นการซ้ำเติมครัวเรือนเกษตรกรรายได้น้อยที่มีหนี้ครัวเรือนมากให้ประสบความยากลำบากทางเศรษฐกิจยากหนัก ดังนั้น จึงขอให้รัฐบาลรีบดำเนินการออกมาตรการเพิ่มเติมช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนทางเศรษฐกิจด้วยการชดเชยรายได้ ชดเชยความเสียหายจากน้ำท่วม รวมทั้งพักชำระหนี้ผ่านธนาคารของรัฐเป็นเวลาอย่างน้อย 6 เดือน
"วิกฤตการณ์ทางการเมืองจะเบาลงได้ หากสังคมไทยร่วมกันป้องกันไม่ให้เกิดความรุนแรง ความเคลื่อนไหวและการดำเนินการต่างๆ ของบุคคล กลุ่มบุคคล หรือองค์กรใดๆ ก็ตาม อยู่ภายใต้กรอบของกฎหมายและยึดหลักนิติธรรม การลดความไม่แน่นอนทางการเมืองสามารถทำได้ การประกาศเป้าหมายล่วงหน้า และดำเนินการตามนั้นโดยไม่บิดพลิ้ว ยึดถือครรลองประชาธิปไตย และกลไกรัฐสภา" นายอนุสรณ์ กล่าว