นายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรคสร้างอนาคตไทย (สอท.) กล่าวว่า จากกระแสสังคมที่มีการวิพากษ์วิจารณ์กรณีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอย่างกว้างขวาง ส่วนตัวมองว่าประเทศไทยมีความจำเป็นที่จะต้องพิจารณาขึ้นค่าแรงขั้นต่ำภายใต้ความสมดุลใน 2 ประเด็นหลัก คือ
1. ปรับเพื่อให้แรงงานสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างมีคุณภาพ สอดคล้องกับต้นทุนค่าใช้จ่าย การใช้ชีวิตในปัจจุบัน
2. การปรับขึ้นค่าแรงต้องไม่กระทบกับผู้ประกอบการ เนื่องจากปัจจุบันในภาพรวมผู้ประกอบการส่วนใหญ่โดยเฉพาะ SME ยังไม่หายบาดเจ็บจากโควิด-19 และเชื่อว่าจะต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งกว่าจะฟื้นตัว
ทั้งนี้ การปรับค่าแรงขั้นต่ำบนพื้นฐานของความสมดุลควรทำอย่างไร มองว่า ต้องใช้ระบบกำหนดค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำแบบใหม่ จากเดิมที่กำหนดค่าจ้างขั้นต่ำตามพื้นที่ โดยพื้นที่ใดค่าครองชีพสูงก็ได้ค่าแรงสูง ค่าครองชีพต่ำก็ได้ค่าแรงต่ำ เปลี่ยนเป็นการกำหนดค่าแรงที่ยึดเอาประสิทธิภาพของแรงงานเป็นหลัก ซึ่งจะตอบโจทย์ความเป็นไปในสถานการณ์ปัจจุบัน และการพัฒนาประเทศในโลกอนาคตมากกว่า
หากเป็นประเภทแรงงานเข้มข้นหรือแรงงานที่ไม่มีทักษะ ก็กำหนดค่าแรงอัตราหนึ่งที่สามารถอยู่ได้ในคุณภาพชีวิตที่ดีพอ แต่หากเป็นแรงงานที่ต้องใช้ทักษะเพิ่ม ก็ควรได้รับอัตราค่าแรงที่สูงกว่า
ขณะเดียวกัน ภาครัฐก็จะต้องมีมาตรการยกระดับทักษะแรงงาน เพื่อให้แรงงานขั้นพื้นฐาน สามารถยกระดับขึ้นไปขั้นที่สูงกว่า ซึ่งเป็นวิธีเดียวกับของประเทศสิงคโปร์ เช่น อาชีพแม่บ้านที่สิงคโปร์ หากเป็นแม่บ้านทั่วไป ก็จะได้ค่าแรงราคาที่ต่ำกว่าแม่บ้านที่ทำงานสถานที่บริการหรือในสถานที่ราชการ เพราะถือว่าต้องใช้ทักษะการบริการด้วย ซึ่งหากทำได้เช่นนี้ก็จะเป็นการสนับสนุนให้แรงงานเป็นส่วนสำคัญ ในการผลักดันให้เกิดกิจกรรมที่มีมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจของประเทศอย่างแท้จริง
นอกจากนี้ ในส่วนของแรงงานในระดับมีการศึกษาสูง เช่น อนุปริญญา หรือปริญญาตรี ซึ่งถือเป็นกลุ่มหัวขบวนในการพัฒนาประเทศ น่าจะใช้โอกาสนี้ปรับโครงสร้างรายได้แรงงานกลุ่มนี้ ให้รองรับกับการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจประเทศในโลกยุคใหม่
"ตามที่เคยกล่าวไว้ก่อนหน้า หากเรียนจบสาขาอาชีพที่ตรงกับธุรกิจ หรืออุตสาหกรรมยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจประเทศ ก็ควรได้รับค่าแรงสูงกว่าอาชีพอื่น เช่น สาขาเกี่ยวกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ เป็นต้น ซึ่งก็จะเป็นการจูงใจให้มีตลาดแรงงานป้อนเข้าสู่ภาคธุรกิจหรืออุตสาหกรรมเป้าหมายในการพัฒนาประเทศมากขึ้น และเช่นกันภาครัฐก็ต้องมีมาตรการช่วยพัฒนาในทุกสาขาอาชีพให้มีโอกาสเพิ่มพูนทักษะและรายได้ด้วยเช่นกัน" นายอุตตม กล่าว
"ปัจจุบัน ประชากรในวัยแรงงานของไทยมีประมาณ 38 ล้านคน แบ่งเป็นภาคบริการและการค้า 18 ล้านคน ภาคเกษตร 10 ล้านคน และภาคการผลิตอุตสาหกรรม 10 ล้านคน (สำนักงานสถิติแห่งชาติ) นับเป็นกลุ่มประชากรขนาดใหญ่ จึงควรได้รับการดูแลชีวิตความเป็นอยู่ที่เหมาะสม และส่งเสริมให้เป็นพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศอย่างเต็มที่" นายอุตตม กล่าว
นายอุตตม กล่าวต่อว่า การปรับแนวคิดวิธีกำหนดค่าแรงขั้นต่ำแบบยึดประสิทธิภาพแรงงาน นอกจากจะเป็นประโยชน์ที่ยั่งยืนต่อผู้ใช้แรงงานเองแล้ว ยังเป็นการช่วยสนับสนุนภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมให้มีความเข้มแข็งขึ้นด้วย และยังเป็นการสร้างสมดุลทั้งด้านแรงงานและผู้ประกอบการ ซึ่งจะส่งผลดีต่อภาพรวมของเศรษฐกิจประเทศทั้งระบบ
"สิ่งที่นำเสนอนี้ อยู่บนฐานความคิดว่า วันนี้เราไม่ควรย่ำอยู่กับแนวทางแบบเดิมๆ แต่ต้องเร่งพัฒนาด้วยวิถีทางใหม่ให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงของโลก" นายอุตตม กล่าว