ที่ประชุมร่วมรัฐสภามีมติคว่ำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ หมวด 14 ว่าด้วยการปกครองส่วนท้องถิ่น ที่มีนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวน 76,591 คน เป็นผู้เสนอ ในวาระ 1 ด้วยวิธีการขานชื่อ ซึ่งเป็นการประชุมต่อเนื่องมาจากการประชุมรัฐสภาเมื่อสัปดาห์ก่อน
จากการลงมติด้วยการขานชื่อปรากฏว่ามีสมาชิกรัฐสภาไม่ได้มาลงมติร่วมร้อยคน นายชวนจึงให้สมาชิกที่มาขอลงคะแนนภายหลังลงคะแนนเสียงทีละคนเพื่อไม่ให้กรรมการนับคะแนนและเจ้าหน้าที่เกิดความสับสน ผลการนับคะแนน ปรากฏว่าที่ประชุมมีมติรับหลักการด้วยเสียง 254 ต่อ 245 งดออกเสียง 129 คะแนน โดยคะแนนรับหลักการมีจำนวนน้อยกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกรัฐสภาทั้งหมด คือ 361 คะแนน โดยเฉพาะในฝั่ง ส.ว.เห็นชอบเพียง 6 เสียง น้อยกว่าจำนวน 1 ใน 3 ของ ส.ว. หรือน้อยกว่า 83 เสียงของ ส.ว. ทำให้ร่างดังกล่าวจึงไม่ผ่านชั้นรับหลักการ
ก่อนหน้านี้ นายธนาธร ชี้แจงประเด็นของการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อให้มีการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นยุติรัฐราชการรวมศูนย์อำนาจซึ่งเป็นข้อจำกัดศักยภาพขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทั้งในด้านงบประมาณ อำนาจการตัดสินใจ การช่วยเหลือ แก้ไข เยียวยา
นายธนาธร ระบุว่า ร่างฯ นี้ไม่ใช่การแบ่งแยกประเทศหรือเปลี่ยนรูปแบบการปกครอง แต่มีหลักใหญ่ใจความสำคัญที่สุดคือการเพิ่มประสิทธิภาพของรัฐ ปลดปล่อยพลังของคนทั้งประเทศที่คอขวดอยู่ที่รัฐราชการ แบ่งภาระและจัดสัดส่วนความรับผิดชอบให้ชัดเจน ระหว่างประเทศ จังหวัด และตำบล เพื่อให้ไทยแข่งขันกับโลกได้ และใช้ทรัพยากรที่สำคัญที่สุด คือ งบประมาณ คน และเวลา ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด สร้างโครงสร้างที่จะปลดปล่อยพลังของผู้คนในสังคมออกมาให้ได้
พร้อมชี้แจงว่าร่างฯ นี้ไม่ใช่การปฏิวัติ หรือเป็นการสุดโต่ง หรือเร็วเกินไปตามที่มีผู้กังวล โดยเฉพาะ ส.ว.หลายคนที่ลุกขึ้นอภิปรายคัดค้าน ซึ่งนายธนาธรยกตัวอย่างอุปสรรคการกระจายอำนาจระดับท้องถิ่น เช่น ส.ส. จันทบุรีมาหารือในสภาว่าอยากได้สะพานลอยข้ามถนนสี่เลนให้เด็กนักเรียนแล้วต้องรออีกกว่า 834 วันหลังการหารือกว่าที่จะได้สะพานลอยมา หรือแผนการจัดการชลประทานในปัจจุบันกว่าจะครอบคลุมพื้นที่เพาะปลูก 40% ของทั้งประเทศต้องใช้เวลาอีก 15 ปี และกว่าจะครอบคลุมพื้นที่เพาะปลูก 100% ต้องรออีก 83 ปี