จับตารัฐสภาลงมติโหวตร่างแก้ไขรธน. ปลดล็อก กม.ท้องถิ่นวาระแรก

ข่าวการเมือง Wednesday December 7, 2022 12:12 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพริษฐ์ วัชรสินธุ ผู้จัดการการสื่อสารและการรณรงค์นโยบาย พรรคก้าวไกล ระบุว่า ในวันนี้ที่ประชุมรัฐสภา จะลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ หมวด 14 การปกครองท้องถิ่น หรือร่าง "ปลดล็อกท้องถิ่น" จากการเสนอของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า และประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวน 76,591 คน

โดยจากการเข้าชี้แจงเมื่อวันที่ 30 พ.ย.ที่ผ่านมา หลายฝ่ายในที่ประชุมรัฐสภาเห็นตรงกันถึงประโยชน์และทิศทางของการกระจายอำนาจว่า ควรมีการกระจายอำนาจมากขึ้น เพราะจะสร้างประโยชน์ในหลายมิติ

ส่วนข้อกังวลเกี่ยวกับการกระจายอำนาจแบบสุดโต่งนั้น นายพริษฐ์ ชี้แจงว่า สิ่งที่ทำอยู่เป็นเพียงการพยายามวิ่งตามให้ทันการกระจายอำนาจในประเทศอื่นที่พัฒนาแล้วทั่วโลก ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ ประเทศที่พัฒนาแล้วในกลุ่มองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) โดยเฉลี่ยเมื่อประชาชนจ่ายภาษี 100 บาท ส่วนกลางจะใช้ 60 บาท ท้องถิ่นใช้ 40 บาท แต่ในประเทศไทยปัจจุบัน เราจ่ายภาษี 100 บาท ส่วนกลางใช้ถึง 80 บาท ท้องถิ่นเหลือใช้แค่ 20 บาท

ข้อกังวลเรื่องการทุจริต เราชี้ให้เห็นว่าหากการกระจายอำนาจมาควบคู่กับการเพิ่มอำนาจของประชาชนในการตรวจสอบ และการเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใส จะทำให้การแก้ปัญหาการทุจริตทำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ข้อกังวลเรื่องรัฐเดี่ยวนั้น ยืนยันว่าการกระจายอำนาจการบริหาร ไม่ได้กระทบรูปแบบของรัฐ ตัวอย่างที่น่าจะชัดเจนที่สุดคือประเทศสหราชอาณาจักรและประเทศญี่ปุ่น ที่มีการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นในระดับที่ประเทศไทยอยากมุ่งไปสู่ และทั้งสองประเทศก็ยังเป็นรัฐเดี่ยว และปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย โดยมีกษัตริย์เป็นประมุข

ส่วนประเด็นการยกเลิกราชการส่วนภูมิภาค ยืนยันว่าไม่ได้เสนอให้ทำทันที แต่จะเป็นการเปิดบทสนทนาให้สังคมมีการพิจารณาเรื่องดังกล่าว ก่อนมีการจัดประชามติให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสิน โดยมีระยะเวลาชัดเจนในการวางแผนและเตรียมรับมือ หากผลประชามติออกมาให้ยกเลิกราชการส่วนภูมิภาค

"โดยเราจะวางหลักประกันให้ข้าราชการส่วนภูมิภาคทุกคนไม่มีใครตกงาน หรือสูญเสียสิทธิประโยชน์ ทุกตำแหน่งยังคงอยู่ ทุกความก้าวหน้าทางอาชีพยังคงมี และไม่ว่าในอนาคตราชการส่วนภูมิภาคจะเป็นอย่างไร ขอยืนยันว่าข้อเสนอของเรา ไม่ได้มีการเสนอให้ยกเลิกกำนัน-ผู้ใหญ่บ้านแต่อย่างใด" นายพริษฐ์ ระบุ

พร้อมหวังว่ารัฐสภา ทั้ง ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล ส.ส.ฝ่ายค้าน และสมาชิกวุฒิสภา จะร่วมลงมติรับหลักการในวาระที่หนึ่ง เพื่อเปิดพื้นที่ให้ทุกฝ่ายถกเถียงรายละเอียดเพิ่มเติมในชั้นกรรมาธิการ และขอเชิญชวนประชาชนติดตามการลงมติว่าถึงที่สุดแล้ว การตัดสินใจของรัฐสภาในวันนี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นฟื้นวาระกระจายอำนาจของประเทศให้คืบหน้าเร็วขึ้นได้หรือไม่


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ