พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เข้าร่วมพิธีเปิดการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 40 แบบเต็มคณะ (Plenary) มีผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียน 9 ประเทศ (เมียนมาไม่เข้าร่วม) และเลขาธิการอาเซียน เข้าร่วมประชุม ที่โรงแรมสกคา พนมเปญ ราชอาณาจักรกัมพูชา เพื่อหารือเกี่ยวกับการขับเคลื่อนประชาคมอาเซียนให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น รวมทั้งนโยบายและทิศทางในอนาคตของประชาคมอาเซียน
นายกรัฐมนตรีขอบคุณ และชื่นชมกัมพูชาที่ได้ทำหน้าที่ประธานอาเซียนอย่างดีเยี่ยม พร้อมยินดีที่ข้อริเริ่มของกัมพูชาประสบความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งการสานต่อความพยายามในการรับมือ และฟื้นฟูจากโควิด-19 และการจัดทำวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียนภายหลังปี ค.ศ. 2025 ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างประชาคมอาเซียนให้เข้มแข็งและก้าวหน้ายิ่งขึ้น ซึ่งไทยภูมิใจที่เห็นอาเซียนพัฒนาจนกลายเป็นประชาคมที่เข้มแข็ง มีขนาดเศรษฐกิจอันดับ 5 ของโลก
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้เสนอ 3 แนวทางในการขับเคลื่อนประชาคมอาเซียน เพื่อต่อสู้กับความท้าทายหลายรูปแบบ ดังนี้
1.สร้างปัจจุบันให้เข้มแข็ง มุ่งดำเนินการตามกรอบการฟื้นฟูที่ครอบคลุมของอาเซียน โดยเฉพาะการส่งเสริมระบบสาธารณสุขและความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งนายกรัฐมนตรียินดีที่การจัดตั้งศูนย์แอคฟีด (ASEAN Centre for Public Health Emergencies and Emerging Diseases : ACPHEED) มีความคืบหน้า และไทยในฐานะที่เป็นที่ตั้งของสำนักงานด้านการตอบสนองและสำนักเลขาธิการของศูนย์แอคฟีด พร้อมร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับอินโดนีเซียและเวียดนาม เพื่อให้การทำงานของศูนย์ฯ มีบูรณาการและสามารถรับมือกับเหตุฉุกเฉินทางสาธารณสุขได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในขณะเดียวกันควรเร่งส่งเสริมการรวมตัวทางเศรษฐกิจของภูมิภาค และกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับหุ้นส่วนของเราให้แน่นแฟ้น
ทั้งนี้ ไทยเสนอให้ จังหวัดภูเก็ตเป็นเจ้าภาพจัดงานเอ็กซ์โปวาระพิเศษปี ค.ศ. 2028 ภายใต้แนวคิด "ชีวิตแห่งอนาคต: แบ่งปันความรุ่งเรือง อยู่ร่วมกันเป็นหนึ่งเดียว" เพื่อส่งเสริมพลวัตด้านเศรษฐกิจและสังคมให้แก่อาเซียน โดยจะนำเสนอทางออกของปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม สาธารณสุข และสิ่งแวดล้อม ซึ่งหากได้รับเลือกจะถือเป็นครั้งแรกที่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้รับเกียรติและความไว้วางใจให้จัดงานเอ็กซ์โประหว่างประเทศ ประเทศไทยจึงหวังว่าจะได้รับการสนับสนุนด้วยดีจากประเทศสมาชิกอาเซียน
2.ร่วมแรงสู่อนาคต ทุกฝ่ายต้องร่วมกันขับเคลื่อนวาระความยั่งยืนให้เป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญของอาเซียน โดยเน้นการส่งเสริมความยั่งยืนในทุกมิติ นายกรัฐมนตรีหวังว่า วิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียนภายหลังปี ค.ศ. 2025 จะสะท้อนเรื่องความยั่งยืนในการทำงานของอาเซียนในอนาคต รวมทั้งคำนึงถึงแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของโลก ซึ่งเป็นปัจจัยภายนอกที่ส่งผลกระทบ ทำให้เกิดความท้าทาย และเห็นควรส่งเสริม ต่อยอดนวัตกรรมให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อสร้างการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมที่เน้นความสมดุลและยั่งยืน
3.เคารพวิถีอาเซียน อาเซียนในระยะเวลา 55 ปีที่ผ่านมาได้พัฒนาเป็นประชาคมเช่นทุกวันนี้ เป็นผลจากการทำงานร่วมกันโดยยึดมั่นใน "วิถีอาเซียน" แต่ท่ามกลางความไม่แน่นอนและความผันผวนทางภูมิรัฐศาสตร์ ไทยเห็นว่า ภูมิภาคอาเซียนจะเติบโตและเดินหน้าต่อไปได้ ย่อมต้องเคารพและยึดมั่นในวิถีของอาเซียน โดยไทยพร้อมร่วมมือเสริมสร้างความเข้มแข็งแก่สถาบันและองค์กรของอาเซียนและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของอาเซียน เพื่อให้พร้อมรับมือกับอุปสรรคความท้าทายบนพื้นฐานของหลักการและแนวปฏิบัติที่เรามีร่วมกันมา