ลุ้นศาลรธน.ชี้ชะตาร่างกม.เลือกตั้งส.ส. เปลี่ยนโฉมการเมืองไทย

ข่าวการเมือง Tuesday November 29, 2022 16:52 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ในวันพรุ่งนี้ (30 พ.ย.) ศาลรัฐธรรมนูญนัดวินิจฉัยร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 25 และมาตรา 26 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 93 และ 94 หรือไม่ และกระบวนการตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือไม่

นพ.ระวี มาศฉมาดล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังธรรมใหม่ กล่าวว่า เรื่องนี้ ส.ส.และ ส.ว.รวม 105 รายได้ร้องไป 2 ประเด็น ซึ่งทางออกอาจจะวินิจฉัยว่า เห็นด้วยทั้ง 2 ประเด็น หรือไม่เห็นด้วยทั้ง 2 ประเด็น หรืออาจจะเห็นด้วยในประเด็นใด ประเด็นหนึ่ง เพราะฉะนั้นคำวินิจฉัยสามารถเป็นไปได้ทุกทาง แต่ไม่ว่าจะออกมาอย่างไรจะถือว่าจะเปลี่ยนโฉมการเมืองไทย

"ถ้าออกมาว่าไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่ผมร้องไป ผมก็พร้อมยอมรับคำวินิจฉัยของศาลและถือว่าเป็นที่สิ้นสุด สงครามจบนับศพทหารได้ ถึงแม้ว่าจะมีช่องว่าง 5 วัน ก่อนนายหรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าฯ แต่ผมจะไม่ใช้สิทธิตรงนั้นแล้ว ส่วนฝั่งตรงกันข้ามที่เห็นด้วยกับระบบหารด้วย 100 หากคำวินิจฉัยของศาลออกมาไม่ตรงกับสิ่งที่พวกพ้องตัวเองคิดก็ขอให้ยอมรับคำวินิจฉัยดังกล่าวเหมือนผมด้วย" นพ.ระวี กล่าว

ส่วนกรณีที่จะมีการเสนอแก้รัฐธรรมนูญให้กลับไปใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียวนั้น นพ.ระวี กล่าวว่า น่าจะเป็นเพียงกระแสข่าว ตนเชื่อว่าไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ แต่สุดท้ายก็คงต้องไปดูหลังจากคำวินิจฉัยของศาลออกมาอีกครั้งหนึ่ง

ในเรื่องนี้ นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และอดีตโฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. กล่าวว่า พรุ่งนี้ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิฉัยร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ให้ผ่านเหมือนกับร่าง พ.ร.ป.พรรคการเมือง

ซึ่งเมื่อผ่านแล้วก็ดำเนินการต่อไปสู่การเลือกตั้ง หรืออาจตัดสินเหมือนกันในเชิงเนื้อหา คือ ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง เป็นกฎหมายที่เอื้อกับพรรคเล็ก พรรคใหญ่ทำงานลำบาก นั้นคือไม่ผ่าน เพราะถ้าผ่านพรรคการเมืองขนาดใหญ่ก็จะได้เปรียบในการเลือกตั้งครั้งนี้อย่างแท้จริง อย่างพรรคเพื่อไทยจะได้บัญชีรายชื่ออย่างน้อย 30 คนขึ้นไป

นายสมชัย ยังเสนอแนวทางให้นายกรัฐมนตรีดำเนินการ หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ไม่ผ่าน สิ่งแรกที่ต้องทำคือ เชิญ กกต.มาหารือว่าจะแก้ไขสถานการณ์อย่างไร และต้องเสนอร่างกฎหมายใหม่โดยคณะรัฐมนตรีในทันที และเป็นหน้าที่ของสภาฯ ต้องเร่งพิจารณาร่างกฎหมายให้เร็วที่สุดภายใน 180 วัน แต่ถ้าสภาฯทำไม่เสร็จก็ต้องหาทางออกอื่น เช่น พ.ร.ก.หรือออกเป็นคำสั่งประกาศ แต่ถ้าวาระ 1 รับหลักการแล้ว ก็เอาร่างในวาระหนึ่งมาใช้เป็นกติกาการเลือกตั้ง

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี แสดงความเห็นว่า ไม่อยากคาดเดาแนวทางคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเรื่อง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ในวันพรุ่งนี้ (30 พ.ย.) ว่าจะขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ เพราะเนื้อหาในร่าง พ.ร.ป.ฯ มีทั้งส่วนที่ขัดและไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญ แต่หากจะให้เกิดความราบรื่นที่สุดคือชี้ว่า ไม่ขัดแล้วเดินหน้าสู่การเลือกตั้ง แต่คำวินิจฉัยต้องมีความชัดเจน เพราะหลายเรื่องที่เป็นปัญหาในปัจจุบัน เนื่องจากไม่มีการถกเถียงมาตั้งแต่ต้น เช่น การร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ก่อนร่างฯ ต้องมีโจทย์ว่าจะแก้ปัญหาอะไร ยกตัวอย่างรัฐธรรมนูญปี 40 ถูกออกแบบมาให้พรรคการเมืองกับรัฐบาลเข้มแข็ง ส่วนรัฐธรรมนูญปี 50 ให้มีองค์กรอิสระควบคุม แต่รัฐธรรมนูญปี 60 ตั้งใจให้พรรคการเมืองเป็นเบี้ยหัวแตก และการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อบิดเบี้ยว ดังนั้นทางแก้ปัญหาคือ ต้องให้ ส.ส.ในสภาฯ ยืดหยุ่น และการคำนวณต้องเที่ยงตรง

ทั้งนี้แม้ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยว่าร่าง พ.ร.ป.ดังกล่าวขัดกับรัฐธรรมนูญ แต่ไม่เห็นด้วยที่จะให้ใช้ทางออกด้วยการให้รัฐบาลออก พ.ร.ก.เพื่อแก้ปัญหานี้ เพราะอำนาจการออกกติกาดังกล่าวไม่ใช่หน้าที่ของฝ่ายบริหารเป็นผู้กำหนด

นายเจษฎ์ โทณะวณิก ประธานคณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยบัณฑิตเอเชีย ระบุว่า ถ้าเห็นว่าร่าง พ.ร.ป.นั้นไม่สมบูรณ์ สภาฯต้องมีหน้าที่แก้ไข แต่ที่ผ่านมาสภาฯกลับไม่แก้ไข จนเกิดปัญหา คือ วาระแรกเอาสูตรหาร 100 วาระสองเอาสูตรหาร 500 และวาระ 3 ตัดสินใจไม่ได้ จึงต้องไปที่ศาลรัฐธรรมนูญ แต่การตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญถ้าบอกว่าขัด ก็อาจจะบอกว่าขัดรายมาตราใดบ้าง แต่นั่นไม่ใช่หน้าที่ศาลรัฐธรรมนูญ และสุดท้ายศาลรัฐธรรมนูญเองจะสามารถบอกได้ไหมว่า เพราะรัฐธรรมนูญขัดกันเอง จึงต้องไปแก้ที่รัฐธรรมนูญ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ