นายอันวาร์ สาและ ส.ส.ปัตตานี พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวภายหลังเดินทางมาสังเกตการณ์การสัมมนาพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ว่า การได้มาฟังในวันนี้ถือเป็นประเด็นหนึ่งที่จะนำกลับไปเพื่อพูดคุยกับประชาชนในพื้นที่เพื่อขอมติประชาชนว่าตนควรจะอยู่พรรคไหน โดยจะไปพูดกับประชาชนประมาณสิ้นเดือน พ.ย.นี้
นายอันวาร์ ยอมรับว่า ได้รับการทาบทามจากหลายพรรคการเมือง ซึ่งมีเงื่อนไขและนโยบายที่มีประโยชน์ต่อประชาชน ทุกพรรคมีสิ่งดีๆ เพียงแต่ละพรรคอาจจะแตกต่างกัน แต่ในส่วนของเงื่อนไขของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ตนจะต้องตัดสินใจคือ 1.ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ทำให้คนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มีความสุขและรู้สึก่อนคลายความตึงเครียด ทำให้เหตุการณ์กลับมาสู่ภาวะปกติ ทำให้นักลงทุนกล้าเข้ามาทำธุรกิจในพื้นที่ 2.อุตสาหกรรมฮาลาล เชื่อมโยงตลาดฮาลาลกับคนในพื้นที่เพื่อให้คนทั่วโลกเห็นใจ 3.อาชีพหลักของคนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะ จ.ปัตตานี และนราธิวาส มีเขตแดนที่ติดกับทะเล ดังนั้นการประมงถือเป็นเส้นเลือดหลักที่สร้างรายได้และความเป็นอยู่ที่ดีให้คนในพื้นที่
"ทั้ง 3 เรื่องนี้ หากพรรคไหนมีนโยบายที่ชัดเจนที่จะทำ ถือว่าได้ผมไปครึ่งหนึ่งแล้ว ส่วนอีกครึ่งแล้วต้องดูว่าพรรคไหนจะเป็นรัฐบาล เพราะผมต้องบอกว่าการที่จะผลักดันโครงการต่างๆ ในพื้นที่ให้สำเร็จต้องเป็นแกนนำรัฐบาล การเป็นพรรคร่วมรัฐบาลบางครั้งยังทำไม่ได้เลย" นายอันวาร์ กล่าว
นายอันวาร์ กล่าวว่า หลังจากวันนี้ขอนำเอาข้อดีข้อเสียของแต่ละพรรคไปหารือกับประชาชนในพื้นที่ก่อน เพราะการตัดสินใจอยู่ที่ประชาชน คงไม่ใช่ตนที่จะตัดสินใจคนเดียว ส่วนการร่วมงานกับพรรคประชาธิปัตย์นั้น ชัดเจนอยู่แล้วว่าคงไม่ได้สังกัดพรรคนี้แล้ว และขอบอกได้เลยว่าสมัยหน้า ตนไม่ได้อยู่พรรคประชาธิปัตย์แล้ว
นายอันวาร์ ได้กล่าวตอบข้อซักถามว่า พรรค พปชร. จะเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลได้หรือไม่ว่า การเป็นแกนนำรัฐบาล องค์ประกอบสำคัญคือต้องมีเสียงข้างมาก บวกกับเสียง ส.ว. 250 คน ที่จะโหวตในวันนั้นด้วย ซึ่งก็มีโอกาสเป็นไปได้สูงที่จะเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล
ส่วนแคนดิเดทนายกรัฐมนตรีนั้น จะเป็น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หรือ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณนั้น คงต้องดูถึงข้อจำกัดในพื้นที่ด้วย เพราะอย่างการจะแก้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ไม่ใช่ว่าทุกพรรคจะทำได้ ต้องเป็นพรรคที่มีอำนาจ และเป็นรัฐบาล โดยเฉพาะความมั่นคงของประเทศ ซึ่งจะมีผลในการตัดสินใจด้วย